กลายเป็นหนึ่งในข่าวใหญ่เมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2566 ที่โลกได้เห็นภาพประธานาธิบดีโจเซฟ ไบเดนของสหรัฐอเมริกาไปเยือนยูเครน โดยเป็นการเดินทางไปกรุงเคียฟครั้งแรกตั้งแต่มีสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน และเป็นครั้งที่เกิดขึ้นในห้วงเวลาใกล้จะครบรอบ 1 ปีที่รัสเซียปฏิบัติการทางการทหารในยูเครน แถมยังเป็นการเยือนที่ตรงกับ “Presidents’ Day” หรือวันประธานาธิบดีสหรัฐฯ และมีขึ้นเพียง 1 วันก่อนหน้าที่ประธานาธิบดีรัสเซียจะแถลงต่อสภาด้วย!!!
อาจเรียกได้ว่าเป็นการจัดวางจังหวะการเยือนที่เหมาะเจาะ และสร้างผลลัพธ์ที่เป็นสัญลักษณ์การเมืองระหว่างประเทศได้ไม่น้อย แม้จะเป็นการเยือนเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ ก็ตาม
ถ้าเอาแนวคิดเรื่องการบริหารจัดการความมั่นคงแห่งชาติ หรือ national security management ที่มุ่งใช้เครื่องมือต่าง ๆ ที่รัฐมี ไม่ว่าจะเป็นการทหาร การทูต การข่าว และเศรษฐกิจ เพื่อปกป้องผลประโยชน์แห่งชาติ รักษาความปลอดภัยของประชาชน และทำให้รัฐบรรลุเป้าหมายในการดำเนินยุทธศาสตร์และนโยบายอย่างคุ้มค่าที่สุด…ก็อาจสรุปได้ว่า การเยือนยูเครนครั้งนี้ของไบเดนนั้นคุ้มค่าและบรรลุเป้าหมาย เพราะทำให้ยูเครนและประชาคมระหว่างประเทศเห็นว่า ผู้นำสหรัฐฯ สนับสนุนยูเครนอย่างเต็มที่ นอกจากนี้ยังมีความกล้าหาญ รอบคอบ ขณะเดียวกันก็ไม่ต้องการท้าทายรัสเซียจนเกินไป…สหรัฐฯ จัดการกับเรื่องนี้ยังไง ไปดูกัน…
อันดับแรก การเยือนแบบเล็ก ๆ และลับ ๆ เพื่อความปลอดภัย
การเยือนของไบเดนถูกสื่อเรียกว่าเป็นการเยือนแบบ “cloak-and-dagger” หรือเป็นไปอย่างลับ ๆ เพราะแน่นอนว่าบุคคลระดับผู้นำมหาอำนาจไปเยือนยูเครน ก็ต้องหวั่น ๆ ว่าข่าวจะรั่วไหลและอาจทำให้ผู้นำอันดับ 1 อย่างประธานาธิบดีสหรัฐฯ ตกเป็นเป้าหมายโจมตีได้ …ตามปกติ การเยือนต่างประเทศของผู้นำสหรัฐฯ ก็จะต้องมีการเตรียมพร้อมอย่างเต็มกำลัง ไม่ว่าจะเป็นการส่งผู้แทนไปเยือนก่อนล่วงหน้า หรือการส่งทีม secret service หรือทีมอารักขาประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไปประสานงานและตรวจการณ์ตามจุดต่าง ๆ เพื่อให้มีความปลอดภัยสูงสุด แต่ครั้งนี้ไบเดนไปเหยียบถึงแผ่นดินยูเครน ซึ่งอยู่ระหว่างต่อสู้กับรัสเซียอย่างตึงเครียด แน่นอนว่ามาตรการรักษาความปลอดภัยครั้งนี้จะต้องหนาแน่นเข้มงวดอย่างยิ่ง ขณะเดียวกันก็ต้องดำเนินการอย่างเงียบ ๆ เพื่อไม่ให้ตกเป็นจุดสนใจจนเป็นอันตรายนั่นเอง
อันดับที่สอง การแจ้งรัสเซียล่วงหน้า เพื่อหลีกเลี่ยงความตึงเครียด
ไม่ใช่ว่ารัสเซียจะไม่รู้เรื่องนี้ เพราะฝ่ายสหรัฐฯ เองได้แจ้งให้รัสเซียทราบกำหนดการเยือนดังกล่าวล่วงหน้าแล้ว…แม้จะล่วงหน้าไม่มากก็ตาม แต่ก็ถือว่าสหรัฐฯ แจ้งรัสเซียแล้วเพื่อลดบรรยากาศความตึงเครียดระหว่างกัน
