เมื่อต้นเดือนเมษายน (3 เม.ย.2566) องค์การประเทศผู้ส่งออกน้ำมันและพันธมิตร (Organization Petroleum Exporting Countries+)หรือ OPEC+ ประกอบด้วยประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ อาทิ ซาอุดีอาระเบีย รัสเซีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ ประกาศลดกำลังการผลิตของกลุ่มเพิ่มเติมอีก 1.6 ล้านบาร์เรล/วัน ซึ่งเมื่อรวมกับการลดกำลังการผลิตก่อนหน้า ส่งผลให้กลุ่มลดกำลังการผลิตรวม 3.6 ล้านบาร์เรล/วัน คิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 3.6 ของปริมาณความต้องการน้ำมันดิบทั่วโลก เพื่อจำกัดอุปทานน้ำมันดิบในตลาดโลก รวมถึงควบคุมราคาน้ำมัน
การตัดสินใจดังกล่าวสร้างผลกระทบทันที โดยราคาน้ำมันดิบพุ่งถึงระดับ 80 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ในวันดังกล่าว ขณะที่โกลด์แมน แซคส์ บริษัทวาณิชธนกิจชั้นนำ ประเมินผลกระทบว่าทั่วโลกจะเผชิญภาวะขาดแคลนน้ำมันในเดือนมิถุนายน 2566 และอาจทำให้ราคาน้ำมันดิบอาจพุ่งขึ้นแตะระดับ 100 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ซึ่งเป็นราคาที่สูงในรอบเกือบปีนับแต่รัสเซียเริ่มรุกรานยูเครน โดยการที่ราคาน้ำมันซึ่งเป็นพลังงานหลักของโลกเพิ่มขึ้น สร้างความกังวลว่าจะซ้ำเติมภาวะเงินเฟ้อจนไม่สามารถควบคุมได้จนกลายเป็นวิกฤตเศรษฐกิจขึ้นมา
อย่างไรก็ตามการคาดการณ์ของโกลด์แมน แซคส์ อาจดูมองโลกในแง่ร้ายและประเมินศักยภาพการควบคุมราคาของ OPEC+ สูงเกินไป โดยการลดกำลังการผลิตในระดับดังกล่าว จะสร้างภาวะขาดแคลนด้านอุปทาน จากที่ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนมีนาคม 2566 องค์การพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency – IEA) คาดการณ์ว่าตลาดน้ำมันอยู่ในภาวะสมดุล โดยความต้องการบริโภคน้ำมันทั่วโลกราว 102 ล้านบาร์เรล/วัน ขณะที่กำลังการผลิตรวมอยู่ที่ราว 101.5 ล้านบาร์เรล/วัน ซึ่งการลดกำลังการผลิตจะส่งผลให้ทั่วโลกเผชิญกับภาวะขาดแคลนน้ำมันราว 2 – 4 ล้านบาร์เรล/วัน แต่หากประเมินตามความจริงและหลักอุปสงค์อุปทานเบื้องต้น จะสามารถประเมินได้ว่าภาวะขาดแคลนด้านอุปทานที่เกิดขึ้นจะต้องมีผู้ผลิตรายอื่น ๆ นอกเหนือจากกลุ่ม OPEC+ ที่จะเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อแสวงหาผลกำไรจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นเนื่องด้วยภาวะขาดแคลน และสิ่งสำคัญที่ต้องติดตามคือการที่ประเทศสมาชิกของกลุ่มอาจละเมิดข้อตกลงการควบคุมกำลังการผลิตเสียเอง
ทฤษฎีเกม (Game Theory) ทำนายว่าข้อตกลงลดกำลังการผลิตของ OPEC+ เปรียบได้กับสถานการณ์นักโทษเข้าตาจนหรือ “prisoner’s dilemma” ในสถานการณ์นี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมผู้ต้องหาคดีอุกฉกรรจ์ 2 คน แต่ยังไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะพิสูจน์ความผิด จึงต้องโน้มน้าวให้ผู้ต้องหาอย่างน้อยหนึ่งรายรับสารภาพและเป็นพยานกล่าวโทษเพื่อนผู้ต้องหาอีกราย จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจจะจับแยกผู้ต้องหาเพื่อดำเนินการสอบสวน ผู้ต้องหาได้รับการเสนอทางเลือกว่าหากใครยอมรับสารภาพและเป็นพยานกล่าวโทษเพื่อน จะได้รับการปล่อยตัว แต่หากไม่มีใครรับสารภาพและกล่าวโทษกัน ทั้งคู่จะได้รับการลงโทษสถานเบาเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจยังไม่มีหลักฐานเพียงพอจะพิสูจน์การกระทำความผิดอุจฉกรรจ์ และหากทั้งคู่รับสารภาพและกล่าวโทษเพื่อนพร้อมกัน จะได้รับการลดโทษลงกึ่งหนึ่ง
