“ปัญหาเพดานหนี้สหรัฐฯ” กลายเป็นข่าวใหญ่ในช่วงกลางพฤษภาคม 2566 ทั้งที่ผู้นำสหรัฐอเมริกากำลังจะเยือนเอเชียเพื่อแสดงบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนกรอบความร่วมมือด้านเศรษฐกิจอย่าง G7 ที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพ รวมทั้งการประชุมกรอบความร่วมมือ 4 ฝ่ายเพื่อส่งเสริมความมั่งคั่งในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกอย่าง QUAD ที่ออสเตรเลียจะเป็นผู้จัดการต้อนรับ แต่ปัญหาเศรษฐกิจในประเทศอย่างเรื่องการตัดสินใจว่าจะขยายเพดานหนี้สหรัฐฯ ทันเวลาหรือไม่ กลายเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนที่ประธานาธิบดีโจเซฟ ไบเดน ต้องจัดการ จึงต้องยกเลิกกการประชุมบางส่วนเพื่อกลับไปแก้ไขปัญหาในประเทศเสียก่อน …ความเคลื่อนไหวนี้อาจเป็นไปตามสูตรที่ว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องความมั่นคงภายในประเทศก่อน เพื่อให้ประชาชนชาวอเมริกันที่มีคะแนนโหวตเลือกตั้งอยู่ในมือเชื่อมั่นในศักยภาพและความจริงใจของรัฐบาล
ย้อนกลับไปที่ทำไมเรื่อง “เพดานหนี้สหรัฐฯ” จึงกลายเป็นเรื่องใหญ่ในตอนนี้!? แล้วจะกลายเป็นปัญหาต่อเศรษฐกิจโลก รวมทั้งเศรษฐกิจไทยได้หรือไม่? …ขออธิบายเป็น 3 ประเด็น
ประเด็นแรก ปัญหาเพดานหนี้สหรัฐฯ คืออะไร? ขอเริ่มที่สหรัฐฯ มีกฎหมายกำหนดจำนวนหรือปริมาณหนี้ที่รัฐบาลจะสร้างได้เอาไว้ เพื่อให้เป็นกรอบกำหนดวินัยการเงินและการคลังของรัฐบาล ซึ่งจำนวนสูงสุดนั้นถึงได้เรียกว่า “เพดาน” ในการสร้างหนี้ของรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งรัฐบาลต้องสร้างหนี้เพื่อใช้บริหารประเทศ ในช่วงที่งบประมาณของรัฐบาลขาดดุล โดยรัฐบาลสหรัฐฯ จะสร้างหนี้ตามใจตัวเองไม่ได้ ต้องผ่านความเห็นชอบจากฝ่ายนิติบัญญัติเสียก่อน
…. แล้วสหรัฐฯ กู้ไปทำอะไรบ้าง?? ก็เช่น กู้ไปจ่ายเงินเดือนให้เจ้าหน้าที่ในรัฐบาลกลาง กู้ไปจ่ายเงินเดือนให้ทหาร และกู้ไปใช้จ่ายในโครงการสวัสดิการต่าง ๆ นั่นเอง สำหรับกฎหมายนั้นมีชื่อว่า Public Debt Acts กำหนดเมื่อปี 2482 และใช้มายาวนาน โดยมีหน่วยงานที่ดูแลเรื่องนี้ คือ กระทรวงการคลังของสหรัฐฯ ปัจจุบันเพดานหนี้ของสหรัฐฯ อยู่ที่ 31.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นผลจากการปรับเพิ่มมาหลายครั้ง เนื่องจากสหรัฐฯ ขาดดุลงบประมาณมาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น “การขยายเพดานหนี้” จึงเป็นเครื่องมือเพิ่มสภาพคล่องให้รัฐบาลสหรัฐฯ มีเงินใช้จ่าย
ประเด็นที่ 2 การขอขยายเพดานหนี้…กลายเป็นปัญหาได้ยังไง
