โลกมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังเกิดวิกฤติโควิด-19 คนที่พร้อมในยุคนี้ต้องเป็นคนที่มีความคล่องตัวและพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนอาชีพของตนเองได้ทุกเวลา…
ทำให้มีการเกิดขึ้นของกลุ่มคนที่เรียกว่า “มนุษย์เป็ด (Multipotentiality)” ซึ่งคำว่า ‘Multipotentiality’ เป็นคำที่นักจิตวิทยาใช้มาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 19 เพื่ออธิบายพฤติกรรมของคนที่มีความสนใจและความสามารถหลายอย่าง หรือที่ชอบพูดกันว่า ‘Jack of all trades, master of none’ ……..จริงๆ แล้ว แนวคิดเกี่ยวกับพฤติกรรมหลากความสนใจนี้มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยนักประวัติศาสตร์จะเรียกกลุ่มคนเหล่านี้ว่า ‘Polymath’ อย่างเช่น Aristotle ที่เป็นทั้งนักปรัชญาและนักวิทยาศาสตร์ หรือ Galileo Galilei ที่ได้รับขนานนามว่าเป็นบิดาแห่งดาราศาสตร์สมัยใหม่ บิดาแห่งฟิสิกส์สมัยใหม่ บิดาแห่งวิทยาศาสตร์ และบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ยุคใหม่ โดยถือเป็นคำเรียกของบุคคลที่มีความสามารถที่หลากหลาย แต่มักจะไม่ได้เชี่ยวชาญอย่างที่สุดในความสามารถนั้นๆ
โดยทั่วไปแล้วคนที่โดดเด่นกว่าคนอื่น มักจะเป็นคนที่มีความสามารถเชี่ยวชาญเฉพาะทางใดทางหนึ่ง ซึ่งเรามักจะได้ยินคนพูดอยู่เสมอว่าให้ฝึกทักษะอะไรบางอย่างให้เชี่ยวชาญโดยยิ่งเร็วที่สุดยิ่งดี ทั้งนี้ผู้เชี่ยวชาญในสมัยก่อนอาจมีความสำคัญเพราะเก่งในเรื่องที่ทำเพียงอย่างเดียว ซึ่งอาจเพียงพอต่อการประสบความสำเร็จตามเป้าหมายได้ แต่ในยุคปัจจุบันวิถีการใช้ชีวิตของผู้คนมีความซับซ้อนมากขึ้น ทำให้เราต้องเรียนรู้มากกว่าเดิม
……..โดยปกติแล้วคนหนึ่งคนมักจะมีพรสวรรค์เพียงไม่กี่อย่างและมักจะมีพรสวรรค์เพียงหนึ่งเดียวที่สามารถทำได้ดีเป็นพิเศษ แต่ก็ไม่ใช่ว่าคำนิยามเหล่านี้จะถูกเสมอไป เราอาจจะสามารถนิยามคนที่มีความสามารถของการเรียนรู้ในด้านต่างๆ ได้มากมายแต่อาจจะไม่สุดทาง ให้นับว่าเป็นอีกหนึ่งพรสวรรค์ที่แตกต่างจากรูปแบบแรกได้เช่นกัน และคนเหล่านี้มักจะถูกเรียกว่า ‘มนุษย์เป็ด’ ความสามารถที่รู้ได้รอบด้านก็จะถูกผลักดันให้เฉิดฉายขึ้น แต่เมื่อไหร่ที่เราเติบโตในหน้าที่การงานไปถึงจุดหนึ่งแล้ว เราอาจจะต้องเปลี่ยนจากการเป็นเป็ดที่รู้หลายอย่าง ไปสู่การเป็นเป็ดที่สามารถบริหารในหลายเรื่องได้แทน
การคาดการณ์ของ WEF หรือ World Economic Forum ที่เป็นองค์กรด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศได้วิเคราะห์ไว้ว่า 50% ของพนักงานทั่วโลกจำเป็นจะต้องเพิ่มความสามารถที่หลากหลายด้านให้กับตัวเองมากขึ้นภายในปี 2568 นี้ กล่าวคือ หากเราทำงานด้านบัญชีเป็นหลัก เราก็อาจจะต้องสามารถวางแผนการตลาดได้ด้วย และความสามารถที่หลากหลายจะทำให้กลุ่มคนเหล่านี้กลายเป็นที่ต้องการขององค์กร ตรงกับกระแสที่ปัจจุบันก็มีการเกิดขึ้นของกระแสมนุษย์เป็ดมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นบทสัมภาษณ์จากกลุ่มคนที่ประสบความสำเร็จ การตั้งกระทู้จากประชาชนทั่วไป หรือแม้แต่การทำคอนเทนท์ต่าง ๆ มากมายเกี่ยวกับมนุษย์เป็ด อย่างไรก็ตามในบางครั้งการเป็นมนุษย์เป็ดอาจทำให้หลายคนรู้สึกเป็นปมด้อยในชีวิต ที่แม้ว่าจะเรียนเข้าใจทุกวิชา สามารถทำหลายสิ่งหลายอย่างได้ แต่ก็ไม่ได้เก่งหรือเชี่ยวชาญสักอย่าง จนบางครั้งทำให้ตัวเองสูญเสียความมั่นใจไป
