ความคืบหน้าล่าสุดของกลุ่มความร่วมมือด้านความมั่นคง 3 ฝ่าย ระหว่างออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร ที่มีการหารือของผู้นำทั้ง 3 ประเทศเมื่อ 13 มีนาคม 2566 ที่เมืองซานดิเอโก สหรัฐฯ ทำให้มีความชัดเจนมากขึ้นแล้วว่า ต่อจากนี้ สหรัฐอเมริกาจะเป็นผู้ขายเรือดำน้ำให้ออสเตรเลียจำนวน 5 ลำแรก โดยเป็นเรือดำน้ำชั้น Virginia ที่ใช้พลังงานนิวเคลียร์ขับเคลื่อน และจากนั้นภายใน 20 ปีจะแลกเปลี่ยน รวมทั้งสนับสนุนเทคโนโลยีให้ ตลอดจนเป็นตัวเชื่อมให้สหราชอาณาจักรเข้าไปช่วยออสเตรเลียพัฒนาเรือดำน้ำของตัวเอง ทั้งหมดนี้ทำไปเพื่อส่งเสริมศักยภาพด้านการทหารของออสเตรเลียให้มีขีดความสามารถในการปฏิบัติการทางทะเลมากขึ้น โดยมีเรือดำน้ำที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานนิวเคลียร์เป็นเครื่องมือชูโรง
เมื่อมีข่าวนี้เกิดขึ้นก็ตามมาด้วยกระแสวิจารณ์จากประเทศต่าง ๆ ทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ เพราะนอกจากต่อไปนี้ ออสเตรเลียจะมีเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ที่มีขีดความสามารถสูงมากแล้ว หลาย ๆ ประเทศยังหวั่นใจเมื่อมีการกล่าวถึง “นิวเคลียร์” โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านใกล้ ๆ ออสเตรเลียที่ย้ำแล้วย้ำอีกให้ความร่วมมือของกลุ่ม AUKUS เป็นไปอย่างโปร่งใสและเปิดเผยเพื่อให้ทุกฝ่ายทำความเข้าใจร่วมกัน
ดังนั้น ก้าวต่อไปที่สำคัญอันดับแรกของ AUKUS น่าจะเป็นการเน้นย้ำอีกหลาย ๆ ครั้งว่า ความร่วมมือและข้อตกลงในกรอบของ AUKUS ไม่มีเรื่องการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ แต่เป็นเรื่อง nuclear propulsion หรือการขับเคลื่อนยุทโธปกรณ์ด้วยพลังงานนิวเคลียร์ และการใช้พลังงานนิวเคลียร์เพื่อประโยชน์ด้านการคมนาคมขนส่ง โดยมีทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency – IAEA) รับทราบและรับรองแล้ว แถมในข้อตกลงของ AUKUS ก็เขียนไว้ชัดเจนว่าจะไม่เกี่ยวข้องกับอาวุธนิวเคลียร์ และออสเตรเลียจะยังคงสถานะประเทศที่ไม่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ต่อไป ดังนั้น AUKUS จึงเป็นความร่วมมือที่ปลอดภัย สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ และไม่เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของภูมิภาค อย่างที่บางประเทศห่วงกังวล
……….ก้าวที่สองของ AUKUS น่าจะต้องเป็นเรื่องการจัดการงบประมาณของแต่ละประเทศให้สอดคล้องกับเป้าหมายและความคาดหวังในการร่วมมือกันครั้งนี้ เพราะเรือดำน้ำและการถ่ายทอดเทคโนโลยีไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ อย่างน้อย ๆ เรือดำน้ำชั้น Virginia ของสหรัฐฯ ก็ลำละ 3,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐไปแล้ว นอกจากนี้ สหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรต่างฝ่ายต่างเพิ่มงบประมาณด้านการทหาร ส่วนหนึ่งก็เพื่อสนับสนุนความร่วมมือด้านความมั่นคงและการทหารกับต่างประเทศ รวมทั้งในกรอบ AUKUS ด้วย เรื่องนี้อาจเป็นเรื่องท้าทาย