หากจะพูดถึงการแข่ง Super Bowl คงเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่ามันคือรอบชิงชนะเลิศของกีฬาคนชนคน หรืออเมริกันฟุตบอล กีฬาอันดับ 1 ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะจัดขึ้นในช่วงวันอาทิตย์สุดท้ายของเดือนมกราคม หรือวันอาทิตย์แรกของเดือนกุมภาพันธ์ ภายใต้การจัดงานของ NFL หรือ National Football League โดยที่ Super Bowl 2023 (ครั้งที่ 57) ได้เสร็จสิ้นไปแล้วเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา ณ State Farm Stadium รัฐแอริโซนา ด้วยชัยชนะของทีม Kansas City Chiefs ในฤดูกาลนี้
สิ่งที่เป็นเหมือนจุดสนใจหรือเรียกแขกของ Super Bowl 2023 ในครั้งนี้ นอกจากบรรดาคอกีฬาที่ไปรวมตัวกันแน่นขนัดในสนามแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่าคือการกลับมาแสดงโชว์ของ Diva ตัวแม่อย่าง Rihanna ที่กลับมาจับไมค์อีกครั้งในรอบ 7 ปี แสดงสดในช่วงพักครึ่ง ถึงขนาดที่ว่า Cara Delevingne นักแสดงและนางแบบชื่อดัง ใส่เสื้อยืดที่สกรีนข้อความว่า “RIHANNA CONCERT INTERRUPTED BY A FOOTBALL GAME, WEIRD BUT WHATEVER” ซึ่งแปลได้ว่า “คอนเสิร์ตของ Rihanna ถูกขัดจังหวะด้วยการแข่ง อาจฟังดูแปลก ๆ แต่ก็นะ” เพื่อเป็นการแสดงออกว่า ไม่ว่าดารา Hollywood คนไหนก็แล้วแต่ที่ไปรวมกันอยู่ ณ State Farm Stadium เพื่อชมการแข่ง แต่เธอนี่แหละที่ไปเพื่อดู Rihanna แค่ในช่วงพักครึ่งโดยเฉพาะ
และมันยังไม่ใช่แค่การมีศิลปินชื่อดังไปแสดงโชว์พักครึ่ง ซึ่งกลายเป็นธรรมเนียมของ Super Bowl ไปแล้ว วงการภาพยนตร์เองก็มักจะปล่อยตัวอย่างหรือสปอตโฆษณาใหม่ ๆ ของภาพยนตร์ที่กำลังจะเข้าฉาย ในช่วง Super Bowl นี้ด้วยเช่นกัน ผ่านการแข่งขันเป็นที่แรก หรือในยุคสมัยนี้ก็จะเผยแพร่ไปพร้อม ๆ กันในสื่อโซเชียลมีเดีย ที่เรียกกันว่า Super Bowl Trailer
เว็บไซต์ GQ Thailand ได้เคยรวมเกร็ดน่าสนใจเกี่ยวกับงานแข่ง Super Bowl ครั้งที่ 55 เมื่อ 2 ปีก่อน เอาไว้ ในแง่ประเด็นที่นอกเหนือจากเรื่องกีฬา เช่น เทศกาล Super Bowl คือวันบริโภคปีกไก่ของชาวอเมริกัน จากรายงานของสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมอาหารและการพาณิชย์ ว่าเกมนัดชิงนั้นจะเป็นวันที่ประชาชนสหรัฐอเมริกา บริโภคอาหารมากที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากวันขอบคุณพระเจ้า และปีกไก่คืออาหารที่ได้รับความนิยมมากที่สุด