………แต่ในยุคนี้ข้อดีของคนที่เป็นมนุษย์เป็ดเริ่มฉายมากขึ้นและเป็นที่ต้องการมากกว่าเดิม จะเห็นได้ว่าการที่คนเรามีความรอบรู้ในหลายๆ เรื่องและทำได้หลายๆ อย่าง ก็ดูไม่น่าจะเป็นปัญหา แต่เพราะค่านิยมบางอย่างของบางสังคม ก็อาจทำให้เกิดอุดมคติที่ว่าคนเราต้องหาสิ่งที่เราทำได้ดีที่สุดสักอย่าง แต่ในขณะเดียวกันในหลาย ๆ คน ก็เรียนรู้ที่จะเข้าใจในความเป็นตัวเองและสามารถนำความสามารถตรงส่วนนี้มาปรับใช้กับตัวเองได้เป็นอย่างดี
สำหรับในปัจจุบันการที่เต็มไปด้วยคนรุ่นใหม่ที่มีทักษะและความสามารถรอบด้าน โดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษาจบใหม่ที่กำลังมองหางานในฝันของตัวเอง และกลุ่มคนทำงานวัยกลางคนที่พร้อมพัฒนาตนเองให้มีทักษะด้านดิจิทัลและเทคโนโลยี ทำให้เกิดการแข่งขันการพัฒนาความสามารถของตัวเองให้เก่งขึ้นเพื่อรับมือกับการมาของมนุษย์เป็ดยุคใหม่ที่เก่ง คนที่รักการพัฒนาตนเองได้หันมาสนใจเรียนคอร์สออนไลน์กันมากขึ้น จึงทำให้โลก ณ ปัจจุบัน มีมนุษย์เป็ดสายพันธุ์ใหม่เข้ามาแข่งขันกันในตลาดแรงงานมากขึ้น ถ้าเราอยากเป็นมนุษย์เป็ดที่มีค่า จงหาแหล่งน้ำให้เหมาะสมกับตัวเองและอย่าหยุดเรียนรู้
ดังนั้น เพื่อเป็นสร้างโอกาสให้กับไทย รัฐบาลควรมีการเพิ่มแรงจูงใจทั้งในด้านการทำงานและด้านการศึกษาเพื่อให้มีประสิทธิภาพจนเกิดเป็นการเปลี่ยนแปลง เนื่องด้วยการไม่มี Soft Skills ถือเป็นเรื่องยากสำหรับการทำงานในยุคนี้ เพราะยุคนี้ต้องมีการสื่อสารในทุกภาคส่วน ไม่ใช่เพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งขององค์กร ในขณะที่ Hard Skills สามารถไปเรียนรู้ในภายหลังได้ หากมี Soft Skills ที่แข็งแกร่งเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
คนที่มีแรงจูงใจในการทำงานสูง จะสามารถทำงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายได้ และการสร้างแรงจูงใจในการทำงานจะช่วยเสริมสร้างคุณค่าความเป็นคนที่สมบูรณ์ เกิดความก้าวหน้าและทำงานที่ตนรับผิดชอบให้สำเร็จลุล่วง และแรงจูงใจไม่ได้ทำให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่ยังส่งผลถึงความรู้สึกผูกพันกับองค์กรอีกด้วย เมื่อพนักงานมีแรงจูงใจเพิ่มมากขึ้น พวกเขาก็จะรู้สึกว่าที่นี่คือที่ของเขา ทำให้เขาสามารถแสดงความสามารถออกมาได้อย่างเต็มที่ และยิ่งในยุคปัจจุบันที่การขาดแคลนแรงงานกำลังเป็นปัญหาใหญ่ ปัญหานี้ทำให้การสรรหาบุคลากรมาทดแทนพนักงานที่ออกไปแล้วนั้นยากมากขี้น ดังนั้นเพื่อป้องกันการลาออกของพนักงาน บริษัทหลายๆ แห่งจึงควรที่จะให้ความสนใจกับการเพิ่มแรงจูงใจในการทำงานให้พนักงาน
ท้ายที่สุด ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไปทำให้เห็นว่าองค์กรต่าง ๆ ไม่ควรมองหาเฉพาะคนที่มีคุณสมบัติตรงกับที่ต้องการเพียงอย่างเดียว แต่ควรมองหาคนที่มีประสบการณ์กว้างขวางกว่าที่ต้องการ แม้ประสบการณ์ตรงจะไม่ลึกเท่าที่ต้องการ แต่ประสบการณ์ที่กว้างขวางอาจมีประโยชน์กับงานมากกว่า อย่างที่เราคาดไม่ถึง…
———————————–
เรียบเรียงจาก
https://www.krungsri.com/th/plearn-plearn/know-multipotentiality-people-skill
https://www.alljitblog.com/?p=6726