วิกฤตการณ์ธนาคารระดับภูมิภาคในสหรัฐฯ อย่าง Silicon Valley Bank (SVB) กับ First Republic Bank (FRB) และระดับโลกอย่าง Credit Suisse (CS) ล้มละลายอย่างกะทันหันจากปัญหาสภาพคล่องเมื่อไม่นานมานี้ กลายเป็นสิ่งที่ไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิดเมื่อทั้งรัฐบาลสหรัฐฯ และสวิตเซอร์แลนด์ต่างประกาศเข้าอุ้มธนาคารดังกล่าวด้วยการอัดฉีดเงินปริมาณมากกว่า 100,000,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ[1] เข้าสู่ระบบเพื่อป้องกันปรากฏการณ์โดมิโนในกลุ่มธุรกิจธนาคาร
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาจากท่าทีของธนาคารกลางแห่งยุโรป (ECB) ที่ตัดสินใจดำเนินการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.50 ตามแผนเดิม พร้อมยืนยันว่า ECB จะยังไม่ยุติภารกิจลดเงินเฟ้อ และจะรักษาเพดานของอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้นั้น สะท้อนว่ากรณี CS ขาดสภาพคล่องห้วงที่ผ่านมาไม่ได้กระทบถึงจุดยืนทางการคลังของสหภาพยุโรปเลย ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีในการบ่งชี้ว่าภาคธนาคารยังคงแข็งแกร่ง และยังไม่มีแนวโน้มที่จะล้มลงง่ายๆแบบที่เป็นกระแสมาก่อนหน้านี้
อย่างไรก็ดี ประเด็นใหม่ที่เกิดขึ้น และกำลังกลายเป็นกระแสในกลุ่มนักลงทุนห้วงสัปดาห์นี้ คือ กรณีตัวเลขภายในงบดุล (Balance sheet) ของ Fed ได้ปรับตัวทะยานขึ้นอย่างรุนแรงกว่า 300,000,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ[2] จากการอัดฉีดเงินกู้ชะลอวิกฤติ (Crisis lending) เพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ธนาคารพาณิชย์ในระบบเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่กำลังจะตกอยู่ในภาวะล้มละลาย โดย Fed จะแบ่งเงินดังกล่าวออกเป็น 3 ก้อนย่อย[3] คือ Primary Credit มูลค่า 150,000,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ สำหรับให้ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินที่รู้ตัวว่ามีแนวโน้มที่จะล้ม (แต่ยังไม่ล้ม) ในอนาคตอันใกล้มากู้ยืม อีกก้อนหนึ่ง คือ Other Credit Extension มูลค่า 142,000,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ สำหรับให้ธนาคารพาณิชย์ที่กำลังประสบปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน เช่น SVB มากู้ยืม และก้อนสุดท้าย คือ Bank Term Funding มูลค่า 25,000,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ สำหรับให้ธนาคารพาณิชย์นำพันธบัตรและหุ้นกู้ระยะยาวที่เคยสะสมไว้ในห้วงก่อนหน้านี้มาแลกสภาพคล่องไปจาก Fed โดยไม่ต้องขายทิ้งในราคาขาดทุน (cut loss)
จุดนี้ส่งผลให้งบดุลของ Fed กลับมาขยายตัวขึ้นสูงสุดในรอบ 4 เดือน (ภาพที่ 1) พร้อมกับส่งสัญญาณเป็นนัยว่า Fed อาจทำการชะลอมาตรการลดปริมาณเงินในระบบ (QT) ที่ทำมาตลอดห้วงปี 2565 ลง สินทรัพย์เสี่ยงหลายๆชนิด ไม่ว่าจะเป็น Cryptocurrencies หรือดัชนีตลาดหลักทรัพย์อย่าง S&P500 และ NASDAQ จึงปิดแท่งสัปดาห์ในแดนบวกไปได้
การอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ หรือโดยเฉพาะในกลุ่มธนาคารนี้ แม้จะในมิติหนึ่งจะถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึงกันก่อนที่นักลงทุนรายย่อยจะพากันตีความเชิงบวกเกินเลย (over-optimistic) ไปมากกว่านี้ คือ การอัดฉีดเงินในครั้งนี้ของ Fed ไม่ใช่การนำมาตรการผ่อนคลายในเชิงปริมาณ (QE) กลับมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจแบบเมื่อห้วงที่ไวรัส COVID-19 ระบาด แต่เป็นเพียงการปล่อยกู้ให้สถาบันการเงิน หรือในภาษาของนักสังเกตการณ์สายเทคนิคว่า “การทำ QE แบบแอบๆ” (stealth