รู้หรือไม่ว่าทั่วโลกมีอุโมงค์อยู่มากมายหลายแห่งที่มนุษย์สร้างขึ้น ด้วยวัตถุประสงค์ที่หลากหลาย เช่น เพื่อเชื่อมต่อเส้นทางภูเขาที่ขวางกั้นลดระยะเวลาการเดินทาง การหลบภัยใต้ดิน เป็นสถานีทดลอง เป็นที่เก็บทรัพยากร ระบายน้ำ และเป็นที่เก็บน้ำ
ในอดีต มนุษย์ยุคหินเก่า (10,000 ปีก่อนปัจจุบัน) อาศัยกันในอุโมงค์หรือถ้ำตามธรรมชาติ เนื่องจากไม่มีเทคโนโลยีมากพอในการขุดหรือเจาะภูเขาเพื่อสร้างอุโมงค์ที่ใหญ่หรือแข็งแรง เป็นการอาศัยอยู่ในถ้ำที่เกิดจากการกัดเซาะของน้ำ การผังทลายของหิน หรือดินยุบเป็นหลุมขนาดใหญ่ ช่องโพรงเหล่านี้เป็นที่อยู่อาศัยที่ปลอดภัยจนทำให้มนุษย์อยู่รอด ก่อนที่จะออกสู่ทุ่งกว้างเพื่อล่าสัตว์หรือทำเกษตรในยุคต่อมา
จนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะผ่านมากี่ยุค มนุษย์ยังคงต้องการความปลอดภัยจากที่อยู่อาศัยไม่ต่างจากถ้ำ แต่เปลี่ยนรูปแบบมาในลักษณะของห้อง เป็นความต้องการพื้นฐานของร่างกายที่จะพักผ่อนในพื้นที่ปิดล้อมปราศจากแสงเพื่อฟื้นฟูร่างกาย จึงได้มีการก่อสร้างอาคารเกิดขึ้น โดยการระเบิดภูเขาทำคอนกรีต ย้ายหินและทรายมาประกอบกันเพื่อเป็นถ้ำแห่งใหญ่หลายชั้นที่เรียกว่าตึกสูงได้
มนุษย์ได้ย้ายออกมาจากอุโมงค์ได้สำเร็จ และได้ทิ้งอุโมงค์ร้างไว้จำนวนมากเพื่อใช้ชีวิตบนอากาศในตึกสูง แต่เมื่อโลกข้างบนไม่น่าอยู่อาศัย ปัญหามลภาวะรุนแรง ความเสียหายจากสงคราม ทำให้เราเริ่มสรรหาพื้นที่ปลอดภัยใต้ดินอีกครั้ง “อุโมงค์” กลับกลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่จะรองรับการใช้ชีวิตของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นที่อยู่อาศัย แหล่งผลิตอาหารปลูกพืชผักด้วยแสงจากหลอดไฟ เพื่อได้อาหารที่ปลอดสารพิษ และประหยัดพื้นที่ในการเพาะปลูก
นอกจากเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับมนุษย์ อุโมงค์ยังสามารถทำได้ใต้พื้นดินและกลายเป็นเส้นทางขนส่งอาหารได้ การคมนาคมขนส่งกับโครงข่ายเชื่อมต่อระหว่างทวีปด้วย Hyperloop ใต้ดิน การพัฒนาเทคโนโลยีและวิศวกรรมการก่อสร้างทำให้การขุดดินหรือสร้างอุโมงค์นั้นทำได้ง่ายขึ้น เช่น จีนสามารถสร้างอุโมงค์ 167 แห่ง ภายในเวลา 4 ปี เพื่อสร้างเส้นทางรถไฟ ญี่ปุ่นสร้างอุโมงค์ลอดใต้ช่องแคบทะเลลึก 790 ฟุต ยาว 54 กิโลเมตร ส่วนมาเลเซียมีอุโมงค์จราจรขนาดใหญ่ใต้เมือง ยาว 9.7 กิโลเมตร และอุโมงค์ที่ยาวที่สุด 56 กิโลเมตร เจาะผ่านเทือกเขา Swiss alps ที่สูง 2,450 เมตร ในสวิตเซอร์แลนด์
สิ่งที่น่าสนใจในเรื่องนี้ คือ เราพบว่าสวิตเซอร์แลนด์นั้นเป็นประเทศที่มีหลุมหลบภัยมากที่สุดในโลก โดยมีอุโมงค์กว่า 8,000 แห่ง ที่ถูกสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยสงครามโลก และยังคงมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยมา จากความคิดเรื่องความปลอดภัยของการอาศัยอยู่ใต้ดิน
ไม่เพียงเท่านั้น ประเทศที่มีพื้นที่จำกัด อย่างเช่นเกาะต่างๆ ที่มีพื้นที่ราบจำกัด ผู้คนในประเทศเหล่านี้จึงต้องสร้างอาคารสูงเพื่อใช้สอยพื้นที่บนอากาศให้เพียงพอกับความต้องการของประชากร แต่ตอนนี้พวกเขาเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการใช้พื้นที่ใช้สอยใต้ดินมากขึ้นแล้ว แม้การขุดเจาะดินปัจุบันจะใช้งบประมาณน้อยลงแล้วเมื่อเทียบกับเมื่อก่อน แต่การขุดเจาะก็ยังถือว่ามีค่าใช้จ่ายแพงกว่าการก่อสร้างบนดิน 3 เท่า
…………ดังนั้น ห้องหลบภัยใต้ดินก็มีมูลค่าไม่แตกต่างจากห้องพักสุดหรูบนยอดตึก ด้วยเหตุนี้ อาจเป็นไปได้ว่าในอนาคต “พื้นที่ปลอดภัย” จะกลับไปอยู่ใต้ดินอีกครั้ง และประเทศที่มีอุโมงค์เก่าแก่ดั้งเดิมที่เคยถูกปล่อยให้ร้างว่างเปล่า อาจจะกลายเป็นทรัพยากรใหม่ที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจทางด้านอสังหาริมทรัพย์ การเกษตร และการคมนาคมได้