ว่ากันว่าการเดินทางครั้งนี้มีการวางแผนมาอย่างยาวนาน และอาจถือว่าเป็นการตัดสินใจที่ดีที่เยือนในจังหวะนี้ แม้ไบเดนจะตัดสินใจเพียงไม่กี่วันก่อนหน้า แต่ก็สามารถจัดให้มีขึ้นในช่วงที่ไบเดนไปเยือนโปแลนด์ ประเทศเพื่อนบ้านของยูเครน ซึ่งเป็นสมาชิกเนโตและมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสหรัฐฯ อย่างมาก ข่าวเล่าว่าประธานาธิบดีไบเดนเดินทางด้วยเครื่องบินไปถึงโปแลนด์ก่อน แล้วจึงนั่งรถไฟเป็นระยะทางประมาณ 430 ไมล์ กินเวลาประมาณ 10 ชั่วโมง เพื่อเดินทางไปยังกรุงเคียฟ เมืองหลวงที่เป็นที่มั่นสำคัญของประธานาธิบดีเซเลนสกี ผู้นำยูเครน ซึ่งรอต้อนรับอยู่ในชุดทะมัดทะแมง ขณะที่ไบเดนสวมสูท ผูกไทด์สีเหลืองฟ้า ที่เป็นสัญลักษณ์ว่าสนับสนุนยูเครน กระทั่ง 2 ผู้นำได้หารือกัน พร้อมทั้งถ่ายรูปร่วมกัน โดยการเยือนครั้งนี้ถือว่ามีความสำคัญต่อทั้ง 2 ฝ่าย เพราะนอกจากจะมีขึ้นในช่วงที่ใกล้จะครบรอบสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนเต็มที ยังมีขึ้นก่อนที่ประธานาธิบดีรัสเซียจะแถลงต่อสภาใน 21 กุมภาพันธ์ 2566 เพื่อประกาศกร้าวว่าประเทศตะวันตกเป็นฝ่ายทำให้สถานการณ์ครั้งนี้แย่ลง พร้อมกับประกาศระงับข้อตกลงนิวเคลียร์ (New START) ที่ทำร่วมกับสหรัฐฯ ด้วย
อันดับที่สาม…ถ้อยแถลงและการทูตที่ยืนยันการสนับสนุนยูเครนอย่างเต็มที่
ไบเดนอยู่ในกรุงเคียฟประมาณ 5 ชั่วโมง เพื่อหารือกับผู้นำยูเครนและประกาศให้โลกรู้ว่า “อเมริกาสนับสนุนและจะอยู่ข้างยูเครน” พร้อมกับประกาศเพิ่มความช่วยเหลือด้านการทหารอีก 460 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากนั้นก็เดินทางกลับไปโปแลนด์ด้วยรถไฟ …ไม่น่าแปลกใจที่การพบหารือครั้งนี้ไม่จำเป็นต้องใช้เวลานาน เพราะผู้นำทั้งสองคนเคยพบหารือกันไปแล้วตอนที่ประธานาธิบดีเซเลนสกี้เยือนสหรัฐฯ เมื่อ ธันวาคม 2565 ซึ่งก็เป็นการเยือนโดยไม่เปิดเผยกำหนดการล่วงหน้าเช่นเดียวกัน
อันดับที่สี่… การจัดการการสื่อสารอย่างรัดกุมและสร้าง impact ได้
ขณะเดียวกันก็มี “สื่อมวลชน” ที่ไว้ใจไปด้วยได้ เพราะการเอาสื่อไปทริปแบบนี้ด้วยจะเป็นประโยชน์อย่างมากในการประชาสัมพันธ์ และทำให้ทั่วโลกได้เห็นมาดเท่ ๆ ของไบเดนขณะเยือนกรุงเคียฟด้วย โดยสื่อผู้โชคดีที่ได้ไปร่วมทริปลับนี้ ไปจาก สำนักข่าว Wall Street Journal และ สำนักข่าว Associated Press ว่ากันว่าแม้กระทั่งการสื่อสารกับสื่อมวลชนทั้ง 2 เจ้านี้ ทางรัฐบาลสหรัฐฯ ยังเข้ารหัสด้วยการเรียกการเดินทางครั้งนี้ว่า “golf tourney” และมีการรักษาความปลอดภัย รวมทั้งข้อมูลเกี่ยวกับทริปนี้อย่างเข้มงวด
ผลการเยือนครั้งนี้ ทำให้เราได้เห็นการจัดการความมั่นคงในระหว่างการเยือนต่างประเทศของผู้นำสหรัฐฯ ซึ่งนอกจากทำให้ทั่วโลกได้เห็นว่าสหรัฐฯ ยังคงสนับสนุนยูเครนในสถานการณ์นี้อย่างเต็มที่แล้ว ยังทำให้ได้เห็นความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการความมั่นคงของฝ่ายสหรัฐฯ เมื่อผู้นำต้องการไปเยือนพื้นที่สงครามด้วย
……นับว่าไบเดนกล้าหาญและมั่นใจไม่น้อยที่เดินทางไปยูเครน เพราะการเยือนยูเครนแตกต่างจากการเยือนพื้นที่สงครามอื่น ๆ ที่ผู้นำสหรัฐฯ เคยไป อย่างเช่นในอัฟกานิสถานหรืออิรัก เพราะพื้นที่เหล่านั้นมีกองทัพอากาศสหรัฐฯ ควบคุมความปลอดภัยอยู่ทั่วน่านฟ้า แต่ครั้งนี้ไม่ใช่!! ดังนั้น บรรดาผู้ช่วยไบเดนจึงเลือกแนวทางเตรียมความพร้อมต่าง ๆ ให้เล็กลง แต่รัดกุมอย่างยิ่ง และไม่มีช่องว่างให้ความผิดพลาดใด ๆ เพราะนี่จะเป็น 1 ในผลงานของประธานาธิบดีไบเดนในช่วงที่เผชิญความท้าทายทางการเมืองหลายอย่างในประเทศตัวเอง
——————————————————————