ในโลกยุคดิจิทัลที่ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเป็นไปอย่างรวดเร็ว หลายสิ่งหลายอย่างถูกขับเคลื่อนผ่านโลกออนไลน์ โซเชียลมีเดียเป็นที่แพร่หลาย ทุกองค์กรมีเว็บไซต์ของตนเอง มีหน้าเพจของตนเอง พนักงานทุกคนมีแอคเคาท์ต่าง ๆ เป็นของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น Facebook, TikTok, Instagram, Twitter หรือแพลตฟอร์มอื่น ๆ นอกเหนือจากที่กล่าวมาในข้างต้น การท่องไปบนโลกออนไลน์เพียงปลายนิ้วสัมผัสไม่ว่าจะแพลตฟอร์มใดหรือไปในรูปแบบไหนก็ตาม เราได้ทิ้งสิ่งที่เรียกว่า “Digital Footprint” คือร่องรอยแห่งการทำสิ่งต่าง ๆ บนโลกดิจิทัลเอาไว้ทุกครั้ง และได้ทิ้งเอาไว้ทุกคน เปรียบเสมือนประวัติทางพฤติกรรมที่ผู้ใช้งานกระทำในโลกอินเทอร์เน็ต ที่เผยตัวตนของคุณให้ผู้อื่นบนโลกออนไลน์ได้รับรู้
เมื่อจำแนก “Digital Footprint” หรือร่องรอยดิจิทัล เราจะแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ 1)ร่องรอยดิจิทัลแบบไม่รู้ตัว (Passive Digital Footprint) เป็นประวัติหรือสิ่งที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ ที่ผู้ใช้งานไม่ได้ตั้งใจที่จะทิ้งไว้ หรือ ไม่ได้ต้องการจะให้คนอื่นรับรู้ แต่ยังคงถูกบันทึกเก็บเป็นประวัติบนออนไลน์ไว้ เช่น เวลาใช้งานอินเทอร์เน็ตหรือคอมพิวเตอร์ที่จะมีรหัสประจำตัวในการใช้งาน (IP address) ซึ่งเมื่อเยี่ยมชมเว็บไซต์หรือค้นหาบริการอะไร จะมีประวัติการค้นหาต่าง ๆ ถูกเก็บบันทึกไว้อยู่ ทำให้ถูกติดตาม หรือระบุตัวตนคนใช้งานได้ ซึ่งหลายๆครั้งก็จะโดนนักการตลาดนำข้อมูลไปใช้เพื่อทำการโฆษณาต่อไปอีกด้วย
และ 2)ร่องรอยดิจิทัลแบบตั้งใจทำ (Active Digital Footprint) เป็นประวัติ หรือสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยความตั้งใจหรือรู้ตัว เช่น การโพสต์ข้อความผ่านโซเชียลมีเดีย เขียนข้อความต่าง ๆ ส่งหาเพื่อนทางออนไลน์ หรือการส่งอีเมลหาบุคคลอื่น ซึ่งเป็นช่องทางที่สามารถจะรับรู้ได้ชัดเจนถึงการกระทำ หรือประวัติที่เกิดขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็จะมีข้อมูลอยู่ในอินเทอร์เน็ตตลอดเวลา และสามารถถูกเข้าถึงได้โดยใครก็ตาม
ปัจจุบันในยุคการทำงานแบบของเจ้าหน้าที่ด้านทรัพยากรบุคคลในยุค 4.0 ได้มีการนำ “Digital Footprint” มาเป็นส่วนหนึ่งในการสรรหาบุคลากร (Recruitment) ในลักษณะเป็นองค์ประกอบในการคัดเลือก (Selection) บุคคลเข้าร่วมงานกับองค์กร โดยกระบวนการที่ควรนำมาพิจารณาในการสรรหาบุคลากร ได้แก่
1) การวางแผนทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource Planning)
