เชื่อว่าหลายคนคงเคยมีโอกาสได้ชมหนังเรื่อง มหา’ลัย เหมืองแร่ ที่ดำเนินเรื่องด้วยตัวพระเอก “อาจินต์” นิสิตชาย ชั้นปีที่ 2 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ที่โดนรีไทร์ ทำให้จับพลัดจับผลูไปทำงานไกลถึง “เหมืองกระโสม ทิน เดรดยิง” อำเภอตะกั่วทุ่ง ตำบลกระโสม จังหวัดพังงา เหมืองแร่ดีบุกในยุคเฟืองฟู พูดได้ว่าบทหนังได้สื่อให้เห็นถึงสภาพความเป็นอยู่และลักษณะภูมิสังคมของชาวบ้านในยุคก่อน รวมไปถึงการทำงานใช้แรงงานเป็น “กรรมกรเหมืองแร่” ของผู้คนที่ต้องกินอยู่กับเหมืองแร่และเรือขุด ที่เปรียบเสมือนเป็นบ้านหลังที่สอง
ในแง่ผลตอบรับด้านรายได้ แม้ว่า มหา’ลัย เหมืองแร่ จะเป็นหนังที่ล้มเหลว ทำรายได้เพียง 30 ล้านบาท โดยต้นทุนการสร้างหนังอยู่ราว ๆ 70 ล้านบาท แต่หนังกลับได้รับเสียงวิจารณ์ที่ดีเยี่ยม ในปีนั้น มหา’ลัย เหมืองแร่กวาดรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติสุพรรณหงส์ ครั้งที่ 15 ไปได้ถึง 6 รางวัล โดยเฉพาะสาขาหลักอย่าง ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และผู้กำกับยอดเยี่ยม จากการถ่ายทอดเรื่องราวที่ชัดเจนและเป็นกันเอง ฉายภาพชีวิตของชาวเหมืองแร่ที่ขายแรง หาเช้ากินค่ำ และความผูกพันหลายระดับตั้งแต่นายงานจนถึงลูกจ้างรายวัน พร้อมปรัชญาชีวิตของท้องถิ่น ซึ่งมหา’ลัย เหมืองแร่ ดัดแปลงมาจากหนังสือรวมเรื่องสั้นชุดเหมืองแร่ ชื่อ “ตะลุยเหมืองแร่”ของอาจินต์ ปัญจพรรค์ ที่ถูกยกย่องให้เป็นหนึ่งในหนังสือ 100 เล่มที่คนไทยควรอ่าน
นับตั้งแต่ภาพยนตร์เรื่องมหา’ลัยเหมืองแร่ได้เข้าฉายเป็นวันแรก(ในปี 2548) จนถึงวันนี้แม้ราว 18 ปีแล้ว แต่ก็ยังมีหลายภาพหลายฉากที่น่าประทับใจ และตอบโจทย์การใช้ชีวิตในโลกของการทำงานได้จนถึงยุคปัจจุบัน 4.0 .
…กระนั้นก็ตามหากกล่าวถึงหลักการบริหาร 5 M Model มาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและแก้ไขปัญหาภายในองค์กร ประกอบด้วย 1) Man-กำลังคน 2) Machine – เครื่องมือ,เครื่องจักร 3) Material – วัสดุอุปกรณ์และวัตถุดิบต่าง ๆ ในการดำเนินการ 4) Method – วิธีการหรือขั้นตอนการดำเนินการ และ 5) Management – การบริหารจัดการภายในองค์กร โดยนำ “เหมืองกระโสม ทิน เดรดยิง” ในหนังมหา’ลัยเหมืองแร่ มาวิเคราะห์ อาจจะพบได้ว่าไม่สามารถตอบโจทย์ได้มากนัก หรือแม้กระทั่งการนำหลักการ “Put the right man on the right job” ในการบริหารทรัพยากรมนุษย์ของนายฝรั่งในหนังมหา’ลัย เหมืองแร่ มาวิเคราะห์ก็เป็นไปได้ยาก
แต่การบริหารทรัพยากรมนุษย์ที่น่าสนใจ คงเป็นเรื่องที่ตัวละครในหนังเน้นการสอนงาน (training and coaching) ให้กับตัวพระเอกมากกว่า ความไม่มีประสบการณ์ทำงานเหมืองแร่ทำให้เขาต้องตั้งใจอย่างจดจ่อ เรียนรู้จากคนอื่น ๆ แม้ระดับการศึกษาต่ำกว่าเขา……และการเรียนรู้ที่สร้างความโรแมนซ์ของแรงงานชนชั้นกลางในหนังเรื่องนี้ ไม่ใช่เป็นเพียงก่อเกิดความรัก น้ำใจ มิตรภาพ ความผูกพันของคนในเหมืองแร่เท่านั้น แต่มองในมุมมองการผจญโลกกว้างของตัวพระเอก ที่ได้มองไปที่โลกของกรรมกรอย่างคนที่อยู่ข้างนอก แล้วตระหนักมาลิ้มรสความลำบากเพียงชั่วครู่ชั่วยามเท่านั้น เมื่อออกมาจากโลกแห่งนั้น เขาก็ยังมีที่ให้ไปต่อ ด้วยต้นทุนทางสังคมและการศึกษาที่มากกว่า ทั้งนี้ตัวเนื้อเรื่องไม่ได้ผลักดันในประเด็นให้เกิดความเท่าเทียมทางชนชั้นมากขึ้น เพราะยังคงมองชีวิตกรรมาชีพเป็นสิ่งแปลกใหม่