ขณะที่ในแง่ของเหล่าศิลปินผู้มาแสดงโชว์ช่วงพักครึ่ง เขาเหล่านั้นจะไม่ได้รับค่าตัวเลย แต่ทาง NFL จะจัดการดูแลในค่าใช้จ่ายส่วนต่าง ๆ รวมถึงการแสดงให้แทน ซึ่งผลตอบแทนที่เขาได้รับก็ดูจะคุ้มค่า เพราะการแสดงใน Super Bowl มีผลทำให้ยอดดาวน์โหลดอัลบั้มของพวกเขาพุ่งพรวดอย่างมหาศาล ในตัวอย่างของ Jennifer Lopez และ Shakira ที่ขึ้นโชว์ใน Super Bowl ครั้งที่ 54 โดยในภายหลังจากนั้น ยอดดาวน์โหลดเพลงของพวกเธอก็สูงขึ้นถึง 893% ตามสถิติที่บันทึกไว้ใน Billboard แม้แต่ในแง่ของผลหลังการแข่ง ก็ยังมีเรื่องของ Super Sick Monday เพราะประเพณีที่การแข่งจัดในวันอาทิตย์ ทำให้มีคนลาหยุดในวันจันทร์จำนวนมาก โดยเฉพาะคนที่ลาป่วยไปหลบเลียแผลใจเพราะเชียร์ทีมที่แพ้ เป็นต้น
…….Super Bowl จึงกลายเป็นการแข่งที่แสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า มันเป็นเทศกาลกีฬาที่มีมูลค่ามหาศาลทั้งในแง่ธุรกิจการตลาด และในด้านวัฒนธรรมของคนอเมริกัน ทั้งนี้ เคยมีการเปรียบเทียบ Super Bowl กับฟุตบอลโลกเอาไว้ โดยเว็บไซต์ Sporting News ได้พิจารณาโดยสรุปว่า แม้ในแง่ของความนิยมหรือรายได้นั้น อเมริกันฟุตบอลอาจจะไม่สามารถสู้ฟุตบอลได้ แต่ NFL ก็ยังเป็นลีกที่สร้างมูลค่ามากที่สุดรองจากฟุตบอลโลก เพราะหากมองในแง่การลงทุนของบริษัทกีฬาในสหรัฐอเมริกา พวกเขาก็จะต้องเลือกไปลงทุนกับอเมริกันฟุตบอลก่อนเป็น Priority หลัก ตามวัฒนธรรมของคนอเมริกันที่นิยมคลั่งไคล้บอลทรงรีนี้จนแทบจะเรียกได้ว่าเป็นศาสนา
ในทางกลับกัน ขณะที่กีฬาอื่นซึ่งมีพื้นเพจากอเมริกันอย่างบาสเก็ตบอลหรือเบสบอลดูจะได้รับความนิยมมาก แม้แต่ในแถบเอเชียของเรา แต่อเมริกันฟุตบอลกลับไม่สามารถเป็นที่นิยมได้เท่า 2 ชนิดแรก อาจจะด้วยภาพลักษณ์ของมันที่ดูอันตราย จากการปะทะกันด้วยการแทคเคิล พุ่งชนจนกระดูกแตกกระดูกหัก บาดเจ็บสาหัสกันเป็นว่าเล่น ต้องใส่เครื่องป้องกันยิ่งกว่าชกมวย หรือบางกรณี เชื่อว่าต้องมีหลายคนที่แยกไม่ออกและสับสนระหว่างอเมริกันฟุตบอลกับรักบี้ ซึ่งอันที่จริงแล้วก็ไม่น่าแปลก เพราะ “บิดาแห่งอเมริกันฟุตบอล” หรือ “Walter Camp” โค้ชฟุตบอลที่มหาวิทยาลัย Yale ได้ดัดแปลงอเมริกันฟุตบอลขึ้นมาจากรักบี้ฟุตบอลจริง ๆ เพื่อต้องการให้มันกลายเป็นกีฬาบอลที่ต่อสู้กันอย่างจริงจังและรุนแรงขึ้น จึงได้เพิ่มการพุ่งชนและกติกาอื่น ๆ เข้าไปในการประชุมฟุตบอลวิทยาลัยของสหรัฐอเมริกา เมื่อ พ.ศ. 2423 โดยการประชุมในตอนนั้นมีเป้าหมายเพื่อสร้างกีฬาของคนอเมริกัน และจุดสังเกตง่าย ๆ ในการแยกกีฬา 2 ชนิดนี้ก็คือ นักกีฬารักบี้จะใส่ชุดแข่งที่สบาย เคลื่อนไหวง่าย เหมือนกับนักฟุตบอลหรือกีฬาทั่วไป ขณะที่อเมริกันฟุตบอลนั้นต้องจัดเต็มป้องกันทุกอย่าง และไม่สามารถขาดหมวกกันน็อคได้เลย
จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2545 อาจารย์ ริอิจิโระ อินากาคิ ได้เขียนเรื่อง Eyeshield 21 ขึ้น โดยร่วมงานกับนักวาดการ์ตูนมังงะฝีมือเยี่ยม อาจารย์ ยูสึเกะ มุราตะ ที่ได้ถ่ายทอดเรื่องราวของเหล่านักอเมริกันฟุตบอลวัยมัธยมปลายของญี่ปุ่น ผ่านการลงเป็นตอนรายสัปดาห์ในนิตยสาร Shonen Jump และรวมเล่มอีก 37 เล่ม ที่เขียนต่อเนื่องยาวนานจนจบลงในปี พ.ศ. 2552
Eyeshield 21 เล่าเรื่องของ โคบายาคาว่า เซนะ เด็กปี 1 ของโรงเรียนมัธยมปลายเดมอน ที่ก่อนหน้านั้นใช้ชีวิตเป็นเด็กที่โดนบูลลี่จากพวกเกเรมาตลอด และมักจะถูกจิกหัวใช้เป็นเบ๊ ให้วิ่งไปซื้อของอยู่บ่อยครั้งจากเด็กเกเรเหล่านั้น แต่ดันเกิดผลพลอยได้ที่ไม่คาดคิดกับเจ้าตัว เซนะกลับกลายเป็นคนที่มีฝีเท้าไวมาก เพราะชีวิตอันแสนกดดันที่ต้องวิ่งไปซื้อของให้ทันเวลา เมื่อมาเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนเดมอน ฝีเท้าของเขาจึงเกิดไปต้องตาของ ฮิรุม่า โยอิจิ รุ่นพี่ปี 2 สุดโหด กัปตันและประธานชมรมอเมริกันฟุตบอลของโรงเรียนที่ขาลงอย่างหนัก ไม่มีสมาชิกเพิ่มให้ครบทีมเลยนับตั้งแต่ก่อตั้งชมรม
เซนะจึงถูกฮิรุม่าลากตัวมาเล่นในตำแหน่งตัววิ่งของทีมหรือ “รันนิ่งแบ็ค” (Running Back) และปิดบังตัวตนในชื่อ Eyeshield 21 หรือก็คือใช้กระจกตาทึบแสง ปกปิดหน้าจริงทับไว้ใต้หมวกกันน็อคอีกที เพื่อไม่ให้รุ่นพี่ที่ดูแลกันมาตั้งแต่เด็กอย่าง อาเนะซากิ มาโมริ เป็นห่วง หรือถูกนักกีฬาจากชมรมอื่นมารุมจีบแย่งตัว หลังจากนั้น ชีวิตของเซนะก็พลิกผัน จากเบ๊สุดกระจอกไปเป็นฮีโร่อเมริกันฟุตบอลที่ใคร ๆ ก็รู้จักในฉายา Eyeshield 21
การนำเสนอเรื่องราวของ Eyeshield 21 เป็น Plot แบบสมัยนิยมของการ์ตูนกีฬา ที่เล่าเรื่องจากทีมอเมริกันฟุตบอล Underdog ไต่เต้าขึ้นไปสู่จุดที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งเป้าหมายของทีมตัวเอกในเรื่องก็คือการชนะเลิศถ้วย Christmas Bowl ที่เปรียบได้กับ Super Bowl ของนักอเมริกันฟุตบอลรุ่นมัธยมของญี่ปุ่น และสอดแทรกไปด้วยมุกตลก แต่สิ่งสำคัญคือการถ่ายทอดความเป็นอเมริกันฟุตบอลออกมาได้ดี หากได้ลองอ่านไปจนจบเรื่อง