2) ความต้องการหรือการร้องขอของผู้จัดการ (Specific Requests of Managers)
3) การระบุตำแหน่งงานที่จะรับบุคลากรใหม่ (Job Opening Identified)
4) รวบรวมสารสนเทศที่ได้จากการวิเคราะห์งาน (Job Analysis Information)
5) ข้อคิดเห็นของผู้จัดการ (Manager’s Comments) ข้อคิดเห็นของผู้จัดการจะเป็นตัวตรวจสอบให้การวิเคราะห์ข้อมูลทำด้วยความรอบคอบและลึกซึ้งมากขึ้น
6) กำหนดคุณสมบัติบุคลากรตรงกับงาน (Job Requirement)
7) กำหนดวิธีการสรรหา (Methods of Recruitment) ผู้สรรหาจะศึกษาแนวทางและแหล่งที่จะดำเนินการสรรหาพนักงาน
8) ความพึงพอใจที่ได้ผู้สมัคร (Satisfactory Pool of Recruits) โดยการตรวจสอบร่องรอยในโลกออนไลน์ หรือ “Digital Footprint” นั้น ไม่ได้ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล เพราะเป็นการดูข้อมูลเฉพาะที่มีการตั้งค่าเป็นสาธารณะเท่านั้น ส่วนข้อมูลที่มีการตั้งค่าความเป็นส่วนตัวไว้ บุคคลอื่นนอกเหนือจากที่กำหนดไม่สามารถเข้าไปดูได้ เนื่องจากจะเป็นการละเมิดกฎหมายว่าด้วยสิทธิส่วนบุคคล (Personal Data Protection Act – PDPA) นั่นเอง
12 เหตุผลที่ “Digital Footprint” สำคัญต่อคัดเลือกบุคคล คือ 1)ข้อมูลออนไลน์สามารถบ่งบอกถึงความเหมาะสมต่อองค์กร 2)แสดงให้เห็นตัวตนอีกด้านของผู้สมัคร 3)คัดกรองผู้สมัครที่อาจมีปัญหาออก 4) ลักษณะการแสดงตัวตนทางออนไลน์ของผู้สมัครมีความเหมาะสมกับองค์กรหรือไม่ 5)ข้อมูลออนไลน์ทำให้มองเห็นผู้สมัครอย่างรอบด้าน 6)ทบทวนฟีดแบคหรืออคติที่ได้รับมา 7)สามารถประเมินบุคลิกภาพเบื้องต้นของผู้สมัครได้ 8)สามารถทราบความสนใจของผู้สมัครว่าสอดคล้องกับบริษัทหรือไม่ 9)เห็นผู้สมัครในฐานะคนคนหนึ่ง 10)ตัวตนทางดิจิทัลจะบ่งบอกว่าอะไรสำคัญต่อผู้สมัคร 11)สร้างความชัดเจนจากการสัมภาษณ์ และ 12)เป็นสิ่งที่ควรทำและหลีกเลี่ยงความประหลาดใจ
……..คงจะเห็นได้ว่า ร่องรอย“Digital Footprint” เหล่านี้ส่งผลต่อการรับสมัครงานไม่มากก็น้อย หากเราใช้ความระมัดระวังในการใช้สื่อออนไลน์ในทุกแพลตฟอร์ม จัดการร่องรอยทางดิจิทัลของเราอย่างชาญฉลาด ให้เป็นไปในทางบวก ใช้เป็นพื้นที่ในการแสดงศักยภาพ สร้างความเป็นมืออาชีพ และสร้างความประทับใจ โอกาสได้งานที่เราต้องการก็จะยิ่งสูงตามไปด้วย
อ้างอิง
https://th.hrnote.asia/recruit/digital-footprint-210630/
https://extranicegroup.com/digital-footprint-in-business/
https://www.bbc.com/thai/thailand-48902824
https://th.jobsdb.com/th-th/articles/digital-footprint/
https://www.ascg.co.th/th/content/recruitment-คืออะไร-มีความสำคัญต่อองค์กรของคุณอย่างไร