ในปี 2565 พิษของสถานการณ์เงินเฟ้อและความขัดแย้งทางการทหารระหว่างรัสเซีย-ยูเครนได้ทำให้เงินบาทอ่อนค่าสูงสุดไปที่ระดับ 38.3 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลกระทบให้อุตสาหกรรมและธุรกิจที่พึ่งพาการส่งออกหลายรายได้รับอานิสงส์จนมีผลกำไรเติบโตดีอย่างก้าวกระโดดมากที่สุดในรอบ 3 ปี หลังไวรัส COVID-19 ระบาดไปทั่วโลก โดยถึงขั้นมีการคาดการณ์จากนักวิเคราะห์การเงินมือสมัครเล่น และมืออาชีพออกมามากมายในช่วงกลางปีที่ผ่านมาว่าเงินบาทจะอ่อนค่าไปสู่ระดับ 40-42 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ เพราะนักลงทุนทั่วโลกจะทยอยขนเงินไปแลกเปลี่ยนเพื่อฝากเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐทั้งหมดตามทิศทางการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (Fed) ที่ประกาศจะใช้แนวทางเชิงรุกอย่างต่อเนื่องเพื่อควบคุมปัญหาเงินเฟ้อให้กลับไปอยู่ที่ระดับ 2% ให้ได้
ทว่า ปากกาของเซียนเหล่านั้นก็ถูกหักโค่นลง เมื่อสถานการณ์เงินเฟ้อในสหรัฐอเมริกามีทิศทางที่ดีขึ้น และ Fed เริ่มเผยให้เห็นท่าทีของการผ่อนคลายมาตรการด้วยการลดความรุนแรงในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจากครั้งละ 0.75% ไปสู่ 0.50% และ 0.25% ตามลำดับจนนักลงทุนในตลาดเกิดอุปทานหมู่ไปว่า Fed จะเริ่มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในอนาคตอันใกล้ จึงทยอยถอนเงินจากดอลลาร์สหรัฐเพื่อย้ายไปยังตลาดอื่นๆที่มีแนวโน้มจะปรับตัวขึ้น (underperformed) เช่น ตลาดในภูมิภาคเอเชียอย่างจีน เวียดนาม และโดยเฉพาะไทยที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามประเทศอื่นๆแล้ว ส่งผลให้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มจะแข็งค่าอย่างต่อเนื่องในปี 2566 มากกว่าสกุลเงินอื่นๆในภูมิภาคเดียวกัน และกลายเป็นสินทรัพย์ที่น่าจับตามองของนักลงทุนต่างประเทศตลอดช่วงที่ผ่านมา
อีกเหตุผลที่เป็นปัจจัยสนับสนุนให้เงินบาทแข็งค่า คือ กระแสเงินทุนไหลเข้าจากนักลงทุนต่างชาติที่ต้องการเก็งกำไรกับดัชนีราคาหุ้นตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET Index) ที่เคยปรับตัวลงมาอยู่ในแดนระหว่าง 1,520-1,550 จุดในช่วงกลางปี 2565 บวกกับปัจจัยที่รัฐบาลจีนตัดสินใจเปิดประเทศในเดือนมกราคม 2566 ทำให้สถิติในเดือนมกราคม 2566 ที่ผ่านมานี้ มีนักลงทุนต่างชาติย้ายเงินมาลงทุนใน SET Index กว่า 20,000,000,000 บาท โดยคาดหวังว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบริการในไทยจะฟื้นตัวขึ้นอย่างรุนแรงตามปริมาณนักท่องเที่ยวจีนที่จะหลั่งไหลเข้าไทยไม่ต่ำกว่า 40,000,000 คนตลอดทั้งปี เป็นเหตุให้ทั้งเงินบาท และ SET Index กลายเป็นสินทรัพย์ที่เติบโตดีในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2565 และเดือนมกราคม 2566
สิ่งที่ต้องจับตามองในช่วงต่อไปนี้ คือ ประเด็นที่ว่าเงินบาทจะยังสามารถแข็งค่าอย่างต่อเนื่องทะลุไปถึง 30 บาทตามที่นักวิเคราะห์หลายสำนักคาดการณ์เอาไว้จริงหรือไม่ ยอมรับว่าหากพิจารณากันถึงความเป็นไปได้เพียงมิติเดียว 30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐก็คงไม่ใช่สิ่งที่เกินความเป็นจริงเท่าใดนัก แต่หากนำประเด็นปัจจัยภายนอกและอื่นๆเข้ามาประเมินร่วมด้วย อาทิ สถิติการจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนมกราคม 2566 (Non-farm payroll) ที่ออกมาดีเกินกว่าที่ตลาดคาดการณ์เอาไว้ โดยมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นมากกว่า 500,000 ตำแหน่ง (สูงสุดในรอบ 6 เดือน) อัตราการว่างงาน ลดลงสู่ระดับ 3.4% ทำให้นักลงทุนในตลาดเริ่มเกิดความกังวล เพราะในอดีต เมื่อใดก็ตามที่สถิติการว่างงานในสหรัฐอเมริกาลดต่ำลง มักเป็นสัญญาณที่สะท้อนว่าอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง จากความต้องการแรงงานในตลาดที่มาก
เมื่อนำข้อเท็จจริงดังกล่าวมาพิจารณาร่วมกับท่าทีของ Jerome Powell ที่ยังยืนกรานในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อไปเรื่อยๆ ทำให้มีแนวโน้มสูงที่ในช่วงไตรมาส 1 และ 2 ของปี 2566 นี้ จะมีนักลงทุนเทขายสินทรัพย์ในดัชนี SET Index และเริ่มขายทำกำไรจากเงินบาทที่เคยสะสมมาในช่วงไตรมาส 3-4 ของปี 2565 ที่ผ่านมา จากนั้นกลับไปทยอยแลกซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐเพื่อฝากประจำโดยคาดหวังจะได้รับดอกเบี้ยจากธนาคารพาณิชย์ที่ 5-6% แทน ทำให้ในช่วงต่อไปนี้ เงินบาทอาจอ่อนค่าลงอีกครั้ง เพื่อรอความชัดเจนของนโยบายทางการเงินในสหรัฐอเมริกาในไตรมาสที่ 3 แต่อาจจะเป็นการอ่อนค่าอยู่ในกรอบ 33-35 บาทเท่านั้น ไม่ทะลุไปถึง 38 บาทแบบเมื่อปี 2565 อีก