เป็นปัญหาได้เพราะหลายเหตุผลหลัก ๆ ก็คือ ความเห็นของรัฐบาลและฝ่ายนิติบัญญัติสหรัฐฯ ไม่ตรงกัน จึงตกลงกันไม่ได้ว่าจะขยายหรือไม่ขยายเพดานหนี้ จนอาจนำไปสู่กรณี “ผิดนัดชำระหนี้” ของรัฐบาลกลาง ซึ่งตอนนี้รัฐบาลไบเดนมีเวลาถึง 1 มิถุนายน 2566 ที่จะเจรจาให้ได้ ปัจจุบัน ฝ่ายนิติบัญญัติสหรัฐฯ ซึ่งครองเสียงข้างมากโดยพรรครีพับลิกัน กังวลว่าการขยายเพดานหนี้ไปเรื่อย ๆ จะเป็นการเอาเงินไปใช้เพื่อสนับสนุนโครงการของรัฐบาลเดโมแครตโดยเฉพาะ รวมทั้งจะเพิ่มภาษีคนมีรายได้สูง ทั้งที่ไม่ได้เป็นเรื่องจำเป็น ประกอบกับพรรครีพับลิกันอยากจะให้ปรับลดงบประมาณลงสักหน่อย รวมทั้งเข้มงวดในโครงการสวัสดิการ ซึ่งดูเหมือนเป็นประเด็นที่รีพับลิกันและเดโมแครตยังหาข้อตกลงร่วมกันไม่ได้ แม้ว่าทั้ง 2 ฝ่ายไม่อยากให้สหรัฐฯ เผชิญภาวะต้องผลัดการชำระหนี้ก็ตาม
นอกจากนี้ หลายฝ่ายคิดว่าเรื่องเพดานหนี้สหรัฐฯ เป็นเครื่องมือต่อรองทางการเมืองระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายนิติบัญญัติ เพื่อที่จะเจรจาแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กันเรื่องอื่น ๆ ด้วย
ที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเดโมแครตหรือรีพับลิกันขอปรับเพิ่มเพดานหนี้มาหลายต่อหลายครั้ง ดังนั้น การขอเพิ่มหรือขยายเพดานหนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ไม่ใช่ทุกครั้งที่จะกลายเป็นประเด็นใหญ่โตหรือเรียกว่าเสี่ยงจะเป็นวิกฤตแบบนี้ ขึ้นอยู่กับว่า การขอขยายจำนวนเงินที่กู้ได้นั้นอยู่ในช่วงที่สภาวะเศรษฐกิจเป็นอย่างไร ……และที่สำคัญก็คือ ตอนนั้นรัฐบาลกับฝ่ายนิติบัญญัติสหรัฐฯ เป็นพรรคการเมืองเดียวกันหรือไม่ สำหรับในอดีต สหรัฐฯ เคยเผชิญภาวะวิกฤตเพดานหนี้มาแล้วอย่างน้อย ๆ 4 ครั้ง เมื่อปี 2538, 2554, 2556 และปี 2464 หลายครั้งที่เจรจาขยายเพดานหนี้ไม่สำเร็จ ก็จะทำให้เกิดภาวะ Government Shutdown หรือรัฐบาลไม่มีเงินจ่ายให้พนักงานราชการ รวมทั้งโครงการต่าง ๆ ชั่วคราวนั่นเอง
ประเด็นที่ 3 จุดยืนของประธานาธิบดีไบเดน คืออะไร ทำไมต้องแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง
รัฐบาลประธานาธิบดีไบเดนไฮไลท์เรื่องการขยายเพดานหนี้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจแบบไม่มีใครถูกทิ้ง ตั้งแต่การแถลงนโยบายผ่าน State of the Union เมื่อ กุมภาพันธ์ 2566 โดยต้องการให้ฝ่ายนิติบัญญัติสหรัฐฯ อนุมัติขยายเพดานหนี้ หรือระงับเพดานหนี้สาธารณะชั่วคราว ซึ่งจะเท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้สร้างหนี้ได้ เพื่อเอาไปใช้ในการบริหารจัดการรายจ่ายของรัฐบาลกลาง ตัวเขาเองเจรจาเรื่องนี้อย่างจริงจังมาโดยตลอด พร้อม ๆ กับมีการโจมตีพรรครีพับลิกันว่า การคัดค้านครั้งนี้เสี่ยงทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ตกอยู่ในอันตราย เพราะหากไม่มีการอนุมัติทันเวลา กระทรวงการคลังจะไม่มีเงินสำหรับจ่ายค่าใช้จ่ายของรัฐ และสหรัฐอเมริกาจะ “ผิดนัดชำระหนี้”
