ปูมหลังเกี่ยวกับธนาคาร Silicon Valley Bank (SVB)
SVB นั้นก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2526 เป็นธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่งที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 16 ในสหรัฐฯ ตั้งอยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนีย มีสินทรัพย์ในการครอบครองทั้งหมดราว 200,000,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ โดยผลิตภัณฑ์หลักที่ธนาคารดังกล่าวนี้เสนอขายต่อนักลงทุนส่วนใหญ่ คือ สินเชื่อเพื่อธุรกิจ (business loan) รูปแบบต่างๆ อาทิ เงินกู้สำหรับการเข้าซื้อกิจการ และบริการจัดการสกุลเงินต่างประเทศ ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ SVB นั้นเป็นที่โด่งดังในกลุ่มนักลงทุนจำนวนมาก เป็นเพราะธนาคารแห่งนี้เป็นสถาบันการเงินแห่งเดียวที่มีฐานลูกค้าหลักเป็นกลุ่มบริษัทสตาร์ทอัพ และบริษัทด้านเทคโนโลยีจากชุมชน Silicon Valley เช่น Roblox, Quotient, Circle, Rocket Lab USA และ Roku[1]
SVB ล้มได้อย่างไร?
ก่อนจะไปถึงสิ่งที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์สั่งปิด SVB เมื่อ 10 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมานั้น ต้องอธิบายเป็นพื้นฐานก่อนว่าธุรกิจประเภทธนาคารนั้นมีวิธีการทำกำไรและสร้างการเติบโตอยู่ไม่กี่รูปแบบ หนึ่งในนั้นคือการปล่อยกู้โดยคาดหวังดอกเบี้ยจากผู้กู้แต่ละราย และในกรณีของ SVB ผู้กู้ส่วนใหญ่นั้นเป็นบริษัทเทคโนโลยีจาก Silicon Valley ที่ส่วนใหญ่ขาดทุนอย่างย่อยยับในห้วงที่ผ่านมาจากความขัดแย้งทางทหารระหว่างรัสเซีย-ยูเครน เมื่อบริษัทเหล่านั้นขาดทุนก็จะมีขีดความสามารถในการชำระหนี้ต่ำ ซึ่งทาง SVB เล็งเห็นความเป็นไปได้นี้มานานแล้ว จึงเลือกประกันความเสี่ยงด้วยการนำเงินทุนสำรองและเงินฝากของลูกค้าไปทุ่มซื้อพันธบัตรและหุ้นกู้ระยะยาว แต่อย่าลืมว่าห้วงที่ผ่านมาธนาคารกลางแห่งสหรัฐ (Fed) เดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปอย่างต่อเนื่องถึงร้อยละ 4.50 ภายในระยะเวลาเพียง 1 ปี จนเกิดภาวะตลาดดอกเบี้ยขาขึ้น[2]
สิ่งที่เป็นสัจธรรมที่สุดของยุคดอกเบี้ยขาขึ้น คือ การที่บริษัทเอกชนจะคลอดพันธบัตรและหุ้นกู้ดอกเบี้ย/ผลตอบแทนสูงเฉลี่ยร้อยละ 4-6 ออกมาเสนอขายแก่นักลงทุนในตลาด ประเด็นนี้ คือ ความเสี่ยงที่ SVB ละเลยไปในการนำเงินทุนสำรองออกไปซื้อพันธบัตรและหุ้นกู้ในห้วงก่อนปี 2565 ซึ่งยังไม่ได้เข้าสู่ยุคดอกเบี้ยขาขึ้น ทำให้ผลตอบแทนที่ได้รับอาจมีเฉลี่ยเพียงร้อยละ 1-2 จุดนี้หมายความว่าพันธบัตรและหุ้นกู้ที่ SVB ถือครองอยู่ขณะนี้มีมูลค่าต่ำกว่าที่ตลาดประเมิน (price in) ไปมหาศาลแล้ว (เพราะมูลค่าถูกกดลดลงไปต่ำกว่าราคาที่เคยซื้อ เนื่องจากมีพันธบัตรและหุ้นกู้ที่ออกหลังปี 2565 ให้ผลตอบแทนสูงกว่า ทำให้ SVB ไม่สามารถนำผลิตภัณฑ์เหล่านั้นไปขายทอดตลาดเพื่อนำสภาพคล่องคืนมาได้ในปริมาณที่เคยจ่ายไป เพราะจะขาดทุนทันที) แต่ด้วยเหตุที่ SVB ไม่มีทางเลือกอื่นใดแล้วจึงจะใช้วิธีการประกาศเพิ่มทุน เลยเกิดเป็นวิกฤตศรัทธาของลูกค้าและนำไปสู่เหตุการณ์ที่แห่ถอนเงินออกจากธนาคาร (Bank-run) จน SVB ขาดสภาพคล่องและต้องนำพันธบัตรและหุ้นกู้ที่เคยทุ่มซื้อไว้มาขายทอดตลาดในราคาต่ำกว่ามูลค่าเดิม(จนขาดทุนอย่างหนัก) เพื่อนำเงินมาคืนแก่ลูกค้า จนต้องปิดตัวลงไปในทันทีเมื่อ 10 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา[3]
ความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น และผลกระทบที่อาจลามมาถึงไทย
ตลอดห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมานักวิเคราะห์หลายคนต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าอาจก่อให้เกิดปรากฏการณ์โดมิโนแล้วพาให้ธนาคารหลายๆแห่งในสหรัฐฯ ล้มลงไปด้วย แต่ในความเป็นจริงแล้ว ความเสียหายที่เกิดขึ้นมันไม่ได้กระจายเป็นวงกว้างขนาดนั้น อย่างกรณีที่บอกว่าบริษัทขนาดใหญ่หลายแห่งใช้ SVB เป็นช่องทางการจ่ายเงินเดือนพนักงาน ไม่ได้หมายความว่าเงินของบริษัทนั้นๆจะอยู่ในธนาคารดังกล่าวเสียหมด และสามารถโอนให้ธนาคารอื่นเข้ามาดูแลได้ ส่วนกรณีที่คาดว่าธนาคารอื่นๆจะล้มตามนั้นแทบเป็นไปได้ยาก หากพิจารณากันที่ขนาดและปริมาณสินทรัพย์ที่ SVB ถือครองไว้ จะเห็นได้ว่าเทียบได้เพียงร้อยละ 6 ของปริมาณสินทรัพย์ที่ธนาคารอันดับ 1 ของสหรัฐฯ อย่าง JPMorgan Chase ถือครองไว้ กล่าวอย่างง่ายได้ว่ากรณี SVB ล้มนี้ เป็นเพียงวิกฤตขนาดเล็กที่วนเวียนอยู่กับประเด็นเรื่องสภาพคล่องที่สามารถแก้ไขได้ด้วยการเข้าไปแทรกแซงหรือการใช้มาตรการช่วยเหลือ ซึ่งไม่ได้สร้างความเสียหายในวงกว้างได้แบบที่สื่อมวลชนพยายามปลุกกระแสว่าจะเกิดวิกฤตคล้ายกรณี Lehman Brothers ขนาดนั้น
หากจะถามว่าความเสี่ยงที่เป็นผลกระทบต่อเนื่องมีหรือไม่ คงต้องตอบในเชิงหลักการว่าอาจจะมี เพราะอย่างที่กล่าวไปข้างต้น คือ ปัจจุบันเป็นยุคของดอกเบี้ยขาขึ้น บริษัทเอกชนจำนวนมาก และโดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์กำลังตกอยู่ในสถานะขาดสภาพคล่องทางการเงิน ซึ่งตามหลักแล้ว เมื่อใดก็ตามที่ธนาคารขาดสภาพคล่อง จะต้องรีบแก้ปัญหาด้วยการเทขายสินทรัพย์ที่ถือครองไว้ออกมา เพื่อนำมารักษาสภาพคล่องสำหรับลูกค้าที่อาจจะมาถอนเงินคืนในห้วงนี้ ทำให้สินทรัพย์เสี่ยงบางชนิดที่ธนาคารถือครองอยู่ เช่น หุ้นในตลาดหลักทรัพย์ อาจราคาร่วงลงจากการถูกเทขาย
ส่วนจะกระทบไทยแค่ไหนนั้น ตอบได้ว่าคงไม่กระทบ เพราะพอร์ตการลงทุนของธนาคารพาณิชย์ในไทยไม่ได้มีอัตราส่วนการลงทุนด้านเทคโนโลยีการเงิน (Fintech) และสตาร์ทอัพในต่างประเทศมากขนาดที่หลายๆฝ่ายกังวลกัน อย่างมากคาดว่าก็เพียงร้อยละ 1 นอกจากนี้ ภาครัฐไทยโดยเฉพาะธนาคารแห่งประเทศไทยมีนโยบายคุมความเข้มงวดกับธนาคารพาณิชย์ไทยในเรื่องการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลมาก จึงไม่มีธนาคารใดไปลงทุนถือครอง Cryptocurrencies ในต่างประเทศโดยตรง[4]
อย่างไรก็ดี เมื่อห้วงวันที่ 13 มีนาคม 2566 นั้นทาง Fed ได้ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ฝากทุกรายของ SVB แล้ว โดยประกาศจะจ่ายเงินคืนอย่างเต็มจำนวน และเข้าแทรกแซงเพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ SVB โดยสรุป จะเห็นได้ว่าปัญหาดังกล่าวนี้สามารถแก้ไขได้ สิ่งที่น่าสังเกตต่อไปคือหลังจากนี้ คือ Fed จะตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยในอัตราที่รุนแรงในระยะสั้น หรืออัตราเบา แต่กินระยะเวลานานขึ้นมากกว่า
อ้างอิง
- https://www.forbes.com/sites/tylerroush/2023/03/11/these-companies-roku-lendingclub-roblox-and-more-held-major-funds-in-silicon-valley-bank-when-it-crashed/?sh=74a8fb403d6e ↑
- https://www.ft.com/content/5e444ba2-0afc-49e8-bfec-5fc17ef7ee39 ↑
- https://www.cnbc.com/2023/03/12/former-svb-employee-offers-insight-into-the-banks-failings.html ↑
- https://www.tnnthailand.com/news/wealth/141126/ ↑