อย่างไรก็ดีหากมองในแง่เรื่องความเหลื่อมล้ำหรือความไม่เท่าเทียมในสังคมในยุคนั้น เราจะเห็นได้ชัดเจนจากบทสนทนาในบางช่วงของหนังมหา’ลัย เหมืองแร่ เช่นที่ไอ้ไข่ ได้ถามกับอาจินต์ว่า “ต้องมีเงินเท่าไหร่ ถึงจะไปกรุงเทพฯได้” เพราะการเดินทางที่ไกล ย่อมมีการใช้ต้นทุนค่าใช้จ่ายพอสมควร และความเข้าใจของชาวบ้านในพื้นที่ห่างไกล มันไม่แปลกที่เขาจะจินตนาการกรุงเทพมหานครไว้อย่างสวยงาม และคนทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงหรือจับต้องได้อย่างง่ายดาย หากไม่ใช่คนร่ำรวยมีฐานะ หรือเป็นข้าราชการ ผู้มีฐานะหน้าตาทางสังคม
อาจินต์ตอบแค่ว่า “ยังมีเวลาอีกเยอะ” ซึ่งอาจินต์เองก็ไม่ได้ตอบไอ้ไข่ว่าต้องใช้เงินจำนวนกี่บาท ถึงจะสามารถเดินทางไปยังกรุงเทพฯ ได้ เสมือนเขาไม่ได้อยากให้เกิดการตีราคาการเดินทางด้วยจำนวนเงิน เขาจึงตอบด้วยคำตอบที่ไม่ตรงคำถาม ในลักษณะให้กำลังใจอย่างอ้อม ๆ ส่วนตัวของละเอียดเอง ก็ได้กล่าวว่า “กรุงเทพมันไกลเหลือเกิน ฉันคงไปไม่ถึง…” เสมือนการตัดพ้อของตัวละคร ที่บ่นไปด้วยความน้อยเนื้อต่ำใจ ที่ผู้ชมอาจจะตีความได้หลายแบบ จากคำว่า “ไกล” ที่ละเอียดได้พูดกับตัวพระเอก “กรุงเทพฯ มันไกลจากพังงาด้วยระยะทาง” หรือ “กรุงเทพฯ มันไกลด้วยการนำเอาความรู้สึกมาวัด”
เมื่อกล่าวถึงความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยในยุคอดีตจากหนังเรื่องนี้ที่พอจะเป็นภาพสะท้อนจนมาถึงยุคปัจจุบันที่ยังคงปรากฏภาพของความเหลื่อมล้ำ ความไม่เท่าเทียมของสังคม หากจะให้สอดคล้องกับบริบทข้างต้น ก็พอที่จะยกตัวอย่างอาชีพใช้แรงงาน ที่ได้มีการออกมาเรียกร้องสิทธิประโยชน์สวัสดิการที่ปรากฏให้เห็นในภาพสื่อต่าง ๆ ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจนัก เพราะการชุมนุมหรือการเดินขบวนเรียกร้องถือว่าเป็นเสรีภาพประการหนึ่งที่ติดตัวมนุษย์ทุกคน มาแต่กำเนิดตามแนวคิดสิทธิมนุษยชน (Human Rights) โดยเรียกชื่อเสรีภาพประเภทนี้ว่า “เสรีภาพในการชุมนุม (freedom of assembly) ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของกลุ่มคนเพื่อแสดงออกทางความคิดเห็น ไม่เฉพาะแต่เรื่องทางการเมืองเท่านั้น อาจครอบคลุมถึงเรื่องสังคม เศรษฐกิจ การดำเนินชีวิต การประกอบอาชีพ ตลอดจนสิ่งแวดล้อมต่างๆ
ท้ายที่สุดหนังเรื่องนี้ทำให้ทุกคนหวนคิดถึงบทสนทนาในหนังที่กล่าวว่า “อาจินต์ เอาผมไปฆ่าให้ตาย ผมก็รักคุณ” เป็นวลีง่าย ๆ แต่พอจะสรุปได้ว่าตัวละครในหนังเรื่องนี้ผ่านเรื่องราวต่าง ๆ มาด้วยกันพอสมควร ที่ได้นำเอาความโรแมนซ์ของแรงงานชนชั้นกลางในยุคนั้นที่มีความรู้เฉพาะทางในการทำเหมืองแร่ รวมถึงประสบการณ์ต่าง ๆที่ชาวเหมืองแร่ได้ประสบพบเจอ มาเล่าเรียบเรียงในรูปแบบการดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่าย แค่เริ่มต้นจากการเปิดใจเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ที่น้อยคนนักจะได้มีโอกาสไปสัมผัส มหา’ลัย เหมืองแร่ จึงเปรียบได้กับมหาวิทยาลัยที่ได้สอนทักษะการใช้ชีวิตในโลกจริง ในห้วงเวลาหนึ่งให้แก่อาจินต์
อ้างอิง
https://review.thaiware.com/1847.html
https://thematter.co/social/life-lesson-from-arjin/65538
https://thestandard.co/the-tin-mine-13-years/
https://thestandard.co/pop-onthisday26052548/
https://greedisgoods.com/5m-%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD-5m-model/
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/58493
https://www.nationtv.tv/news/politics/378883996