โลกของการทำงานในยุคสมัยใหม่มีเครื่องมือและวิธีการที่ส่งเสริมการทำงานให้มีประสิทธิภาพเกิดขึ้นมากมาย ขณะเดียวกันก็มีความท้าทายที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงาน หรือสร้างบรรยากาศไม่แน่ไม่นอนให้กับแนวทางการทำงานอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดทั่วโลก เช่น การแพร่ระบาดของโรคร้ายอย่าง COVID-19 ที่เป็นจุดเปลี่ยนโลกในทุกมิติ รวมทั้งพฤติกรรมและความคาดหวังของมนุษย์ที่รู้สึกว่าตัวเองเผชิญความเสี่ยงต่าง ๆ มากขึ้น หรืออีกตัวอย่างนึงที่คิดว่าชัดเจนไม่แพ้กัน คือ การพัฒนาเทคโนโลยีอย่างปัญญาประดิษฐ์หรือ AI (Artificial Intelligence)ที่เป็นทั้งประโยชน์ และเป็นทั้งความท้าทาย เพราะมันจะมาเป็นคู่แข่งในการทำงานของมนุษย์เรานั่นเอง
……เรียกได้ว่า “มนุษย์” ในยุคใหม่ตอนนี้ โดยเฉพาะ “มนุษย์ทำงาน” ต้องประสบพบเจอความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายใหม่ ๆ หลายอย่าง ต้องยอมรับว่าความเปลี่ยนแปลงนี้ส่วนมากก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะถ้าเราเชื่อในการพัฒนาหรือวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต ก็อาจจะสรุปได้ว่า จะเกิดพัฒนาการหรือวิวัฒนาการ ก็ต้องมี “ความเปลี่ยนแปลง” มาเป็นแรงผลักดันก่อน และดูเหมือนว่า “ปัจจัยภายนอก” จะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้รวดเร็วกว่ารอให้มนุษย์เกิดการเปลี่ยนแปลงจากภายในของตัวเองด้วย!
ดังนั้น ถ้าเรามองให้ดี ๆ เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้ทำให้มนุษย์มีพัฒนาการ และถ้าใครจับจังหวะความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นได้ดีกว่า ก็จะปรับตัวได้ดีขึ้น กลายเป็น “มนุษย์ในโลกยุคใหม่” ที่พร้อมจะมีแนวคิดที่ทันสมัย มีความสามารถในการอยู่ในโลกเทคโนโลยี และมีความเข้าใจมนุษย์ด้วยกันได้เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตาม คุณเคยตั้งคำถามกับการปรับตัวของมนุษย์ยุคใหม่เหล่านี้บ้างไหม? พวกเขา (หรือพวกเรา) เหนื่อยไหมกับการทำความเข้าใจสิ่งใหม่ ๆ รอบตัวอยู่ตลอดเวลา? มีเวลาดูแลตัวเองเพียงพอไหมถ้าหากต้องแบ่งเวลาไปเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่เรื่อย ๆ ? มนุษย์ยุคใหม่ที่มีอยู่หลาย Generation ต้องใช้เวลาแค่ไหนในการจะเรียนรู้และช่วยเหลือกันและกัน เพื่อให้ผ่านยุคสมัยแห่งความเปลี่ยนแปลงและไม่แน่นอนนี้ไปได้?
ดูเหมือนว่าทั่วโลกจะเคยตั้งคำถามและหาคำตอบให้กลุ่มมนุษย์ยุคใหม่วัยเริ่มทำงาน หรือ Generation Z และ Generation M กันไปบ่อย ๆ แล้ว เพราะคนกลุ่มนี้ถูกจัดว่าเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 มากที่สุด เพราะชีวิต “การทำงาน” ของพวกเขาเริ่มต้นด้วยการต้องอยู่ภายใต้มาตรการป้องกันการติดเชื้อ การทำงานแบบ work from home และการแข่งขันในตลาดแรงงานที่สูงลิ่ว นักวิจัยทั่วโลกเลยเน้นศึกษาสภาพจิตใจและพฤติกรรมของคนกลุ่มนี้เพื่อทำความเข้าใจ และเตรียมพร้อมสังคมยุคใหม่ให้พวกเขาได้เอาตัวรอดกันต่อไป
แล้วเราเคยมีการสำรวจ “สุขภาพใจ” ของมนุษย์ทำงานยุคใหม่ ที่เป็น Generation ก่อนหน้านั้นบ้างหรือยัง? เรากำลังพูดถึงคนทำงานที่ปัจจุบันอาจจะอยู่ในระดับหัวหน้า ไปจนถึงผู้บริหาร ที่ต้องเผชิญกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปไม่น้อยไปกว่า Gen Z และ Gen M แต่บางครั้งอาจถูกมองข้าม เพราะตำแหน่ง “หัวหน้า” และ “ผู้บริหาร” ทำให้พวกเขาดูเหมือนกลุ่มคนที่อาจจะไม่ได้รับผลกระทบอะไรจากโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วนี้…. ซึ่งบทความนี้คิดว่าไม่ใช่!! และขอเสนอว่า การใส่ใจ “สุขภาพใจ” ของคนทำงานกลุ่มนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญไม่น้อยไปกว่ากลุ่มอื่น ๆ เลย
