มีข่าวดีมาฝาก!! เมื่อมหาอำนาจแห่งภูมิภาคตะวันออกกลางส่งสัญญาณว่าจะ “คืนดีกัน” เมื่อ 10 มีนาคม 2566 ทำให้ทั่วโลกตื่นเต้นและจับตามองความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจนี้อย่างใกล้ชิด มหาอำนาจที่เราพูดถึงกันอยู่นี้ ฝั่งหนึ่งคือ “ซาอุดีอาระเบีย” ผู้นำด้านเศรษฐกิจและโลกมุสลิมนิกายซุนนี ประเทศที่ร่ำรวยน้ำมันและมีบทบาทการทูตโดดเด่นในประชาคมระหว่างประเทศเมื่อปี 2565 ส่วนอีกฝั่งหนึ่งคือ “อิหร่าน” ผู้ที่ครอบครองทรัพยากรน้ำมันมหาศาลและเป็นผู้นำในโลกมุสลิมนิกายชีอะห์ แถมยังมีโครงการพัฒนานิวเคลียร์ที่ทำให้อิหร่านเป็นที่จับตามองของซาอุดีอาระเบียและมหาอำนาจนอกภูมิภาคด้วย… เราต่างรู้กันว่า ความสัมพันธ์ระหว่างซาอุดีอาระเบียกับอิหร่านที่ผ่านมามีความท้าทายไม่น้อย ทั้ง 2 ประเทศมีความแตกต่างกันหลายเรื่อง และยังมีความขัดแย้งกันในบางประเด็นด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสนับสนุนกองกำลังติดอาวุธในพื้นที่ต่าง ๆ หรือการดำเนินนโยบายความมั่นคงในภูมิภาค
เมื่อดูจากประวัติศาสตร์อันยาวนานและซับซ้อนของภูมิภาคตะวันออกกลาง…รวมทั้งเหตุการณ์การประท้วงเมื่อ 7 ปีที่แล้วที่ทำให้ความสัมพันธ์อิหร่าน-ซาอุดีอาระเบียเสื่อมลง การที่ทั้ง 2 ประเทศที่มีความแตกต่างและขัดแย้งกันนี้กำลังจะเปลี่ยนท่าทีไปในทางที่เป็นผลดีต่อความร่วมมือระหว่างกัน และเสริมสร้างความมั่นคงของภูมิภาคจึงเป็นเรื่องน่ายินดี ขณะเดียวกันก็เป็นเรื่องที่น่าสงสัยไม่น้อยว่า การปรับความสัมพันธ์ครั้งนี้เกิดขึ้นได้ยังไง ทั้ง 2 ประเทศจะทำยังไรต่อไป และจะทำได้จริงหรือเปล่า?
ตอบคำถามแรก การปรับท่าทีของซาอุดีอาระเบียและอิหร่านครั้งนี้ เกิดขึ้นได้ยังไง ขอเล่าก่อนว่า ข่าวสารเกี่ยวกับการปรับความสัมพันธ์และการประกาศถ้อยแถลงร่วมระหว่างซาอุดีอาระเบียกับอิหร่านครั้งนี้ เป็นผลจากการที่ผู้แทนระดับสูงของซาอุดีอาระเบียและอิหร่านไปพบและพูดคุยกันที่กรุงปักกิ่ง จีน ตามคำเชิญของ นายหวังอี้ ประธานคณะกรรมาธิการวิเทศสัมพันธ์พรรคคอมมิวนิสต์จีน ว่ากันว่า “จีน” นี้คือผู้มีบทบาทสำคัญ ต่อจากอิรักและโอมานที่พยายามเชื่อมความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ประเทศมาก่อนหน้านี้ ตอนนี้เป็นทีของจีนที่พยายามสานสัมพันธ์ให้อิหร่านและซาอุดีอาระเบีย โดยจีนแสดงความมุ่งมั่นตั้งแต่ครั้งที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงไปเยือนซาอุดอาระเบียเมื่อธันวาคม 2565 และไปเสนอไอเดียนี้ จนกระทั่งออกมาเป็นถ้อยแถลงร่วมกันของทั้ง 3 ฝ่ายเมื่อ 10 มีนาคม 2566