……….ในสถานการณ์นี้ตัวเลือกที่ดีที่สุดสำหรับผู้ต้องหาทั้งสองราย คือต่างคนต่างไม่ยอมรับสารภาพและไม่เป็นพยานกล่าวโทษเพื่อน ซึ่งจะได้รับการลงโทษสถานเบาเท่านั้น
ทฤษฎีเกม……..ทำนายพฤติกรรมของผู้ต้องหาว่าการตัดสินใจของผู้ต้องหาจะขึ้นอยู่กับการประเมินว่าผู้ต้องหาซึ่งถูกสอบสวนอยู่อีกห้องขังมีตัวเลือกในการตัดสินใจที่ส่งผลต่อตนอย่างไร แล้วจึงนำมาตัดสินใจตัวเลือกที่ดีที่สุดของตนเอง ในมุมมองระดับปัจเจกของผู้ต้องหาแต่ละรายมองว่าเพื่อนผู้ต้องหามี 2 ทางเลือก คือยอมรับสารภาพและไม่ยอมรับสารภาพ โดยหากเพื่อนไม่ยอมรับสารภาพ ตนจึงควรยอมรับสารภาพเพื่อได้รับการปล่อยตัว แต่หากเพื่อนเลือกรับสารภาพซึ่งตนก็จะถูกลงโทษหนัก ดังนั้นจึงต้องเลือกรับสารภาพและกล่าวโทษเพื่อนเพื่อแลกกับการได้รับลดโทษกึ่งหนึ่ง
จากมุมมองส่วนบุคคลนี้ การยอมรับสารภาพและกล่าวโทษจึงเป็นการตัดสินใจที่ดีที่สุดไม่ว่าผู้ต้องหาอีกรายจะตัดสินใจอย่างไร ดังนั้นผู้ต้องหาแต่ละรายจึงมีแนวโน้มเลือกรับสารภาพ ท้ายที่สุดแล้วผู้ต้องหาทั้งสองรายจึงยอมรับสารภาพและเป็นพยานกล่าวโทษกันและกัน ผลลงเอยที่ผู้ต้องหาทั้งสองรายได้รับการลงโทษตามคดีอุกฉกรรจ์แต่ได้รับการลดโทษกึ่งหนึ่ง
เช่นเดียวกับในสถานการณ์ OPEC+ หากทุกฝ่ายทำตามข้อตกลงโดยจำกัดโควตาการผลิต ซึ่งจะลดรายได้ของตนเองบางส่วน แต่จะสามารถแชร์ผลประโยชน์ร่วมกันจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตามการเกิดภาวะขาดแคลนน้ำมันในตลาดย่อมเป็นแรงจูงใจให้ประเทศสมาชิกลักลอบเพิ่มกำลังการผลิตเกินโควตาเพื่อขายน้ำมันในราคาแพง โดยประเทศแรกที่ลักลอบเพิ่มกำลังผลิตจะได้รับประโยชน์สูงสุด เนื่องจากสามารถขายน้ำมันราคาแพงในขณะที่ประเทศอื่น ๆ ยังทำตามข้อตกลงลดกำลังการผลิต แต่ประเทศที่เหลือมีแนวโน้มจะต้องเพิ่มกำลังการผลิตตามเพื่อรักษาผลประโยชน์จากการเพิ่มปริมาณขายน้ำมันเพื่อชดเชยราคาที่ลดลง ซึ่งจะนำไปสู่สถานการณ์ที่ทุกฝ่ายละเมิดข้อตกลง
ในการตัดสินใจของแต่ละประเทศจะประเมินถึงตัวเลือกในการการตัดสินใจของประเทศอื่น ๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อประเทศตน ก่อนนำมาตัดสินใจทางเลือกนโยบายที่ดีที่สุดของตนเอง โดยหากเพื่อนสมาชิกยังคงรักษาข้อตกลง ดังนั้นการลักลอบผลิตน้ำมันส่วนเกินจะสร้างผลประโยชน์สูงสุดให้กับประเทศ แต่หากเพื่อนสมาชิกลักลอบเพิ่มกำลังการผลิต การเพิ่มกำลังการผลิตตามจะเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดเพื่อรักษาผลประโยชน์
ไม่ว่าจะกรณีไหน…..การลักลอบเพิ่มกำลังการผลิตจึงเป็นตัวเลือกนโยบายที่ดีที่สุด และส่งผลให้ในท้ายที่สุดประเทศสมาชิกทั้งหมดจึงเลือกแหกข้อตกลงเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตนเอง
ทฤษฎีเกมสามารถนำมาทำนายพฤติกรรมของพันธมิตรการค้าได้ทั้งในอดีตและปัจจุบัน เมื่อปี 2523 OPEC ทำข้อตกลงร่วมกันลดกำลังการผลิต 16.6 ล้านบาร์เรล/วัน เพื่อควบคุมราคาน้ำมันในตลาดโลก อย่างไรก็ตามมีสมาชิกบางส่วนละเมิดข้อตกลง เพื่อหารายได้มาจุนเจือประเทศตัวเอง รวมถึงความพยายามในการรักษาส่วนแบ่งการตลาดจากประเทศนอกกลุ่มที่เข้ามาชิงส่วนแบ่งจากช่องว่างของ OPEC โดยการละเมิดข้อตกลงของประเทศสมาชิกบางส่วนเป็นแรงผลักดันให้สมาชิกอีกส่วนต้องแหกข้อตกลงเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตนเอง โดยต่อมาเมื่อปี 2528 ผู้นำกลุ่มอย่างซาอุดีอาระเบียเพิ่มกำลังการผลิตกว่าเท่าตัว ซึ่งส่งผลให้ข้อตกลงล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง ขณะที่ราคาน้ำมันดิบลดลงเตะระดับต่ำสุดที่ราว 15 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล
——————————–