ผู้เขียนทั้ง 2 ไม่ได้ยัดเยียดกติกาของอเมริกันฟุตบอลเข้ามาทีเดียวในตอนแรกของเรื่อง แต่เลือกจะอธิบายเป็นระยะ ๆ ตามสถานการณ์ในการแข่งนัดต่าง ๆ ทำให้ผู้อ่านได้มีเวลาทำความเข้าใจกับกติกาของเกมกีฬานี้ได้อยู่ตลอดการติดตาม รวมทั้งยังพยายามโยงไปถึงเรื่องราวของวงการ NFL ในประเทศแม่อย่างสหรัฐอเมริกาด้วย แม้กระทั่งลายเส้นหรือการออกแบบตัว Character ที่เป็น Mascot ของทีมต่าง ๆ ภายในเรื่อง อาจารย์มุราตะก็เลือกที่จะออกแบบให้มีกลิ่นอายของคอมิคอเมริกัน แสดงให้เห็นการเชื่อมโยงของ 2 วัฒนธรรม (มุกที่แซวเรื่องความสับสนของอเมริกันฟุตบอลกับรักบี้ ได้ถูกนำมาขยี้อยู่หลายครั้งในช่วงต้นเรื่อง)
ในวงการการ์ตูนกีฬาของญี่ปุ่น อาจจะมีหลายคนที่เห็นตรงกันว่า Eyeshield 21 เรื่องนี้ไม่ได้ขึ้นหิ้งถึงระดับ Captain Tsubasa สุดยอดนักฟุตบอลญี่ปุ่น หรือ Slam Dunk ตำนานทีมบาสเกตบอล แต่มันก็เคยสร้างปรากฏการณ์ที่ทำให้เกิดความนิยมอเมริกันฟุตบอลในหมู่เด็ก ๆ ชาวญี่ปุ่นขึ้นมาเช่นกัน และหากลองค้นหาดูแล้ว จะพบว่ากีฬาชนิดนี้ก็เคยมีการจัดแข่งขันระดับนานาชาติอยู่
สหรัฐอเมริกาเคยมีความพยายามที่จะผลักดันอเมริกันฟุตบอลเข้าไปสู่โอลิมปิก แต่ก็ทำไม่สำเร็จ สำหรับความพยายามทดสอบในโอลิมปิกฤดูร้อนเมื่อ พ.ศ. 2475 แต่ทว่ากลับมาสำเร็จในหมวดกีฬา World Games ซึ่งจัดโดยคณะกรรมการโอลิมปิกสากลหรือ IOC (International Olympic Committee) ที่เป็นการแข่งขันกีฬาประเภทหนึ่งสำหรับทั่วโลก โดยมีกีฬาอเมริกันฟุตบอลอยู่ในหมวดกีฬาที่ถูกเชิญ
เมื่อพ.ศ. 2542 มีการจัดการแข่งขันอเมริกันฟุตบอลระดับโลกหรือ IFAF World Championship ขึ้นเป็นครั้งแรก และจัดขึ้นทุก ๆ 4 ปี โดยตลอดประวัติศาสตร์การแข่งจนถึงล่าสุดในปี พ.ศ. 2558 มีทีมที่เข้าร่วมจากหลายโซนของโลก ทั้ง ออสเตรเลีย แคนาดา บราซิล ออสเตรีย ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เม็กซิโก สวีเดน และสหรัฐอเมริกา ซึ่งแน่นอนว่า ทีมที่เป็นเจ้าของแชมป์โลกสูงสุดนั้นหนีไม่พ้นต้นตำรับอเมริกัน มากสุดถึง 3 ครั้ง ทว่า ในการแข่งครั้งแรก แชมป์โลกอเมริกันฟุตบอลทีมแรกก็คือญี่ปุ่น ประเทศแม่ของ Eyeshield 21 นั่นเอง แถมยังเป็นแชมป์ถึง 2 สมัยด้วย ดังนั้น ท่านที่อ่านจนถึงตอนจบของ Eyeshield 21 แล้วครหาว่า การที่ทีมชาติญี่ปุ่นไปเจอกับสหรัฐอเมริกาในรอบชิงของ World Cup เป็นเพราะบทอวยของทีมพระเอก นั่นอาจจะถูกเพียงส่วนหนึ่ง เพราะถ้าดูจากข้อมูลแล้ว ญี่ปุ่นนั้นก็มีฝีมือด้านกีฬานี้จริง ๆ
