ปัจจุบันพูดได้ไม่ผิดว่าเราอยู่ในยุคที่มนุษย์ครองโลก แต่ก่อนที่เราจะได้เป็นใหญ่ในหมู่สรรพสัตว์แบบทุกวันนี้ สิ่งมีชีวิตได้ผ่านการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่มาหลายครั้ง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่มีความสำคัญต่อการวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตคงไม่พ้น “การสูญพันธุ์”
ทุกครั้งที่มีการสูญพันธุ์ จะเป็นการสิ้นสุดของสิ่งมีชีวิตหลายสายพันธุ์เป็นจำนวนมาก แต่นั่นทำให้สายพันธุ์อื่น ๆ ได้มีโอกาสที่จะวิวัฒนาการต่อในโลกแบบใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิม จนถึงตอนนี้ โลกได้ผ่านการสูญพันธุ์ใหญ่มาแล้ว 5 ครั้ง และกำลังเข้าสู่การสูญพันธุ์ครั้งที่ 6 โดยเร็วอย่างคาดไม่ถึง
ก่อนอื่น ขอเล่าย้อนไปถึงการสูญพันธุ์ครั้งที่ผ่าน ๆ มาเพื่อเปรียบเทียบดูว่าเกิดจากอะไรและจะมีสัญญาณอะไรถึงการสูญพันธ์ุครั้งต่อไปได้บ้าง สำหรับการสูญพันธุ์ครั้งที่ 1 ในยุคออร์โดวิเชี่ยน-ไซลูเรียน (Ordovician-Silurian Extinction) เมื่อประมาณ 444 ล้านปีก่อน มีสิ่งมีชีวิตมากกว่าร้อยละ 85 ของสายพันธุ์ทั้งหมด ที่สูญสิ้นไปจากการเกิดยุคน้ำแข็งอย่างฉับพลันจนอากาศแปรปรวนยากต่อการดำรงชีวิต
ครั้งที่ 2 ในปลายยุคดีโวเนียน (Late Devonian Extinction) หลังจากการสูญพันธุ์ครั้งที่ 1 ประมาณ 80 ล้านปีเมื่อจำนวนสัตว์ลดลง แต่พืชบกกลับวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่องทำให้แร่ธาตุในแผ่นดินและอากาศเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ส่งผลให้สิ่งมีชีวิตที่เพิ่งเริ่มอาศัยอยู่บนบกต้องสูญพันธุ์ไปร้อยละ 80 ของสายพันธุ์ทั้งหมดในยุคนั้น
ครั้งที่ 3 เป็นการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ที่สุด เกิดขึ้นเมื่อ 252 ล้านปีก่อนในยุคเพอร์เมียน-ไทรแอสซิก (Permian-Triassic Extinction) ช่วงราว 252 ล้านปีก่อน มีสิ่งมีชีวิตหายไปร้อยละ 95 ของสายพันธุ์ทั้งหมด เพราะการเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลก (มหาทวีปแพนเจีย) ที่แยกตัวออกจากกัน จนทำให้แผ่นดินร้อนระอุ มีแก๊สพิษในอากาศปริมาณมากยากต่อการอยู่อาศัย
การเปลี่ยนแปลงทางธรณีที่ยังคงเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องทำให้เกิดการสูญพันธุ์ครั้งที่ 4 ในยุคไทรแอสซิก-จูแรสซิก (Triassic-Jurassic Extinction) เมื่อราว 201 ล้านปีก่อน มีชีวิตกว่าร้อยละ 75 ของสายพันธุ์ทั้งหมดที่สูญหายไปจากโลก และอีกร้อยละ 25 ที่เหลือเป็นไดโนเสาร์ (Dinosaur) ที่จะขึ้นมาครองโลกในยุคต่อไป