เพราะทั้ง 3 ประเทศก็กำลังเผชิญภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศชะลอตัว ทำให้อาจต้องแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กับนักการเมืองในประเทศเพื่อให้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณที่เพียงพอ คุ้มค่า และเหมาะสมกับการสร้างความร่วมมือข้ามทวีปนี้ โดยเฉพาะออสเตรเลียที่ปัจจุบันถูกจับตามองว่าจะติด “กับดัก” จากการซื้อเรือดำน้ำจากอเมริกาหรือไม่ เพราะอาจเป็นข้อบังคับให้ออสเตรเลียต้องเพิ่มงบประมาณด้านกลาโหม และพึ่งพาอาวุธจากสหรัฐฯ ไปตลอด แถมการประกอบเรือดำน้ำที่ฐานทัพในเมือง Adelaide ทางตอนใต้ของออสเตรเลียอาจจะไม่ได้เป็นการสร้างงานและรายได้ให้ชาวออสเตรเลียอย่างยั่งยืนด้วย เพราะค่าซ่อมบำรุงหรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จะตามมาก็ต้องซื้อเอาจากสหรัฐฯ จึงอาจไม่เป็นผลดีต่อออสเตรเลียอย่างที่คาดหวัง
…….ก้าวที่สาม AUKUS จะทำยังไงให้ความร่วมมือของกลุ่มมีผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม? แน่นอนว่าเรือดำน้ำที่สหรัฐฯ จะขายให้ออสเตรเลียนั้นอาจจะสามารถดำเนินการได้ไม่ยาก แต่ข้อตกลงพัฒนาเรือดำน้ำในอีก 20 ปีข้างหน้าดูเหมือนจะเป็นเรื่องใหญ่ ที่ผ่านมา AUKUS ใช้เวลาอย่างน้อย 18 เดือนที่จะจัดทำรายละเอียดความร่วมมือกันที่ชัดเจนในตอนนี้ ไม่ว่าเหตุผลที่ล่าช้าอาจมาจากการเปลี่ยนแปลงผู้นำการเมืองในสหราชอาณาจักร หรือการที่ออสเตรเลียต้องเคลียร์ใจกับฝรั่งเศสเรื่องข้อตกลงซื้อเรือดำน้ำฉบับเก่า หรือการที่สหรัฐอเมริกาสาละวนอยู่กับการเพิ่มความร่วมมือด้านการทหารกับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกอย่างกระตือรือร้น จนอาจลืม AUKUS ไปชั่วขณะหนึ่ง….ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไร ตอนนี้ AUKUS กลับมาให้ความสำคัญต่อกันและกัน
และการหารือครั้งล่าสุดที่มีข้อตกลงนี้ก็ทำให้ทั่วโลกหันกลับมาสนใจบทบาทของทั้ง 3 ประเทศได้ ที่สำคัญ ได้แก่ จีนและรัสเซีย ที่ออกมาประกาศถึงความห่วงกังวลว่า AUKUS จะนำไปสู่การสะสมอาวุธนิวเคลียร์และการแพร่กระจายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง รวมทั้งย้ำว่า AUKUS สะท้อนแนวคิดสงครามเย็นของสหรัฐฯ ด้วย นอกจากนี้ ยังมีอินเดียและประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีปฏิกิริยาตอบสนองกับความคืบหน้าครั้งนี้อย่างมาก
สำหรับก้าวข้างหน้าของ AUKUS ที่น่าจะเป็นรูปธรรมมากที่สุด ก็คือ การที่สหรัฐฯ และอังกฤษจะส่งทหารและผู้เชี่ยวชาญมาในออสเตรเลียมากขึ้น เพื่อเตรียมการฝึกต่าง ๆ ให้พร้อมรับกับเรือดำน้ำจากทั้ง 2 ประเทศที่จะมาประจำการหมุนเวียนที่ออสเตรเลียภายในปี 2569 อันนี้แหละที่น่าจะเป็นความเคลื่อนไหวที่สร้าง impact ระดับภูมิภาคได้มาก เพราะการที่เรือดำน้ำของประเทศต่าง ๆ จะมาปฏิบัติการในน่านน้ำของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก น่าจะสร้างความตื่นตัวให้กับหลาย ๆ ประเทศที่มุ่งหมายจะปกป้องผลประโยชน์และความมั่นคงทางทะเล
——————————–