สำหรับใจความสำคัญของถ้อยแถลงดังกล่าว คือ “ตามที่ผู้นำจีนได้เสนอเป็นเจ้าภาพและจัดให้มีการพูดคุยระหว่างผู้แทนของอิหร่านและซาอุดีอาระเบีย เพื่อให้ทุกฝ่ายได้บรรลุเป้าหมายการแก้ไขความเห็นต่างและเสริมสร้างการทูตระหว่างกัน ตลอดจนเพื่อให้สอดคล้องกับหลักการของสหประชาชาติและองค์การความร่วมมืออิสลาม (Organisation of Islamic Cooperation-OIC) ซาอุดีอาระเบียและอิหร่านขอบคุณจีนที่เป็นเจ้าภาพจัดการหารือนี้ และขอประกาศข้อตกลงร่วมกันว่าจะฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน โดยจะเปิดสถานเอกอัครราชทูตอระหว่างกันอีกครั้งภายในระยะเวลา 2 เดือนข้างหน้า และจะเคารพอธิปไตย ตลอดจนไม่แทรกแซงกิจการภายในระหว่างกัน” อาจเรียกได้ว่า ถ้อยแถลงร่วมดังกล่าวเป็นข่าวดีสำหรับทั้ง 2 ประเทศและภูมิภาคตะวันออกกลาง รวมทั้งเป็นข่าวดีที่จีนภาคภูมิใจในฐานะได้เป็นผู้ช่วยให้ 2 ประเทศได้ปรับความสัมพันธ์กันไปในทิศทางที่ดีขึ้น ทำให้เลขาธิการสหประชาชาติออกมาชื่นชมบทบาทของจีน แม้กระทั่งสหรัฐอเมริกาก็ออกมาแสดงความยินดีกับเรื่องนี้ด้วย
เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่จีนสมควรได้เครดิตจากประชาคมระหว่างประเทศ แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า กระบวนการปรับความสัมพันธ์ระหว่างอิหร่านกับซาอุดีอาระเบียนี้ จริง ๆ แล้วเกิดขึ้นและดำเนินการมาแล้วอย่างน้อย ๆ 2 ปี ที่ผ่านมาก็มีอิรักและโอมานที่เป็นตัวกลาง (mediator) ในการจัดการพูดคุยของทั้ง 2 ฝ่าย เหมือนกับจีนในตอนนี้ และทั้งซาอุดีอาระเบียกับอิหร่านเองก็พยายามร่วมมือด้วย เพราะต้องการ “ปรับภาพลักษณ์” ของประเทศว่าสนับสนุนสันติภาพมากกว่าความขัดแย้ง ต้องการ “เพิ่มโอกาสด้านเศรษฐกิจ” ให้ทำมาค้าขายระหว่างประเทศได้ง่ายขึ้น และไม่ต้องการให้ประเทศอื่น ๆ มาวิจารณ์ว่าทั้ง 2 ประเทศน่ะแหละคือตัวการที่ทำให้ภูมิภาคมีแต่ความวุ่นวาย ดังนั้น กระบวนการเจรจาครั้งนี้สำเร็จลุล่วงได้ด้วยความมุ่งหมายของทุก ๆ ฝ่าย และต้องยอมรับว่า จีนเองก็มีจังหวะที่ยอดเยี่ยม เพราะปัจจุบันจีนมีอิทธิพลมากขึ้นต่อทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งด้วยเรื่องการค้าพลังงาน และการลงทุน จึงสามารถประกาศความสำเร็จนี้ให้เป็นผลงานว่าจีนจะสามารถมีบทบาทเชิงสร้างสรรค์ต่อสันติภาพโลกต่อไปได้
คำถามที่สอง ทั้ง 2 ประเทศจะดำเนินการอะไรต่อไปเพื่อให้การปรับความสัมพันธ์มีความคืบหน้า แน่นอนสิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นได้ง่ายที่สุด คือ การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอิหร่านและซาอุดีอาระเบียจะไปพบและพูดคุยกันอย่างจริงจัง เพื่อนำนโยบายในถ้อยแถลงดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติ (implementation) โดยเฉพาะเรื่องการแต่งตั้งเอกอัครราชทูตเพื่อไปประจำการในสถานเอกอัครราชทูตที่กำลังจะเปิดทำการใหม่อีกครั้งในทั้ง 2 ประเทศ ก่อนหน้านี้ ซาอุดีอาระเบียเคยมีสถานเอกอัครราชทูตในกรุงเตหะราน อิหร่าน จนกระทั่งเมื่อปี 2559 ก็ปิดทำการไป เพราะความสัมพันธ์ที่ตกต่ำและเกิดเหตุโจมตีสถานที่ดังกล่าว
