ในช่วงเวลาที่นักลงทุนรายย่อยและรายใหญ่กำลังอยู่ในภาวะวิตกกังวลถึงความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางแห่งสหรัฐอเมริกา(Fed) จะใช้ไม้แข็งในการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (policy rate) ไว้ที่เพดาน 5-6% เพื่อควบคุมเงินเฟ้อ จนสถานการณ์เศรษฐกิจอาจบานปลายไปสู่ภาวะถดถอย (recession) ภายในสิ้นปี 2567 ได้ ก็เป็นธรรมดาที่บริษัทเอกชนหลายๆแห่งจะพยายามดันผลิตภัณฑ์ทางการเงินความเสี่ยงต่ำ แต่ได้ผลตอบแทนระหว่าง 3-5% หรือ 6-8% ตามระยะเวลาที่กำหนด อย่างเช่น ตราสารหนี้/หุ้นกู้ (corporate bonds) ออกมาสู่ตลาด เพื่อระดมเงินทุนและกระแสเงินสดไปใช้ต่อยอดขยายธุรกิจ แทนการกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์ หรือสถาบันทางการเงินที่มีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สูงกว่า
ซึ่งการจะซื้อหุ้นกู้ในปัจจุบันนั้นก็ง่ายแสนง่าย ไม่ว่าจะผ่านแอปพลิเคชั่นของธนาคารต่างๆที่มีสถานะเป็นตัวกลางในการซื้อขายหรือติดต่อที่ตัวแทนออนไลน์ จนหลายๆครั้งหุ้นกู้ที่ถูกดันออกมาขายนั้นถูกซื้อไปจนหมดภายในไม่เกิน 1-2 ชั่วโมงแรกที่เปิดลงทะเบียน แต่ขึ้นชื่อว่า “หุ้นกู้” ผลิตภัณฑ์การเงินความเสี่ยงต่ำ ก็ใช่ว่าจะไม่มีความเสี่ยงไปเสียทีเดียว เพราะก็มีหลายกรณีอยู่เหมือนกันที่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ท่าทางมีความน่าเชื่อถือ กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้สูงกว่า 5% แต่พอเอาเข้าจริงๆ เมื่อถึงเวลากลับไม่มีขีดความสามารถในการจ่ายเงินคืน กลายเป็นคดีความผิดนัดชำระหนี้ (debt default) ไปถึงในชั้นศาล จนนักลงทุนต่างเกิดอาการหวาดเสียวไปตามๆกัน เพราะต้องรอบริษัทเหล่านั้นไปหาแหล่งเงินกู้จากนอกประเทศมาจ่ายคืน
ฉะนั้น ผลิตภัณฑ์ทางการเงินจำพวกความเสี่ยงต่ำที่โฆษณาประชาสัมพันธ์กันอยู่ทุกวันนี้ จึงไม่ใช่จะเสี่ยงต่ำระดับร้อยละ 0 (Risk-Free) เสมอไป หากผู้ลงทุนไม่ได้ติดตามหรือศึกษาพื้นเพรายละเอียดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ดังกล่าวให้ทราบถึงข้อดีข้อเสีย และแนวทางในการจัดการบริหารความเสี่ยงให้มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยที่สุด โดยประเด็นแรกที่อยากจะให้ตระหนักกันไว้เหนือสิ่งอื่นใดเลย คือ เรื่องสภาพคล่อง (liquidity) ของหุ้นกู้ ผู้ใดซื้อหามาไว้ในครอบครองแล้วใช่ว่านึกจะขายเมื่อใดก็จะสามารถขายได้ทันที เพราะบางครั้งก็ขายไม่ได้ หรือหากขายได้ก็อาจจะไม่ได้ราคาทุนตามที่ต้องการ เช่น ซื้อมาในราคาหน่วยละ 1,000 บาท แต่เวลาจะนำไปขายต่อเพราะมีความจำเป็นต้องนำเงินสดออกมาใช้ขณะที่ยังไม่ครบกำหนดตามที่ตกลงกันไว้ ก็อาจจะราคาตกไปเหลือเพียงหน่วยละประมาณ 900 กว่าบาท
