การที่อันวาร์ นายกรัฐมนตรีมาเลเซียไปเยือนจีนเมื่อปลายมีนาคม 2566 ไม่ใด้มีผลลัพธ์แค่เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเพียงอย่างเดียว เพราะดูเหมือนว่า นายกรัฐมนตรีมาเลเซียจะใช้โอกาสการเยือนจีนอย่างเป็นทางการนี้ เสนอไอเดียตั้ง “Asian Monetary Fund” หรือ AMF เพื่อลดการพึ่งพาสกุลเงินหลักของโลกอย่างดอลลาร์สหรัฐด้วย
ข้อมูลนี้กลายเป็นข่าวเมื่อนายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮิมของมาเลเซียเสร็จสิ้นการเดินทางเยือนจีนครั้งแรกหลังจากรับตำแหน่งผู้นำมาเลเซีย ซึ่งถือว่าเป็นการเยือนที่ประสบความสำเร็จไม่น้อย แม้จะใช้เวลาเพียงแค่ 4 วัน ระหว่าง 30 มีนาคม – 2 เมษายน 2566 แต่ก็ได้เชิญประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีนเยือนมาเลเซียในปี 2567 และฝ่ายมาเลเซียได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding – MoU) ความร่วมมือระหว่างกันมากถึง 19 ฉบับ โดยเฉพาะเรื่องการให้จีนไปลงทุนด้านพลังงานสะอาด เศรษฐกิจดิจิทัล การพัฒนายารักษาโรค และการพัฒนาเกษตรกรรมให้ทันสมัยมูลค่ารวมมากกว่า 51,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตลอดจนจะมีการเปิดโอกาสให้บริษัทกลั่นน้ำมันของจีน ชื่อ Rongsheng Petrochemical Co. เข้าไปขยายการลงทุนในเมือง Pengerang ของมาเลเซียด้วย
ส่วนผลตอบรับของนักธุรกิจมาเลเซียจากผลงานการเยือนต่างประเทศครั้งนี้ ก็คือ แฮปปี้มาก ๆ เพราะการลงทุนจากจีนในภาคส่วนต่าง ๆ น่าจะเป็นปัจจัยกระตุ้นเศรษฐกิจและบรรยากาศการค้าให้ครึกครื้นมากขึ้น ที่สำคัญ คือ มาเลเซียอาจจะได้เรียนรู้เทคโนโลยีจากจีน แล้วจีนก็ถือว่าเป็น 1 ในประเทศที่มีเทคโนโลยีก้าวหน้าและค่อนข้างพร้อมจะแบ่งปัน รวมทั้ง “ขายของ” เพื่อให้เทคโนโลยีของจีนได้รับความนิยมและกระจายไปอยู่ทั่วโลกด้วย
อีกประเด็นหนึ่งนอกเหนือจากความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยีที่มาเลเซียกับจีนจะเพิ่มความใกล้ชิดระหว่างกันมากขึ้น ทั้ง 2 ฝ่ายยังจับมือและร่วมใจกันผลักดันการจัดตั้งกองทุกเพื่อเอเชีย หรือ Asian Monetary Fund ขึ้นมาด้วย!!…จริง ๆ แล้วไอเดียการตั้งกองทุนเพื่อเอเชียไม่ใช่เรื่องใหม่ที่น่าตกใจ เพราะเมื่อก่อน “ญี่ปุ่น” เคยเป็นโต้โผหรือผู้นำที่เสนอแนวคิดนี้ขึ้นมาเมื่อปี 2540 เพื่อให้มี “สถาบัน” ในภูมิภาคเอเชียที่จะช่วยเหลือประเทศในภูมิภาค ตามหลักคิดของกลุ่มเสรีนิยมใหม่ หรือ Neoliberalism และ Liberal institutionalism ที่เชื่อว่า ความร่วมมือในรูปแบบสถาบันหรือองค์กรที่มีประเทศต่าง ๆ มีส่วนร่วมจะสร้างสันติภาพและเป็นกลไกหลักในการแก้ไขปัญหาระหว่างประเทศ …ซึ่งตอนนั้นก็ต้องการจะตั้งเพื่อแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 นั่นเอง โดยหวังว่ากองทุนเพื่อเอเชียจะช่วยให้ประเทศในเอเชียไม่ต้องพึ่งพากองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund – IMF) ที่มีเงื่อนไขการกู้ยืมและช่วยเหลือที่เข้มงวดอย่างมาก รวมทั้งต้องอิงกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐด้วย
มาเลเซียรื้อฟื้นแนวคิดนี้ขึ้นมาและเอาไปเสนอให้จีนร่วมมือกัน โดยผู้นำมาเลเซียให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า “เขาได้เสนอแนวคิดการตั้ง AMF ขึ้นมา และทางผู้นำจีนก็ตอบรับ” โดยเชื่อว่า “มาเลเซียไม่จำเป็นต้องพึ่งพาสกุลเงินดอลลาร์อีกต่อไป” เพราะว่าตอนนี้ มาเลเซียกับจีนก็กำลังคุยกันอย่างจริงจังเพื่อทำให้ระบบการค้าระหว่างมาเลเซียกับจีนนั้นใช้เงินสกุลริงกิตและหยวน แทนดอลลาร์สหรัฐ
