จากถ้อยแถลงของ Jerome Powell ในฐานะประธานธนาคารกลางแห่งสหรัฐฯ (Fed) ต่อสภาคองเกรส เมื่อวันอังคารและพุธที่ 7-8 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา เป็นประเด็นที่น่าสนใจและเป็นสัญญาณที่แวดวงการลงทุนควรจะติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะพัฒนาการดังกล่าวนี้น่าจะส่งผลอย่างมากต่อความผันผวนในตลาดการเงิน โดยเฉพาะสินทรัพย์เสี่ยงในตลาด อาทิ ดัชนี Dow Jones, S&P500, แร่โลหะมีค่า (precious metals), Cryptocurrencies รวมถึง ดัชนี SET Index ของไทยอย่างต่อเนื่องตลอดเดือนมีนาคม 2566 นี้ หรืออย่างน้อยก็จนกว่าการประชุม FOMC Meeting ประจำเดือนในห้วง 21-22 มีนาคม 2566 จะผ่านพ้นไป เนื่องจาก Fed จะประกาศการตัดสินใจว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายด้วยความรุนแรงเพียงร้อยละ 0.25 หรือเพิ่มเป็น 0.50 พร้อมกับเผยแนวทางที่ชัดเจนขึ้นต่อสาธารณชนเกี่ยวกับการชะลอหรือยุติการขึ้นดอกเบี้ย
สำหรับสิ่งที่ Jerome Powell กล่าวนั้น ประโยคสำคัญที่สุดเลยอยู่ที่ “The latest economic data have come in stronger than expected, which suggests that the ultimate level of interest rates is likely to be higher than previously anticipated, with inflation persisting… we would be prepared to increase the pace of rate hikes.”[1] ซึ่งสามารถตีความออกมาได้กว้างๆอยู่สองแง่มุม มุมแรก คือ Fed อาจต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระดับที่สูงขึ้นกว่าเป้าหมายเดิมที่เคยวางไว้ กล่าวคือ เดิม Fed อาจมีเป้าหมายในการปรับอัตราดอกเบี้ยให้ขึ้นไปมากสุดเพียงร้อยละ 5.25-5.50 แต่ด้วยอัตราเงินเฟ้อที่ยังร้อนแรงขณะนี้ ทำให้ Fed อาจต้องปรับความรุนแรงในการขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปสู่ระดับร้อยละ 5.75-6.00 ให้เร็วขึ้น (สอดคล้องกับที่บริษัทจัดการสินทรัพย์ชื่อดังอย่าง BlackRock เคยคาดการณ์ไว้ในห้วงที่ผ่านมา)[2]
กับอีกมุมหนึ่ง คือ Fed อาจกลับไปเน้นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่มีความรุนแรงในระดับครั้งละ 0.50 หรือกลับไปเพิ่มในระดับร้อยละ 0.75 อีกครั้ง เพื่อเร่งให้สถานการณ์เงินเฟ้อลดลงอย่างเร็วที่สุด จากเดิมที่นักลงทุนในตลาดคาดการณ์กันเอาไว้ว่า Fed กำลังพยายามชะลอความรุนแรงของดอกเบี้ยนโยบายลงให้ไปสู่การขึ้นดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 0.25 ต่อการประชุม FOMC 1 ครั้ง เพื่อไม่ให้สภาพคล่องในตลาดทุนนั้นลดลงมากเกินไปจนไปกระตุ้นให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยระหว่างห้วงปี 2566-2567 เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่ารัฐบาล Joe Biden กำลังจะหมดวาระ และเข้าสู่ฤดูการรณรงค์เลือกตั้งใหม่ภายใน 1 ปีข้างหน้า พรรค Democrat จึงมีความกังวลในประเด็นดังกล่าวเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นประเด็นที่อาจส่งผลให้ Joe Biden หรือผู้สืบทอดอำนาจภายในพรรคไม่ได้รับเลือกตั้งกลับมาเป็นรัฐบาลในปี 2568 ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ว่าผลของการประชุม FOMC ครั้งนี้จะออกมาในทิศทางใด สิ่งที่ชัดเจนที่สุดจากถ้อยแถลงของ Jerome Powell ก็คือ สถานการณ์เงินเฟ้อยังไม่มีแนวโน้มจะลดลงไปสู่จุดที่สามารถควบคุมได้