และเมื่อกล่าวถึงยุคไดโนเสาร์หรือในยุคครีเทเชียส–พาลิโอจีน (Cretaceous-Paleogene Extinction) ก็คงไม่พ้นการสูญพันธุ์ที่โด่งดังและเป็นที่รู้จักกันดี เพราะภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดหลายเรื่องมักจะกล่าวถึง ก็คือผลจากการพุ่งชนของอุกกาบาตที่ทำให้สัตว์เลื้อยคลานขนาดยักษ์ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่หลากหลายกว่าร้อยละ 75 ต้องสูญพันธุ์ไป เมื่อราว 66 ล้านปีก่อน และกลายเป็นโอกาสให้ หนู กระรอก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กในตอนนั้นได้วิวัฒนาการมาเป็นมนุษย์ในปัจจุบัน
สำหรับการสูญพันธุ์ครั้งที่ 6 จะเป็นการสูญพันธุ์ในยุคปัจจุบัน จากสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนและแปรเปลี่ยนไปของโลก ทำให้เกิดภัยพิบัติต่าง ๆ มากมาย น้ำทะเลที่หนุนสูงขึ้น และพื้นที่น้ำแข็งขั้วโลกที่หดตัวลง ทำให้ถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์หลายชนิดไม่เหมือนเดิม ไม่สามารถอพยพย้ายถิ่น มีอัตราการรอดชีวิตน้อยลงเรื่อย ๆ จนสูญพันธุ์ไปจนหมด
นั่นคือ ปัจจัยทางธรรมชาติของการสูญพันธุ์ในยุคนี้ แต่ยังมีตัวแปรหลักที่เร่งการสูญพันธุ์ให้ทวีความเร็วและความรุนแรงมากยิ่งขึ้น นั่นคือ “การดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์เดียว” หรือก็คือ “มนุษย์” เพราะการกระทำของมนุษย์ที่ทำให้มีอายุยืนยาวขึ้นกลับทำให้สัตว์สายพันธุ์อื่นจำนวนน้อยลงเรื่อย ๆ จนเข้าสู่การสูญพันธุ์ ทั้งการขยายตัวของเมืองเข้าสู่พื้นที่ธรรมชาติทำให้ที่อยู่อาศัยลดลง การแย่งแหล่งอาหารทำให้อดอยาก การปล่อยสารพิษและสารเคมีที่ทำให้ถึงตาย จะทำให้จำนวนสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ต่าง ๆ ลดลงหรือไปจนถึงขั้นหมดสายพันธุ์
……และยังมีสาเหตุที่ทำให้เกิดการสูญพันธุ์อย่างฉับพลันได้ไม่แตกต่างจากในอดีต เช่น สิ่งมีชีวิตที่ได้รับผลกระทบจากการทำสงครามของมนุษย์ด้วยอาวุธนิวเคลียร์ หรือความผิดพลาดจากการทดลองชนกันของอนุภาคจากเครื่องเร่งอนุภาคแอลเอชซีของ CERN ที่อาจก่อให้เกิดแรงดึงดูดมหาศาลจนเกิด “หลุมดำ” ดูดกลืนทุกสรรพสิ่งจากโลก หรือความผิดพลาดจากปฏิกิริยาฟิวชันจากการสร้างพระอาทิตย์จำลอง ที่ระเบิดจะมีความรุนแรงไม่น้อยไปกว่าระเบิดปรมาณู
แม้จะคาดการณ์ไม่ได้ว่าการสูญพันธุ์ครั้งนี้จะทำให้สัตว์กี่สายพันธุ์หายไป แต่ ณ ปัจจุบันสัตว์หลายสายพันธุ์ของโลกกำลังทยอยสูญหายไปอย่างน่าเสียดาย โดยพบว่าระยะเวลา 10 ปี จะมีพืชและสัตว์ไม่ต่ำกว่า 10 สายพันธุ์ที่จะหายไปจากโลก (อัตราเฉลี่ยเดิมของการสูญพันธุ์ คือ 1 ล้านปีต่อสายพันธุ์) แน่นอนว่า มนุษย์จะสามารถเอาตัวรอดได้ด้วยความชาญฉลาด แต่ความหลากหลายทางชีวภาพของโลกจะสูญสิ้นไป
…..แล้วโลกจะเป็นอย่างไร….หากโลกนี้เหลือเพียงแต่มนุษย์เพียงสายพันธุ์เดียวหลงเหลืออยู่ ในขณะที่สิ่งมีชีวิตอื่น ๆ สูญหายไปทั้งหมด!?
———————————————–