ผ่านมาแล้วเกือบ 1 ปีกับการตัดสินใจประกาศปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียในยูเครน จนส่งผลให้นานาชาติ อาทิ สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป (European Union-EU) ประกาศมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ (economic sanction) ต่อรัสเซีย พร้อมเริ่มกระบวนการลดการพึ่งพาความมั่นคงทางพลังงานน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย โดยมีความคาดหวังว่าหากเศรษฐกิจรัสเซียหยุดชะงักลง รัฐบาลของ Vladimir Putin จะไม่มีทรัพยากรเพียงพอในการนำไปขับเคลื่อนกองทัพ และหล่อเลี้ยงกำลังพลจำนวนมากกว่า 150,000 นายที่ปักหลักอยู่ในยูเครน อย่างไรก็ดี จนถึงปัจจุบันนี้ยังไม่ปรากฏท่าทีใดๆที่สามารถบ่งชี้ได้ว่า Vladimir Putin จะล้มเลิกความพยายามดังกล่าว และถอนทหารออกจากยูเครนเลย
มากไปกว่านั้น นักวิเคราะห์บางกลุ่ม ที่มีแนวคิดเอนเอียงไปทางรัสเซีย ยังกล่าวอ้างอีกว่าการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจโดยสหรัฐอเมริกาและประเทศพันธมิตรนั้นไม่ได้ส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อรัสเซียแต่อย่างใด เพราะผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของปีที่ผ่านมาได้หดตัวไปเพียง 2.2% เท่านั้น ต่างจากตัวเลขที่นักเศรษฐศาสตร์ประเมินไว้ว่าจะหดตัวถึง 10% ภายในสิ้นปี 2565 ส่วนอัตราการว่างงานช่วงปลายปีที่ผ่านมายังลดลงไปในระดับ 3.7% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยตลอด 30 ปีเกือบครึ่งหนึ่ง ดัชนีราคาที่อยู่อาศัยเองก็หยุดปรับตัวขึ้นในอัตราที่กังวลแล้ว ที่น่าตกใจมากกว่า คือ จากการประเมินครั้งล่าสุดของ International Monetary Fund (IMF) นั้นระบุว่าในปี 2566 เศรษฐกิจรัสเซียจะขยายตัวขึ้นถึง 0.3% ซึ่งถือว่าสภาพเศรษฐกิจอยู่ในเกณฑ์ดีกว่าอังกฤษและเยอรมนีเสียอีก
ข้อมูลที่ถูกอ้างถึงข้างต้นนี้ แม้จะเป็นประเด็นที่น่าสนใจและมีเหตุผล แต่นับได้ว่าเป็นเพียงแค่มุมมองที่มาจากการประเมินในระยะสั้นมากกว่าระยะกลางและระยะยาว เพราะสาเหตุเบื้องลึกที่ทำให้เศรษฐกิจของรัสเซียยังสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างไม่สะดุดในห้วงที่ผ่านมานี้ ปัจจัยส่งเสริมหลักๆอยู่ที่ความไร้เอกภาพของรัฐสมาชิกในกลุ่มประเทศ EU ที่ยังดันทุรังแอบซื้อขายพลังงานกับรัฐบาลรัสเซียอย่างลับๆ ผ่านการนัดแนะแลกเปลี่ยนสินค้า (เช่น น้ำมันดิบ) กันนอกชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน อีกทั้งประเทศพันธมิตรของรัสเซียอย่างจีน ตุรกีและอินเดียยังมีบทบาทเป็นตัวกลางในการนำสินค้าของรัสเซียไปกระจายต่อในตลาดโลกเพื่อส่วนต่างด้านผลกำไรด้วย
ส่วนประเด็นเรื่องอัตราการว่างงานต่ำในรัสเซียขณะนี้ สาเหตุที่แท้จริงมาจากกรณีที่กลุ่มบริษัทเอกชน และรัฐวิสาหกิจในรัสเซียแก้ปัญหาแรงงานขาดแคลนด้วยการไปนำนักโทษจากเรือนจำหลายแห่งเข้าสู่ระบบตลาดแรงงาน เพื่อให้กระบวนการผลิตสินค้านั้นยังดำเนินต่อไปได้ก็เท่านั้น ที่สำคัญคือ ช่วงปลายปี 2565 นั้น มีชาวรัสเซียเกือบ 5,000,000 คนตกอยู่ในสถานะว่างงานแอบแฝง ผ่านการให้หยุดงานโดยไม่ได้รับค่าจ้าง ทำให้ในความเป็นจริงแล้ว ปัจจุบันมีผู้ว่างงานในรัสเซียรวมเกือบ 10,000,000 คน จากสถิติแรงงานทั้งหมดประมาณ 72,000,000 คน ถือว่าสถานการณ์ย่ำแย่ที่สุดในรอบหลายปี