QE)[4] เพื่อคงสภาพคล่องภายในระบบไว้เพียงเท่านั้น แต่ยังไม่ได้มีการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเป็นทางการแบบในอดีต เพราะปัจจุบันสหรัฐฯ ยังอยู่ในห้วงของการดูดสภาพคล่องออกจากระบบ โดยการขายสินทรัพย์ที่ Fed ถือครองเอาไว้คืนให้กับตลาดการเงิน เพื่อลดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และอุตสาหกรรมต่างๆลง (QT) เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่า เมื่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจขยายตัวแม้เพียงน้อยนิด ก็สามารถเป็นอุปสรรคต่อการลดทอนพิษของเงินเฟ้อได้ การจะสามารถชี้ชัดได้ว่า Fed จะยกเลิกการทำ QT แล้วกลับมาทำ QE อีกครั้งนั้น คงต้องใช้เวลาอีกหลายเดือนกว่าจะเป็นที่แน่นอน
แนวโน้มที่น่าสนใจ
ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องจับตามอง คือ แนวโน้มการตัดสินใจของ Fed ในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ประจำเดือนมีนาคม รวมถึงการประกาศทิศทางของ Fed หลังไตรมาส 1 ปี 2566 ว่าจะเป็นอย่างไร เพราะความวุ่นวายในตลาดการเงิน และอุตสาหกรรมธนาคารที่ปรากฏออกมาในห้วงสัปดาห์ก่อนนั้น ได้เปลี่ยนภูมิทัศน์และทัศนคติของ Fed ต่อนโยบายลดทอนเงินเฟ้อ (disinflation) ไปพอสมควร จากเดิมที่ Fed เชื่อในการใช้มาตรการรุนแรง เน้นปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องให้มากที่สุดเพื่อดึงเงินเฟ้อมาในระดับที่ต่ำกว่าร้อยละ 2 ให้ได้ แต่ในปัจจุบัน Fed เริ่มตระหนักได้แล้วว่าการใช้มาตรการที่รุนแรงอย่างต่อเนื่องแบบที่ผ่านมาตลอด 1 ปีนั้นไม่ได้ผลเป็นที่น่าพอใจนัก อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ที่ระดับสูงกว่าร้อยละ 5-6 แต่อุตสาหกรรมการผลิตหยุดชะงักไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตามมาด้วยอุตสาหกรรมการธนาคารที่ตกอยู่ในสภาวะเสี่ยงจะล้มละลายเพราะขาดสภาพคล่องทางการเงิน จากการถูกบังคับขายสินทรัพย์ไปคืนนักลงทุนและผู้ฝากเงินรายย่อยตลอดห้วงไตรมาส 1 ของปี 2566 นี้
แม้ปัจจุบันนี้จะยังไม่สามารถตั้งข้อสรุปได้ว่า Fed จะยุติการทำ QT เพื่อลดสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจเมื่อใด แต่จากการที่ Fed ตัดสินใจอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเป็นกรณีฉุกเฉินในห้วงสัปดาห์ก่อนก็เป็นผลดีต่อตลาดในระยะสั้น และบวกกับสภาพอารมณ์ของตลาดการเงินที่ปรากฏออกมา จะเห็นได้ว่านักลงทุนในตลาดแสดงความมั่นใจมากขึ้นว่า Fed จะไม่สามารถปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างรุนแรงเกินกว่าร้อยละ 0.25 ได้อีกในเร็วๆนี้ (ภาพที่ 2)[5] และมีแนวโน้มสูงที่จะเปลี่ยนทิศทางการตัดสินใจไปยังการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่รุนแรงน้อยลง หรืออาจจะหักมุมประกาศไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุม FOMC ครั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้ความเสียหายทางเศรษฐกิจขยายตัวเป็นวงกว้างกว่านี้ก็เป็นได้
อ้างอิง
- https://www.telegraph.co.uk/business/2023/03/15/credit-suisse-share-price-bailout/ ↑
- https://www.marketwatch.com/story/fed-balance-sheet-balloons-by-almost-300-billion-after-svb-failure-and-effort-to-stop-bank-runs-f58cd3d8 ↑
- https://www.theguardian.com/business/2023/mar/16/cash-strapped-banks-have-borrowed-300bn-from-the-fed-this-past-week ↑
- https://cointelegraph.com/news/fed-starts-stealth-qe-5-things-to-know-in-bitcoin-this-week ↑
- https://www.nytimes.com/2023/03/17/business/federal-reserve-markets-mortgages-inflation-interest-rates.html ↑