ในยุคที่คนถูกดูดเข้าไปใช้เวลาอยู่บนหน้าจอและเสพสื่อจากหน้าจอเป็นส่วนใหญ่ การแข่งขันของแอปพลิเคชันในการช่วงชิงพื้นที่สื่อจึงกลายเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องงัดทุกกลวิธีเพื่อดึงความสนใจให้สายตาอยู่บนหน้าจอให้ได้มากที่สุด การสื่อสารเกิดขึ้นโดยเริ่มตั้งแต่การพิมพ์ข้อความแชทกัน ดูภาพนิ่ง จนมาถึงทำวิดีโอ และกลายเป็นวิดีโอสั้น …สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้ กำลังเล่นกับกระบวนการรับรู้ที่มีมาตามวิวัฒนาการของมนุษย์ ส่งผลให้มนุษย์มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปจนเกิดอาการ “สมาธิสั้น” นั่นเอง
ในอดีตราว 45,000 ปีก่อน ในสมัยที่ยังไม่มีภาษาที่ใช้ในการสื่อสาร มนุษย์รู้จักการวาดภาพเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวที่พบเจอ เป็นการประสานการทำงานระหว่าง “ความทรงจำในสมอง” ผ่านมือออกมาเป็นภาพ ถือเป็นกระบวนการซับซ้อนที่สุดในการส่งข้อความในอดีต ก่อนที่จะนำภาพมาพัฒนาเป็นอักษรและภาษา เพื่อสร้างการสื่อสารร่วมกันระหว่างกลุ่มหรือเผ่า “ภาษา” จึงได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการอยู่รอดของเผ่าพันธุ์ และได้พัฒนามาจนถึงปัจจุบัน มนุษย์ใช้ภาษาที่แตกต่างกันกว่า 7,000 ภาษา
ความแตกต่างด้านภาษานี้ยังเป็นอุปสรรคต่อการสื่อสารหากไม่มีความรู้ทางด้านภาษาของสารที่สื่อ ดังนั้น “การสื่อสารด้วยภาพ” กลับส่ง message ได้ง่ายกว่า ด้วยการรับรู้ที่ไม่ต้องตีความจากดวงตาสู่สมอง แม้การอ่านข้อความสมองยังต้องแปลงข้อมูลจากตัวอักษรมาสู่ภาพ หรือแม้กระทั่งการฝัน ยังเห็นเป็นภาพ การสื่อสารด้วยภาพ จึงเป็นข้อมูลที่ง่ายที่สุดที่ทำให้มนุษย์สามารถเข้าใจและจดจำได้
“ภาพ” จึงถูกนำมาใช้ในการดึงดูดความสนใจ และยังช่วยสื่อสาร หรือให้อารมณ์ได้มากกว่าภาษาในเนื้อหาเดียวกัน การบรรยายความสวยงามของท้องฟ้าตอนพระอาทิตย์ตกต้องใช้ตัวอักษรที่เป็นข้อมูลจำนวนมากกว่าภาพวาดหรือภาพถ่ายท้องฟ้าในช่วงเวลานั้น และภาพส่งผลต่ออารมณ์การรับรู้ได้มากกว่า สมองได้รับรู้ภาพและบันทึกเอาบรรยากาศรอบตัว เป็นประสบการณ์ ณ ช่วงเวลานั้นเข้าสู่ความทรงจำ การนึกถึงภาพหรือการย้อนภาพถ่ายจึงช่วยกระตุ้นความทรงจำและบรรยากาศเหล่านั้นกลับมาด้วย ภาพจึงสะท้อนประสบการณ์ที่เป็นปัจเจกบุคคลออกมาด้วย ด้วยการไม่จำกัดการตีความของภาพที่มอบให้ได้กว้างกว่าตัวอักษร ได้ส่งเสริมและสร้างสรรค์จินตนาการให้กับผู้พบเห็น ให้นึกถึงประสบการณ์ที่แตกต่างกันไป
การสื่อสารด้วย “ภาพ” จึงได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในปัจจุบัน และกลายเป็นสิ่งที่คนให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่ง ในยุคโซเชียลที่มือถือสามารถถ่ายภาพได้ง่ายดาย อินเทอร์เน็ตที่ทำให้ภาพถูกแพร่กระจายไปบนแอปพลิเคชันอย่างรวดเร็ว และไม่เพียงเท่านั้น สื่อบนมือถือได้ก้าวมาสู่ยุคปัจจุบันอย่าง “วิดีโอสั้น” โดยพัฒนาการสื่อสารเล่าเรื่องและบอกข้อมูลให้สั้นลงเรื่อย ๆ โดยเฉลี่ย ผู้เสพข้อมูลจะใช้เวลาเพียง 1.7 วินาทีในการตัดสินใจดูคลิปวดีโอสั้นนั้นต่อไปหรือเปลี่ยนไปดูคลิปอื่น
ปัจจุบันมีสถิติว่า …คนทั่วโลกใช้เวลาเฉลี่ย 6 ชั่วโมงในการเสพสื่อโซเชียล ไม่ต่ำกว่า 7 แพลตฟอร์ม นั่นหมายถึง สมองมนุษย์จึงต้องรับข้อมูลทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวในระยะสั้นจำนวนมาก ที่ไม่มีความต่อเนื่องกัน เป็นกระบวนการรับรู้ที่ไม่ต่อเนื่อง จนนำไปสู่อาการ ”สมาธิสั้นหรือสมาธิสั้นเทียม” ซึ่งทำให้ไม่สามารถจดจ่อสิ่งใดได้เป็นเวลานาน ส่งผลต่อการทำงาน การใช้ชีวิต การสร้างความสำเร็จในชีวิตทำได้ยาก และทำให้เกิดความผิดหวังจนกลายเป็นสาเหตุของอาการซึมเศร้า
ดังนั้น เพื่อทำให้การป้อนข้อมูลภาพจำให้กับสมองยังอยู่ในระดับที่เหมาะสม ไม่ใช่เพียงแค่ลดเวลาในการเล่นโซเชียลลงเหลือครึ่งชั่วโมงต่อวัน แต่เรายังต้องคอยรับข้อมูลให้เหมาะกับการจดจำไม่แตกต่างจากการชมผลงานศิลปะหรือการอ่านหนังสือ