หลังจากการเปิดสถานเอกอัครราชทูต ดูเหมือนว่าเรื่องต่อไปที่ทั้ง 2 มหาอำนาจแห่งตะวันออกกลางดังกล่าวต้องเริ่มร่วมมือกันมากขึ้น คือ การจัดการความสัมพันธ์ทวิภาคี ด้วยนโยบาย neighbourhood policy และการบริหารจัดการความมั่นคงในภูมิภาค ซึ่งไม่น่าจะเป็นเรื่องง่าย… เพราะความขัดแย้งที่ซับซ้อนอย่างยิ่งในภูมิภาคตะวันออกกลางถือว่าเป็นเรื่องที่มีหลายปัจจัยมาเกี่ยวข้อง และอาจนำไปสู่การคาดเดาคำตอบของคำถามที่ 3 ว่า ทั้ง 2 ฝ่ายจะร่วมมือกันเพื่อสันติภาพและเสถียรภาพของตะวันออกกลางได้มากน้อยแค่ไหน
มีหลายเรื่องที่ซาอุดีอาระเบียและอิหร่านต้องร่วมมือกัน แต่ดูเหมือนว่าบทพิสูจน์สำคัญจะอยู่ที่สถานการณ์ในเยเมน…
สถานการณ์ความขัดแย้งในเยเมนสำคัญต่อเรื่องนี้ เพราะการต่อสู้ที่เริ่มตั้งแต่ปี 2557 และรุนแรงขึ้นกำลังดำเนินไประหว่างกองกำลัง 2 ฝ่าย ได้แก่ 1) กองกำลังของเยเมนที่ซาอุดีอาระเบียให้การสนับสนุน และ 2) กลุ่มฮูษี ซึ่งเพิ่งออกมาประกาศเมื่อ 12 มีนาคม 2566 ว่า กลุ่มฮูษีไม่ได้อยู่ใต้อำนาจหรือการสั่งการของอิหร่าน แต่กลุ่มฮูษีมีความเป็นพี่เป็นน้องกับอิหร่าน ดังนั้น ความหวังที่ซาอุดีอาระเบียจะปรับความสัมพันธ์กับอิหร่านเพื่อให้มาหยุดยั้งความเคลื่อนไหวกลุ่มฮูษีนั้น เป็นการประเมินที่ผิดพลาด !!! กลุ่มฮูษียังยืนยันด้วยว่าการแก้ไขสถานการณ์ในเยเมนจะต้องมาจากการเจรจาระหว่างเยเมนกับซาอุดีอาระเบียเท่านั้น
จะเห็นว่า….แค่เรื่องเยเมนก็น่าปวดหัวแล้ว ยังมีเรื่องอื่น ๆ ที่ซาอุดีอาระเบียและอิหร่านต้องหาทางออกร่วมกันอีก ไม่ว่าจะเรื่องอิสราเอล และการขยายอิทธิพลของมหาอำนาจอื่น ๆ ในตะวันออกกลาง (รวมทั้งจีนด้วย!) นอกจากนี้ อิหร่านต้องหาทางออกเกี่ยวกับข้อกล่าวหาที่หลายประเทศเชื่อว่าอิหร่านสนับสนุนกองกำลังในต่างประเทศอีก ทั้งในอิรัก เลบานอน และซีเรีย แม้ว่าดูเหมือนตอนนี้อิหร่านจะค่อนข้างมั่นใจว่าการปรับความสัมพันธ์กับซาอุดีอาระเบียจะเป็นผลดีต่อการแก้ไขปัญหาในเยเมน แต่น่าจะต้องติดตามท่าทีของกองกำลังพิทักษ์อิสลาม (Islamic Revolutionary Guard Corps) ของอิหร่านว่าจะเห็นพ้องกับเรื่องนี้แค่ไหน รวมทั้งต้องดูท่าทีของกลุ่มฮูษีต่อไปอีกสักพัก ว่าจะยอมเข้าสู่การเจรจาหรือไม่ ไม่เช่นนั้น…สถานการณ์เยเมนจะยังคงเป็นความท้าทายในการปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างอิหร่านกับซาอุดีอาระเบีย รวมทั้งเป็นวิกฤตด้านมนุษยธรรมและบั่นทอนความมั่นคงในภูมิภาคตะวันออกกลางต่อไป
————————————-