……….“การผิดนัดชำระหนี้” จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจ ดัชนีตลาดหุ้นจะดิ่งลง พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ จะเสียเครดิต ผู้บริโภคและภาคธุรกิจจะขาดความเชื่อมั่นอย่างรุนแรง จะเกิดภาวะเลิกจ้างงานและปัญหาคนตกงานเพิ่มขึ้น รวมทั้งตลาดการเงินอาจหยุดชะงัก หลายฝ่ายประเมินว่าถ้าเกิดการผิดนัดชำระหนี้จะทำให้สภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ แย่กว่าตอนที่มีการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 เพราะรัฐบาลไม่มีเงินช่วยเหลือผู้บริโภคอีกต่อไป!! ถ้าการผิดชำระหนี้ยาวนานหลายเดือน รัฐบาลจะไม่มีเงินจ่ายสวัสดิการประกันสังคม รวมทั้งโครงการช่วยเหลือประชาชนอื่น ๆ ก็ได้รับผลกระทบไปด้วย เช่น ทุนสำหรับโครงการ Food Stamp (SNAP) และเงินช่วยเหลือของรัฐบาลกลางแก่รัฐและเทศบาลสำหรับโครงการต่าง ๆ
ถ้าไม่มีงบประมาณเดินหน้าโครงการดังกล่าว ชาวอเมริกันจำนวนมากจะได้รับผลกระทบ เรื่องนี้อาจสะสมความไม่พอใจของประชาชนต่อสถาบันการเมือง รวมทั้งรัฐบาล …..และสิ่งที่รัฐบาลหรัฐฯ ไม่อยากเห็นมากที่สุดคือการถูกโจมตีว่าไม่สามารถแก้ไขปัญหาหรือดูแลประชาชนได้ แม้กระทั่ง “กลุ่มฐานเสียง” ของตัวเอง หรือปัญหาผิดนัดชำระหนี้ที่ยาวนานจนทำให้อิทธิพลของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐลดลง เพราะความต้องการลงทุนในพันธบัตรสหรัฐฯ ลดลงไป
นี่อาจจะเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ประธานาธิบดีไบเดนต้อง focus กับเรื่องนี้ให้มากและจริงจัง เพราะนอกจากจะเป็นประเด็นที่สัญญากับชาวอเมริกันและฐานเสียงของเขาเอาไว้อย่างมั่นเหมาะแล้ว ยังเป็นเรื่องที่กระทบต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ ในเวทีระหว่างประเทศด้วย
สุดท้าย… ไม่ว่าปัญหานี้จะจบด้วยการเจรจากันได้ด้วยดี หรือรัฐบาลสหรัฐฯ ต้องเผชิญภาวะผิดนัดชำระหนี้ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ สถานการณ์ปัญหาเพดานหนี้สหรัฐอเมริกาในปี 2566 ทำให้เราได้เห็นว่า การเมืองสหรัฐฯ ตอนนี้มีการแข่งขันและต่อรองกันอย่างดุเดือด แต่อย่างน้อย ๆ เราได้เห็นสัญญาณที่ดีจากการเจรจาครั้งล่าสุดเมื่อ 16 พฤษภาคม 2566 ที่ไบเดนและนายเควิน แมคคาธี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ สังกัดพรรครีพับลิกันออกมาประสานเสียงกันว่า “ไม่ต้องการให้สหรัฐฯ ผิดนัดชำระหนี้” เท่ากับว่าอาจจะเจรจากันได้ก่อนที่ทั้ง 2 พรรคจะนำพาประเทศไปสู่ความเสี่ยงอันใหญ่หลวง