และอย่างที่กล่าวถึงตอนต้นของบทความ สิ่งที่อันตรายที่สุดของการซื้อหุ้นกู้ คือ โอกาสที่บริษัทที่ออกหุ้นกู้นั้นจะล้มละลาย หรือประสบปัญหาที่กระทบต่อขีดความสามารถในการชำระหนี้ จนไม่สามารถจ่ายปันผล หรือแม้กระทั่งเงินต้นคืนแก่ผู้ถือครองหุ้นกู้ตามเวลาที่กำหนดได้ ประเด็นดังกล่าวนี้เป็นที่มาของการจัดลำดับความน่าเชื่อ (Rating) ของหุ้นกู้ และบริษัทที่เป็นผู้ออกหุ้นกู้สู่ตลาด โดยหุ้นกู้ที่มีความน่าเชื่อถือสูง และมีโอกาสน้อยที่จะผิดนัดชำระหนี้ คือ หุ้นกู้กลุ่มที่มีค่าเฉลี่ยผลตอบแทนอยู่ที่ประมาณ 3-5% และได้รับการจัดลำดับความน่าเชื่อถือระหว่าง AAA และ BBB- (investment grade) สำหรับหุ้นกู้ที่มีเครดิตความน่าเชื่อถือต่ำกว่า BBB- ลงไป แต่มีการเสนออัตราผลตอบแทนสูงกว่า 6-7% ขึ้นไปนั้น (speculative grade) หากไม่ใช่หุ้นกู้กลุ่มที่ออกมาเพื่อขายนักลงทุนรายใหญ่ หรือนักลงทุนสถาบัน มักจะเป็นหุ้นกู้กลุ่มที่มีโอกาสผิดนัดชำระหนี้สูง
นอกจากนี้ อีกประเด็นหนึ่งที่จะละเลยไม่ได้ คือ ชนิดของหุ้นกู้ที่จะซื้อนั้นเป็นรูปแบบใด มีหลักประกันหรือไม่ หลักประกันที่ว่าคือ ที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ หรือสินทรัพย์ที่ใช้ในการค้ำประกัน หากหุ้นกู้ของบริษัทใดไม่มีสินทรัพย์ค้ำประกัน จะเรียกว่าหุ้นกู้ไม่มีหลักประกัน (unsecured bonds) ซึ่งจะอาศัยความน่าเชื่อถือของบริษัทตนเองเป็นจุดขาย กล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่าหุ้นกู้ที่ขายกันในไทยส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นหุ้นกู้แบบไม่มีหลักประกันทั้งนั้น แต่สถานการณ์ตลาดหุ้นกู้ในไทยถือว่าดี เพราะบริษัทที่ออกหุ้นกู้มามีขนาดใหญ่และมีความน่าเชื่อถือพอสมควร และมีการจัดหาผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ไว้เป็นคนกลางในการติดตามเงินลงทุนของผู้ซื้อหุ้นกู้กรณีที่บริษัทผิดนัดชำระหนี้ ให้บริษัทนั้นๆจัดการชำระหนี้ตามกำหนดด้วย
ส่วนหุ้นกู้กลุ่มที่นักลงทุนรายย่อยควรระมัดระวังไว้ คือ หุ้นกู้ด้อยสิทธิ (subordinated bonds) ที่มักมีการเสนออัตราผลตอบแทนที่สูงกว่า 6-7% เพราะสิทธิในการเรียกร้องจะน้อยกว่าหุ้นกู้กลุ่มอื่นๆ โดยเฉพาะในกรณีที่บริษัทเกิดล้มละลาย แล้วบริษัทไม่สามารถชำระเงินคืนแก่นักลงทุนได้ และต้องนำเงินไปเฉลี่ยคืนให้แก่เจ้าหนี้ทุกรายนั้นผู้ถือครองหุ้นกู้ประเภทด้อยสิทธินี้จะได้รับเงินคืนภายหลังจากเจ้าหนี้รายอื่นๆ หรือกระทั่งไม่ได้รับเงินต้นคืนเลย เป็นเหตุผลให้หุ้นกู้ประเภทด้อยสิทธินี้มักนำเสนอผลตอบแทนที่สูงกว่า
โดยสรุปแล้ว การจะเลือกลงทุนในหุ้นกู้นั้น มีสิ่งที่ต้องศึกษาและทำความเข้าใจอยู่หลายประเด็น เพราะภายใต้คำโปรยที่ว่าเป็นการลงทุนความเสี่ยงต่ำนั้น กลับสอดแทรกไปด้วยความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น “จากความไม่รู้” ของนักลงทุนได้หลายกรณี และหากทำการเลือกผิดพลาด ความเสียหายที่เกิดขึ้นอาจร้ายแรงถึงขั้นการสูญเสียเงินต้นที่เป็นเงินเก็บก้อนใหญ่ในชีวิตของหลายๆคนไปโดยเปล่าประโยชน์ และยากจะเรียกร้องติดตามให้ได้คืนมาเลยทีเดียว