ท่ามกลางความข้ดแย้งและแข่งขันของหลากตัวแสดงบนเวทีโลก ทั้งในกรณีการรัฐประหารและสงครามกลางเมืองในเมียนมา ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ความตึงเครียดบริเวณช่องแคบไต้หวัน และคาบสมุทรเกาหลี ทำให้คำอธิบายด้านรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะสาขาการระหว่างประเทศได้รับความสนใจจากสาธารณชนเพิ่มขึ้น เพื่อทำความเข้าใจและมุ่งหาทางออกจากสถานการณ์ขัดแย้งอย่างสร้างสรรค์ โดยมอง “การทูต” ในมิติที่กว้างกว่าการปฏิสัมพันธ์ระหว่างรัฐ แต่เป็นการปฏิสัมพันธ์ “ประเด็นอะไร” (What) และ “อย่างไร” (How) ทำให้เราเห็นการทูตที่มีคำคุณศัพท์ เช่น การทูตเชิงวัฒนธรรม (cultural diplomacy) การทูตวิทยาศาสตร์ (science diplomacy) การทูตเชิงเงียบ (quiet diplomacy) การทูตโดยฝ่ายทหาร (defence diplomacy) เป็นต้น ซึ่งในห้วงเวลาที่ผ่านมา เครื่องมือทางการทูตถูกนำมาอธิบายปรากฏการณ์และปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวแสดงต่างๆ ในเวทีโลก
สำหรับคำว่า Defence Diplomacy พบว่ามีผู้แปลเป็นภาษาไทยว่า การทูตโดยฝ่ายทหารและการทูตเชิงป้องกัน ทั้งนี้เมื่อกล่าวถึงการทูตเชิงป้องกันจะไปพ้องกับกรอบคิด preventive diplomacy จึงเลือกใช้คำว่า การทูตโดยฝ่ายทหารในบทความนี้
แนวคิด การทูตโดยฝ่ายทหาร เกิดขึ้นในยุคหลังสงครามเย็น โดยสหราชอาณาจักรพยายามส่งเสริมแนวคิดดังกล่าว เพื่อรักษาสันติภาพ โดยประเทศอื่นๆ ตอบรับและนำแนวคิดดังกล่าวไปปฏิบัติ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าการทูตโดยฝ่ายทหารเป็นความพยายามของรัฐ ในการใช้เครื่องมือและขีดความสามารถทางการทหารเพื่อรักษาสันติภาพ ป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรง อีกนัยหนึ่ง คือ เป็นการใช้ทรัพยากรด้านการทหารเพื่อให้เกิดผลลัพธ์เชิงบวก เช่น การแลกเปลี่ยนกำลังพล การนำเรือรบหรือเครื่องบินเยือนระหว่างกัน การปฏิสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับต่างๆ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ระดับสูง การแลกเปลี่ยนการฝึก การจำกัดขอบเขตของอาวุธ รวมถึงปฏิบัติการเชิงมนุษยธรรม เป็นต้น
Ian Alexander Rigden ที่ปรึกษา Centre for Humanitarian Dialogue และมีประสบการณ์ในกองทัพสหราชอาณาจักร 37 ปี ถ่ายทอดประสบการณ์ว่าการทูตโดยฝ่ายทหารถูกนำมาปฏิบัติในทางนโยบาย โดยการกำหนดแนวนโยบายของรัฐบาลโดยทั่วไปจะคำนึงถึง การรักษาสถานะ (status quo) การตอบสนองในสภาวะวิกฤต (response to crisis) และการระบุภัยคุกคาม (identify threats) เมื่อพิจารณาเป้าหมายดังกล่าวแล้วจึงนำมาสู่การมองหาทางเลือก (options) ในการกำหนดนโยบาย
การทูตโดยฝ่ายทหาร ได้เป็นหนึ่งในเครื่องมือหรือทางเลือกที่ถูกนำมาพิจารณา ประกอบกับข้อมูลด้านการทูต เศรษฐกิจ และการทหาร เพื่อวางแผนจัดสรรทรัพยากร และตอบสนองต่อจุดยืนและแนวนโยบายการต่างประเทศ พันธมิตรและท่าทีของรัฐในเวทีโลก และความสามารถในการจ่ายเพื่อเลือกทางเลือกนั้นๆ นอกจากนี้ การทูตโดยฝ่ายทหาร ยังกลายเป็นการสานสัมพันธ์เพื่อป้องกันประเทศร่วมกัน (Defence Engagement) มากกว่าการเป็นกลยุทธ์ทางการทูต
สำหรับประเทศไทย การทูตโดยฝ่ายทหาร ยังคงใช้เพื่อดำเนินการเสริมสร้างความมั่นคงร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน ในการคุ้มครองรักษาผลประโยชน์แห่่งชาติและความมั่นคงชายแดนร่วมกัน รวมถึงดำเนินการตามกรอบกลไกของอาเซียนอย่าง ADMM Plus (ASEAN Defence Ministers Meeting Plus) เพื่อให้สร้างเสริมความเชื่อมั่นในการร่วมมือรอบด้าน สามารถแจ้งเตือน ป้องกันและแก้ไขภัยคุกคามแบบดั้งเดิม (traditional threats) และรูปแบบอื่น (non-traditional threats) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงพัฒนากองทัพให้เป็นมืออาชีพ ได้รับการยอมรับตามคุณค่าประชาธิปไตย
อ้างอิง
Rigden, Ian Alexander. “Defence Diplomacy: Reshaping Geopolitics in Asia” (2566)
แก้วไชโย, พงศ์เทพ, พันเอก. “การทูตโดยฝ่ายทหาร: กำปั้นเหล็กในถุงมือแพร” (2559)
https://www.the101.world/royal-thai-armed-forces-and-tatmadaw/