มีรายงานจาก One Mind at Work ซึ่งเป็นองค์กรที่เก็บข้อมูลเรื่องสุขภาพใจในที่ทำงานของสหรัฐอเมริกา เผยแพร่เมื่อ เมษายน 2566 เปิดเผยว่า ……….ปัจจุบัน กลุ่มคนทำงานในตำแหน่งหัวหน้างานและผู้บริหารจำนวนมากที่เผชิญปัญหาสุขภาพใจ เพราะพวกเขาเผชิญแรงกดดันและความสับสนจากการที่ต้องมีหลายบทบาท เพื่อให้การทำงานในโลกยุคใหม่นั้นขับเคลื่อนไปได้ กล่าวคือ พวกเขาต้องปรับตัวให้ทันกับการพัฒนาของเทคโนโลยีและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ใหม่ ๆ ที่มาให้เรียนรู้อยู่เรื่อย ๆ พร้อม ๆ กับที่พวกเขาต้องมี soft skills เพื่อป้องกันไม่ให้ปัญญาประดิษฐ์มาแย่งงานไป
นอกจากนี้ พวกเขาต้องเข้าใจและรับฟังปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพใจและความต้องการในการทำงานของกลุ่ม Gen Z และ Gen M อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะในโลกปัจจุบัน การพูดคุยและเอาใจใส่คนทำงานด้วยกันถือว่าเป็น Key หรือกุญแจสู่ความสำเร็จในการทำงานยุคนี้ แต่ก็ต้องยอมรับด้วยเหมือนกันว่า การทำความเข้าใจสุขภาพจิตใจของคนเรานั้น..ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ
และ One Mind at Work ก็ได้ข้อสรุปว่า หัวหน้างานและผู้บริหารเองก็สับสนและทุกข์ใจไม่น้อย เมื่อพวกเขาไม่สามารถรับมือกับการดูแล Gen Z และ Gen M ได้ดีพอ แม้ว่าจะมีความพยายามอย่างมาก แต่กลายเป็นว่าส่วนใหญ่เป็น “ความพยายามแบบผิด ๆ ถูก ๆ “ ที่ซ้ำร้ายกลายเป็นทำให้ปัญหาสุขภาพใจของพนักงานย่ำแย่ลง เช่น เกิดความพยายามช่วยเหลือที่ “ล้ำเส้น” หรือสร้างมนุษย์ “psychological vampire” ที่เค้นให้คนอื่น ๆ เล่าเรื่องปัญหาสภาพจิตใจออกมาโดยที่ไม่ได้เต็มใจ และทำให้รู้สึกแย่ มากกว่าที่จะรู้สึกดี
เชื่อว่าไม่มีใครอยากถูกเรียกว่าเป็นแวมไพร์ดูดพลังชีวิตคนอื่น และไม่มีใครอยากถูกกล่าวหาว่าขาดตกบกพร่องในการทำงานเป็นหัวหน้าหรือผู้บริหาร ดังนั้น ทุกวันนี้ผู้บริหารและหัวหน้าจำนวนมากจำเป็นต้องเรียนรู้และพัฒนาทักษะด้าน leadership จิตวิทยา soft skills เทคโนโลยี และศึกษาแนวทางการทำงานรูปแบบใหม่ ๆ ไปพร้อม ๆ กัน เพื่อให้สามารถ “รู้เท่าทัน” และรับมือกับปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม นั่นเท่ากับว่า…เหนื่อยไม่น้อยไปกว่ากัน
…เราจึงคิดว่า “ผู้บริหาร” และ “หัวหน้างาน” เองก็แบกรับความท้าทายและเสี่ยงจะเผชิญปัญหาสุขภาพใจ จากภาวะกดดันและความคาดหวังต่าง ๆ ไม่น้อยไปกว่า Generation อื่น บทความนี้จึงอยากชวนให้คนทำงานทุกกลุ่มพยายามเปิดใจ ทำความเข้าใจและพูดคุยกันให้มากขึ้นเกี่ยวกับ “ปัญหาสุขภาพใจ” ที่เป็นความท้าทายกับคนทุกรุ่น ไม่ว่าจะมีประสบการณ์มากหรือน้อย ……………เพราะโลก VUCA(Volatility,Uncertainty,Complexity,Ambiguity) และสภาวะ BANI(Brittle,Anxious,Nonlinear) ไม่ได้เลือกเกิดเฉพาะกับคนบางรุ่นเท่านั้น อย่าลืมสำรวจคนรอบตัวและคนที่ทำงานเหมือน ๆ กัน เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์ให้ “ที่ทำงาน” เป็นพื้นที่พัฒนาทักษะต่าง ๆ และเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่ทั้งเรื่องความเชี่ยวชาญในงาน และการอยู่ร่วมกันในสังคม