Ecovillage หรือชุมชนนิเวศ เป็นรูปแบบชุมชนที่มีมาตั้งแต่ปี 2521 เริ่มต้นในสหรัฐอเมริกาบนพื้นที่ 378 เอเคอร์ มี 70 ครัวเรือน โดยตั้งขึ้นมาพร้อมแนวคิดที่จะลดการใช้ทรัพยากรจากภายนอกให้น้อยที่สุด พึ่งพาตนเองทั้งในด้านพลังงาน อาหาร และน้ำ จนทำให้เกิดรูปแบบชีวิตที่เรียบง่าย ใกล้ชิดธรรมชาติ ดังนั้น รูปแบบชีวิตของคนในชุมชน Ecovillage จึงใกล้เคียงกับสังคมเกษตรกรรมในอดีต ที่ทำการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์เพื่อการบริโภค ไม่ใช่การทำการเกษตรเชิงเดี่ยวเพื่อตอบสนองระบบอุตสาหกรรม และเพื่อให้ได้อาหารที่ปลอดภัย ดินและน้ำที่ใช้ในการเกษตรจะต้องไม่มีสารเคมีเจือปน ทำให้การรักษาแหล่งน้ำธรรมชาตินั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นของวิถีชีวิต
เมื่อชีวิตต้องพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติค่อนข้างมาก จึงจำเป็นต้องรักษาดินที่อุดมสมบูรณ์ แหล่งน้ำสะอาดที่มีปริมาณมากเพียงพอต่อคนในชุมชน และแหล่งทรัพยากรพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่ตั้ง (Location) ของชุมชนจึงเป็นปัจจัยสำคัญของ Ecovillage เสมือนการตั้งถิ่นฐานของคนในอดีต ที่เลือกที่ตั้งหมู่บ้านหรือเมืองจากพื้นที่ที่มีความเหมาะสม ทุกคนในชุมชนประกอบอาชีพใกล้เคียงกันที่เหมาะกับสภาพพื้นที่ และเมื่อชุมชนค่อยๆ เพิ่มความซับซ้อนมากขึ้น มีจำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้น เกิดการแบ่งหน้าที่และแบ่งเขตกันอย่างชัดเจน
ความแตกต่างในบทบาทหน้าที่นั้นเองที่ทำให้พฤติกรรมความเป็นชุมชนลดลง คือ คนแต่ละกลุ่มจะให้ความสนใจและมีเป้าหมายในการดำรงอยู่ในพื้นที่แตกต่างกัน ภาพรวมในการอยู่ร่วมกันด้วยบริบทเดียวกันค่อยๆ เลือนราง กลายเป็นภาพชีวิตของตัวบุคคลที่จะต้องเอาตัวรอดในสภาวะที่ทรัพยากรเดิมเริ่มไม่เพียงพอต่อขนาดชุมชนที่ขยายใหญ่ขึ้น ต้องมีการนำเข้าทรัพยากรจากภายนอกเข้ามา และถือเป็นจุดจบของการพึ่งตนเองในชุมชน
การกลับมาของแนวคิด Global Ecovillage Network นั้นเป็นเครือข่ายระดับโลก มีจำนวนสมาชิกไม่ต่ำกว่า 70 ประเทศใน 6 ทวีป ที่คอยแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างชุมชน เพื่อนำเสนอวิถีชีวิตแบบยั่งยืนสู่คนทั่วไป ภายใต้ภาวะความแปรปรวนของโลกในยุคปัจจุบัน ทำให้ Ecovillage กลายเป็นทางเลือกของชุมชนรูปแบบใหม่ แต่ใช่ว่าทุกคนจะสามารถเข้าอยู่ได้ เพราะรูปแบบพฤติกรรมของชุมชนจะแตกต่างกับสังคมเมือง และการให้เวลาร่วมกันของชุมชน เป็นเรื่องสำคัญลำดับต้นๆ ของชุมชน ในขณะที่ทิศทางการขยายตัวของเมืองเริ่มมีขีดจำกัด คุณภาพชีวิตของคนในเมืองเริ่มแย่ลงจากมลภาวะที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ความกดดันต่างๆ ทำให้ประชาชนในเมืองเกิดความเครียดจนเริ่มย้ายออกจากเมือง จึงกลายเป็นภาวะ จุดอิ่มตัวของมหานคร(Metropolis)
จำนวนประชากรในเมืองมีจุดอิ่มตัว แต่เมืองไม่เคยอิ่ม เพราะจำนวนประชากรมากกว่า 1-5 ล้านคนในมหานครต้องนำเข้าทรัพยากรจำนวนมาก เมืองจึงไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ การเป็นเมืองโตเดี่ยวจึงทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะเผชิญความขาดแคลนทรัพยากร เพื่อลดความเสี่ยงจากปัญหาความขาดแคลน จึงได้มีการประยุกต์แนวคิดของ Ecovillage มาปรับใช้เพื่อความยั่งยืนให้เป็น “Ecocity” กล่าวคือ การรวมกลุ่มคนจำนวนมากเข้าสู่เมืองตามกระบวนการการกลายเป็นเมือง (Urbanization) และใช้เทคโนโลยีเข้ามาในการลดการใช้ทรัพยากร เช่น การทำสวนแนวตั้ง (Vertical Garden) และการปลูกพืชโดยใช้แสงเทียมเพื่อผลิตอาหาร การบำบัดน้ำเสียเพื่อกลับมาใช้ใหม่ (NEWater) จากน้ำฝนต้นทุนที่ตกลงในพื้นที่เมืองถูกกักเก็บไว้ในแก้มลิงขนาดใหญ่ใต้เมือง การใช้พลังงานทดแทน ทั้งหมดสามารถทำได้ภายในอาคารสูง รวมถึงการสร้างนโยบายเพื่อชี้เป้าหมายของผู้คนหลากหลายภายในเมืองให้ไปในทิศทางเดียวกันเช่นเดียวกับความเข้าใจของกลุ่มคนในชุมชน
ดังนั้น การใช้ทรัพยากรของเมืองในเรื่องของที่ตั้งและปริมาณทรัพยากร จะถูกแทนที่ด้วยการทะยานพื้นที่ใช้สอยขึ้นทางตั้ง เพื่อกระชับการขยายตัวของเมืองและคืนพื้นที่นอกเมืองให้โลกเพื่อการดำรงอยู่แบบ Ecoworld
———————————————————–