สิ่งที่น่าสนใจไม่น้อยจากกรณีนี้ The Intelligence ขอแบ่งเป็น 2 ประเด็น
ประเด็นแรก คือ การหารือระหว่างผู้นำมาเลเซียและจีนครั้งนี้มีขึ้นหลังจากที่ “สิงคโปร์” เพิ่งออกมาตั้งคำถามเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่ประเทศเล็ก ๆ จะลดการพึ่งพาดอลลาร์สหรัฐ เพราะค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลเสียอย่างรุนแรงต่ออัตราแลกเปลี่ยนและค่าเงินสกุลอื่น ๆ โดยเฉพาะสกุลเงินต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนั้น การที่มาเลเซียใช้ช่วงจังหวะนี้พูดเรื่องนี้กับจีน อาจเป็นเพราะเล็งเห็นแล้วว่า ประเทศสมาชิกอาเซียนที่มีอิทธิพลและบทบาททางเศรษฐกิจสูงอย่างสิงคโปร์น่าจะเห็นด้วย และอาจจะตอบรับหากมาเลเซียเดินหน้าพูดคุยเรื่องนี้ต่อไป
และประเด็นที่สอง… ท่าทีของจีนที่ดูเหมือนว่าจะเปลี่ยนไป เพราะว่าครั้งนี้ “ตอบรับ” จากก่อนหน้านี้ จีนเป็น 1 ในหลาย ๆ ประเทศที่คัดค้านและไม่เห็นด้วยกับแนวคิดการตั้ง AMF และจีนก็เคยไม่พร้อมที่จะเป็นผู้นำในการค้ำชูความร่วมมือในลักษณะที่เป็น “สถาบัน” หรือ “สถาปัตยกรรมทางการเงิน” แบบนี้ เนื่องจากจีนก็ต้องปกป้องผลประโยชน์ของตัวเองก่อนเป็นอันดับแรก และจีนเองก็ไม่ต้องการให้ประเทศอื่น ๆ มาเฝ้าระวังเศรษฐกิจของจีนอย่างใกล้ชิด รวมทั้งมีบทบาทนำด้านเศรษฐกิจในภูมิภาคมากเกินไปด้วย ดังนั้น เรื่องท่าทีของจีนอาจจะต้องดูกันยาว ๆ ว่าจะตอบรับหรือพูดคุยกับมาเลเซียประเด็นนี้ยังไงต่อไป เพราะมาเลเซียก็ไม่ได้ปิดโอกาสที่จะเสนอเรื่องนี้กับประเทศในเอเชียอื่น ๆ ด้วย โดยผู้นำมาเลเซียพูดถึง “ญี่ปุ่น” ว่ามีศักยภาพในการสร้างสถาบันการเงินแห่งเอเชียด้วยเหมือนกัน…เรื่องนี้อาจทำให้จีนต้องค่อย ๆ คิดว่าจะตอบรับแนวคิดนี้ยังไงให้เหมาะสม
ที่ผ่านมา แนวคิดการตั้งสถาบันการเงินหรือกองทุนในเอเชียเป็นเรื่อง…ไม่ง่าย!! เพราะความแตกต่างหลากหลายของระบบอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค ความท้าทายในการสร้างกลไกแจ้งเตือนเกี่ยวกับระบบเศรษฐกิจ และความยุ่งยากในการตั้งกฎระเบียบให้สมาชิกปฏิบัติร่วมกัน แถมประเทศผู้คุมระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกอันดับ 1 อย่างสหรัฐอเมริกา และมหาอำนาจด้านเศรษฐกิจของโลกอย่าง G7 ก็ไม่เห็นด้วยและคัดค้านไอเดียของญี่ปุ่นอย่างหนัก ทำให้แนวคิดนี้แม้มีการพูดถึงบ่อย ๆ แต่ก็ไม่เคยเกิดขึ้นได้จริง ๆ จะมีก็แต่กลไกคุ้มครองทางการเงินของกลุ่มอาเซียนอย่างข้อริเริ่มเชียงใหม่พหุภาคี (Chiang Mai Initiative Multilateralization Agreement-CMIM) ที่เป็นความตกลงแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศของอาเซียน กับจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เพื่อรองรับปัญหาการขาดสภาพคล่องเงินตราต่างประเทศ และความตกลงในกรอบ ASEAN Swap Arrangement (ASA) ที่เกิดขึ้นมาและดำรงอยู่เพื่อรักษาเสถียรภาพการเงินในภูมิภาคเอเชีย
แล้วมาเลเซียกับจีนจะประสบความสำเร็จไหม? หรือนี่อาจเป็นสัญญาณการเพิ่มความร่วมมือแบบ “เอเชียเพื่อเอเชีย” อีกครั้ง เพราะประเทศตะวันตกมุ่งมั่นแต่จะเอาชนะในสารพัดสงครามและความขัดแย้งต่าง ๆ และเป็นการเพิ่มบทบาทของมาเลเซียในระดับภูมิภาค เพื่อให้มาเลเซียกลับไปเป็น “เสือตัวที่ห้า” ของเอเชีย (ยุคใหม่) กันอีกที
—————————————————————–