นอกจากนี้ สิ่งที่นักวิเคราะห์และนักเศรษฐศาสตร์หลายสำนักละเลยไป คือ ส่วนประกอบของการคำนวน GDP รัสเซีย ไม่ได้มาจากการส่งออกเพียงอย่างเดียว แต่ยังนับรวมถึงการผลิตภายในประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมทางทหารอย่างโรงงานผลิตอาวุธ และยานยนต์หุ้มเกราะด้วย รัฐบาลรัสเซียยังคงเดินหน้าสั่งผลิตยุทธภัณฑ์ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เพื่อที่จะนำไปใช้ในยูเครน แน่นอนเมื่อมีการสูญเสียเกิดขึ้นภายในยูเครน ไม่ว่าจะด้านกำลังพล อาวุธ หรือยานยนต์ ก็ยิ่งเป็นปัจจัยส่งเสริมให้มีการสั่งเพิ่มอัตราการผลิตยุทธภัณฑ์เหล่านั้นเพื่ออัดฉีดเข้าไปในแผนการบุกรุกยูเครนต่อไป
การนำ GDP มาพิจารณาแต่เพียงมิติเดียว ทำให้หลายๆคนมองข้ามประเด็นเรื่องการชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานในรัสเซียไป สิ่งที่เลวร้ายที่สุดของการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจในยุคที่ทุกประเทศทั่วโลกเชื่อมโยงถึงกันผ่านระบบการพึ่งพาอาศัย (interdependence) คือ โรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่งในรัสเซียต้องประสบปัญหาต้นทุนที่สูงขึ้น ไม่ใช่แค่เพียงจากค่าเงินรูเบิลแข็งค่าขึ้นอย่างเดียว แต่ยังมีเรื่องของชิ้นส่วน และวัตถุดิบด้านเทคโนโลยี เช่น ส่วนประกอบรถยนต์และชิป ซึ่งถูกบริษัทใน EU และพันธมิตรปฏิเสธจะขายให้อีกด้วย ทำให้กระทรวงพาณิชย์รัสเซียต้องหันไปร้องขอให้อินเดียเป็นพ่อค้าคนกลางในการจัดหาวัตถุดิบดังกล่าวแก่รัสเซีย เปิดโอกาสให้อินเดียพยายามขายสินค้าเหล่านั้นในราคาที่สูงกว่าราคาตลาดได้ อุตสาหกรรมยานยนต์รัสเซียจึงเป็นหนึ่งในกลุ่มที่ได้รับความเสียหายรุนแรงที่สุดในปี 2565 โดยมีผลประกอบการที่ตกต่ำลงกว่า 20% ที่เลวร้ายกว่านั้นคือ หลังจากการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซียในปีที่ผ่าน คาดว่ามีเงินทุนไหลออกไปถึง 251,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไม่มีแนวโน้มจะมีประเทศใดเข้ามาลงทุนเพิ่มเติมแทนกลุ่มที่ถอนตัวออกไปด้วย
สาเหตุหลักที่เศรษฐกิจรัสเซียยังสามารถยืนหยัดอยู่ได้ในขณะนี้ เป็นเพราะยังพอมีประเทศที่คาดหวังผลประโยชน์จากรัสเซีย อาทิ อินเดียและตุรกี ยังคอยให้ความช่วยเหลือในการจัดหาวัตถุดิบที่รัสเซียต้องการ และช่วยซื้อสินค้าจากรัสเซียในราคาต่ำกว่าตลาดอยู่ แต่เมื่อใดก็ตามที่ EU เริ่มเข้มงวดกับมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจรัสเซียมากขึ้น ท้ายที่สุดรัฐบาลตุรกีจะต้องลดการช่วยเหลือและจัดหาวัตถุดิบในห่วงโซ่อุปทานแก่รัสเซียลง หากตุรกียังต้องการดำรงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ดีกับ EU ส่วนอินเดียนั้นไม่ได้มีความตั้งใจจะเข้าไปช่วยพยุงเศรษฐกิจรัสเซียแต่แรกอยู่แล้ว แต่ตั้งใจใช้โอกาสนี้ในการพยายามจะปรับดุลการค้ากับรัสเซีย หลังจากที่ขาดดุลมาหลายปีก็เท่านั้น
——————————————————————