ส่วนในประเทศไทย ไม่มีวี่แววของอเมริกันฟุตบอลว่าจะเติบโตและฮิตได้ เพราะด้วยความไกลตัวและความแพร่หลายที่ไม่สู้ฟุตบอล เราจะรู้จักแต่ Superstar ลูกหนังอย่าง Messi หรือ Ronaldo แต่คงจะมีน้อยคนมาก ๆ ที่รู้จัก เควิน เกษวิหาร ผู้เล่น NFL เชื้อสายไทยที่เกิดและเติบโตในสหรัฐอเมริกา ที่สร้างตำนานไว้ในตำแหน่งเซฟตี้ (ผู้เล่นทีมรับที่เป็นแนวป้องกันสุดท้าย) ของทีม Cincinnati Bengals ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2544-2549 ถือเป็นนักกีฬาที่มีชื่อเสียงมากคนหนึ่งในถิ่นของเขา และจากประสบการณ์ที่เขาให้สัมภาษณ์เอาไว้ใน Sport Illustrated เขาต้องเผชิญกับการดูแคลนจากนักกีฬาคนอื่น ๆ ที่ตัวโตกว่ามาตลอด การที่เขาสูง 185 เซนติเมตรนั้นถือว่าตัวเล็กมากเมื่อเทียบกับฝรั่งอเมริกัน และถูกเหยียดจากเชื้อสายเอเชีย ซึ่งเควินต่อสู้กับการเหยียดเชื้อชาติเหล่านี้ด้วยฝีมือเท่านั้น ราวกับตัวละครบางตัวจากเรื่อง Eyeshield 21 ที่คิดจะไปล่าฝันใน NFL ไม่มีผิด โดยในปัจจุบัน หลังจากสร้างตำนานลงเล่นไว้ถึง 87 เกม และติด 1 ใน 5 เซฟตี้ที่ดีที่สุดตลอดกาลของ Bengals เควินได้ผันตัวไปเป็นโค้ชแทน
ความสำเร็จของอเมริกันฟุตบอลนับตั้งแต่ถูกสร้างโดย Walter Camp อาจจะไม่ได้แพร่หลายได้กว้างขวางถึงขนาดตีคู่สูสีกับฟุตบอล หรือกีฬาชาติเดียวกันอย่างบาสเกตบอล …..แต่หัวใจสำคัญคือ การที่มันสามารถเป็นกีฬาซึ่งเหมือนศูนย์รวมใจของอเมริกันชนได้ อย่างในวันที่มี Super Bowl ถ้าเปรียบกับบ้านเราให้เห็นภาพ คงจะเหมือนกับวันฉายละครสุดฮิตตอนจบ …..และราวกับว่า Walter Camp จับจุดถูกถึงคำกล่าวของคนอเมริกันที่ว่า มีความเป็นนักกีฬาอยู่ในสายเลือด ผู้เล่น MVP จะถูกยกย่องราวกับเป็นซูเปอร์ฮีโร่ มันคือความเข้มแข็งของวัฒนธรรมกีฬาที่หาอะไรมาสั่นคลอนหรือเปลี่ยนกระแสได้ยากมากในสังคมอเมริกัน ซึ่งขนาดฟุตบอลก็ยังถูกเรียกว่า Soccer แทน อาจจะด้วยมุมมองว่าฟุตบอลสำหรับพวกเขาคือการแทคเคิลหฤโหดเหล่านี้มากกว่า นอกจากนี้คงเป็น Soft Power ด้านกีฬาที่น่าศึกษาด้วยว่า…..เมื่อสามารถสร้างอะไรก็ตามที่เป็นชาตินิยมได้ถูกจุด มันจะกลายเป็นทั้งความสุขสนุกสนาน ความฝันของผู้คน รวมถึงสิ่งที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้
อ้างอิง
https://hmong.in.th/wiki/Walter_Camp
https://www.thairath.co.th/sport/others/2628678
https://www.sanook.com/sport/895475/