โดยสาเหตุสำคัญที่เงินเฟ้อยังไม่อ่อนตัวลงง่าย ๆ นั้นเป็นเพราะพฤติกรรมของนักลงทุนในตลาดส่วนใหญ่ หรือแม้แต่นักธุรกิจรายใหญ่ทั้งหลายยังมีความเชื่อกันอยู่ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ค่อนข้างดี และมีโอกาสเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยต่ำ ทำให้ทุกครั้งที่ดัชนีและสินทรัพย์เสี่ยงในตลาดปรับราคาต่ำลง มักจะมีคนกลุ่มนี้เข้าไปช้อนซื้อจนมูลค่าของสินทรัพย์แต่ละชนิดถูกดันขึ้นไปจากมูลค่าที่แท้จริงเมื่อเทียบกับบริบทแวดล้อม อีกทั้งตัวเลขอัตราการว่างงานเมื่อห้วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมายังต่ำกว่าเฉลี่ยที่คาดการณ์ไว้ โดยมีผู้มาลงทะเบียนขอรับการสนับสนุนสวัสดิการคนว่างงานเพียง 190,000 กว่าคนเท่านั้น มีนัยให้เห็นถึงการจ้างงานที่ยังแข็งแกร่ง บวกกับฤดูหนาวที่ผ่านมานี้ ทั้งสหรัฐฯ และยุโรปไม่ได้ประสบกับสภาพอากาศที่หนาวจัด ส่งผลให้ราคาพลังงานไม่ถูกผลักตัวให้สูงขึ้น ประชาชนส่วนมากยังมีกำลังซื้อ กิจกรรมทางเศรษฐกิจจึงดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่น
อย่างไรก็ดี Jerome Powell เองก็ยอมรับออกมาตามตรงว่าขณะนี้ Fed ยังไม่สามารถตัดสินใจได้อย่างแน่ชัดว่าจะดำเนินการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างไรในเดือนมีนาคม 2566 เพราะปัจจุบันทาง Fed ยังต้องรอข้อมูลสถิติสำหรับพิจารณาอัตราเงินเฟ้อชุดอื่น ๆ เช่น ดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index) ฯลฯ ที่จะได้รับจากหน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ ก่อน จึงจะสามารถตั้งข้อสรุปได้ถึงแนวทางการจัดการเงินเฟ้อ ซึ่งจุดนี้จะเป็นความท้าทายครั้งสำคัญของ Fed และ Jerome Powell ที่เป็นนักการธนาคารในสายพรรค Republican ภายใต้รัฐบาลของพรรค Democrat โดยในห้วงต่อไปนี้ Jerome Powell จะได้รับความกดดันอย่างรุนแรงทั้งจากพรรค Republican ที่ปัจจุบันนี้สามารถกุมเสียงส่วนใหญ่ในสภาคองเกรสได้จากการเลือกตั้งกลางเทอมครั้งที่ผ่านมา และแสดงออกอย่างตรงไปตรงมาจะให้ Fed ทำให้เงินเฟ้อลดต่ำลง และลดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศลงให้ได้อย่างเร็วที่สุด แม้ว่าจะทำให้ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปลายปี 2566
ทางด้านพรรค Democrat เอง ไม่ว่าจะ Elizabeth Warren หรือ Sherrod Brown ต่างก็ออกมาวิจารณ์ถึงท่าทีของ Fed ที่ยังไม่ยอมประกาศยุติการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายว่าอาจส่งผลเสียถึงภาคเอกชนในประเทศอย่างรุนแรงจากการขาดสภาพคล่องทางการเงิน และจะส่งผลสืบเนื่องต่อไปถึงการผลักภาระด้านต้นทุนการประกอบธุรกิจมายังกลุ่มผู้บริโภคผ่านการขึ้นราคาสินค้าอย่างต่อเนื่อง พร้อม ๆ ไปกับการทำให้แรงงานกว่า 2,000,000 – 3,000,000 คน ต้องถูกไล่ออก แน่นอนในฐานะที่พรรค Democrat เป็นรัฐบาลในทำเนียบขาว เจตนาและความต้องการหลักจึงเป็นการยกเลิกยุคดอกเบี้ยขาขึ้น และการรัดเข็มขัดให้เร็วที่สุด แล้วกลับไปอัดฉีดเงินเข้าสู่ตลาดอีกครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้ภาคเอกชนเกิดความไม่พอใจในรัฐบาล และเปลี่ยนไปสนับสนุนพรรค Republican ในการเลือกตั้งครั้งถัดไป การลงทุนในเดือนมีนาคมนี้จึงถือว่าค่อนข้างมีความเสี่ยงต่ออัตราการผันผวนของราคาสินทรัพย์จากความไม่แน่นอนในทิศทางนโยบายของ Fed นักลงทุนจึงควรวางแผนและเตรียมตัวรับมือกับข่าวการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุม FOMC วันที่ 21-22 มีนาคม 2566 อย่างรอบคอบ