ชัยชนะอันเกินความคาดหมายกว่า 14,000,000 เสียงที่พรรคก้าวไกลได้รับซึ่งคงเป็นผลจากการนำสื่อสังคมออนไลน์อย่าง Tiktok มาประยุกต์ใช้ในการรณรงค์หาเสียงในศึกการเลือกตั้งทั่วไปปี 2566 นี้ สร้างปรากฏการณ์และบทเรียนครั้งสำคัญให้พรรคการเมืองหลายพรรคในการที่ต้องนำประเด็นดังกล่าวมาขบคิดอย่างจริงจัง โดยแม้ว่าหากมองในมิติระดับฐานรากก็ไม่ถือว่าเป็นสิ่งที่ยากเกินกว่าจะเข้าใจ เพราะปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ใช้งาน Tiktok จำนวนมากกว่า 40,000,000 คน (คิดเป็นอัตราส่วนได้มากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งประเทศ) ตัวเลขที่ว่านี้แสดงให้เห็นถึงความกว้างขวางในการเข้าถึงฐานลูกค้าของแอปพลิเคชันดังกล่าว
………….แต่ในทางกลับกัน จากการสำรวจจะเห็นได้ว่ามีพรรคการเมืองเพียงไม่กี่พรรคเท่านั้นที่นำ Tiktok มาประยุกต์ใช้กับการเมือง ตัวอย่างที่น่าสนใจ คือ พรรคก้าวไกลที่มีผู้ติดตามมากกว่า 2,000,000 คน มีสถิติผู้กดถูกใจเกือบ 40,000,000 ครั้ง ขณะเดียวกันในกรณีที่น่าเศร้าหรือ worst case คือ หลายๆพรรคไม่มีแม้กระทั่งบัญชี Tiktok ของตนเองเลย เช่น ภูมิใจไทย และพลังประชารัฐ ส่วนพรรคประชาธิปัตย์นั้นมีบัญชี Tiktok แต่ไม่ได้รับความสำคัญหรือสนใจเท่าใดนัก ทำให้มีจำนวนผู้ติดตามเพียง 9,000 คน
การนำวัฒนธรรมการสื่อสารมวลชนสมัยใหม่มาผสมผสานกับเทคโนโลยีสื่อสังคมออนไลน์
แม้ว่าพรรคก้าวไกลจะเป็นพรรคเกิดใหม่ ที่ประกอบไปด้วยบุคลากรวัยเยาว์และมีประสบการณ์ทางการเมืองน้อย แต่ต้องยอมรับเลยว่าในด้านเทคโนโลยีนั้น พรรคก้าวไกลถือเป็นพรรคที่มีความเข้าใจระบบและรูปแบบการสื่อสารสมัยใหม่พรรคหนึ่งทีเดียว เนื่องจากพรรคดังกล่าวนั้นได้นำวัฒนธรรมการสื่อสารมวลชนสมัยใหม่ที่เน้นสื่อสารกันผ่านวีดิทัศน์(video)ขนาดสั้นในกรอบ 15 วินาที ถึง 1 นาที ซึ่งปรากฏอย่างแพร่หลายใน Youtube’s Shorts, Facebook’s Reels, Instagram’s Reels, รวมถึงใน Tiktok เอง มาใช้ประโยชน์ในทางการเมืองได้อย่างราบรื่น
ประเด็นที่สะท้อนและสนับสนุนข้อเสนอดังกล่าว คือ ในห้วงที่ผ่านมา Tiktok ได้ประกาศนโยบาย (Ads Guidelines) อย่างชัดเจนว่าจะไม่อนุญาตให้พรรคการเมืองทำการจ่ายเงินเพื่อซื้อหรือเผยแพร่โฆษณาเกี่ยวกับการรณรงค์หาเสียงผ่านช่องทาง Tiktok ไม่ว่าจะกรณีใดๆ……ซึ่งทีมผู้บริหารพรรคทราบถึงกฎเกณฑ์ดังกล่าวเป็นอย่างดี และเลือกนำเทคนิคการโน้มน้าวให้ผู้ใช้งาน Tiktok ทั่วไปที่มีความชื่นชอบในพรรคก้าวไกล ร่วมกันตัดต่อ และผลิตเนื้อหาเกี่ยวกับพรรคก้าวไกล ผ่านการนำวีดิทัศน์จากเวทีปราศรัย และการโต้วาทีระหว่างผู้สมัครฯ ในช่องทางโทรทัศน์ และสื่อแพลตฟอร์มอื่นๆ มาแปลงเป็นวีดิทัศน์ขนาดสั้น ความยาวไม่เกิน 15-30 วินาที เผยแพร่ให้แก่พรรคก้าวไกล จนเกิดปรากฏการณ์ ‘หัวคะแนนธรรมชาติ’ (organic campaigners) ช่วยกระจายเนื้อหาเกี่ยวกับการหาเสียงแทนบุคลากรของพรรคก้าวไกล ทำให้พรรคสามารถเลี่ยงข้อกำหนดด้านการโฆษณาทางการเมืองและระบบควบคุมเนื้อหา (Content moderation) ของ Tiktok ไปได้อย่างแยบยล
เมื่อหัวคะแนนธรรมชาติซึ่งเป็นประชาชนธรรมดาเหล่านี้พร้อมใจกันผลิต และเผยแพร่วีดิทัศน์เกี่ยวกับพรรคก้าวไกลผ่านช่องทาง Tiktok ที่ประชาชนส่วนใหญ่เป็นผู้มีอายุระหว่าง 18-40 ปี บวกกับการวางแผนด้านจังหวะ และระดับของเนื้อหาที่มีความเข้าใจง่ายเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ทำให้วีดิทัศน์ลักษณะดังกล่าวของพรรคได้รับการส่งต่อเป็นวงกว้างได้ง่าย สิ่งนี้ คือ ปัจจัยสำคัญที่ไปกระตุ้นระบบการคัดกรองเนื้อหาของปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence – AI) ภายใน Tiktok เกิดความเข้าใจว่าเนื้อหาของพรรคก้าวไกล และประเด็นทางการเมืองที่พรรคก้าวไกลนำเสนอบนเวทีนั้น เป็นเนื้อหาที่ประชาชนจำนวนมากให้ความสนใจสูงในระดับที่ถึงขั้นต้องช่วยกันเผยแพร่ ส่งต่อ และผลิตซ้ำอย่างต่อเนื่องโดยที่พรรคการเมือง (โดยเฉพาะบัญชี Tiktok ของพรรค) แทบไม่ได้ลงมาเป็นผู้เล่นหลักในการผลิตวีดิทัศน์ด้วยซ้ำ ส่งผลให้ AI ของ Tiktok ช่วยส่งเสริมการมองเห็นให้แก่เนื้อหาที่เกี่ยวกับพรรคก้าวไกล
…..จริงๆแล้วประเด็นนี้เป็นเรื่องทางเทคนิคที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากภาคประชาชน หรือฐานผู้ติดตามของพรรคก้าวไกลแต่เพียงด้านเดียว แต่ยังมีแง่มุมที่เกิดจากการวางแผนในเนื้อหาการปราศรัยและการโต้วาทีของบุคลากรพรรคก้าวไกลด้วย หากติดตามในห้วงที่ผ่านมา จะเห็นว่าสุนทรพจน์และถ้อยคำที่ผู้สมัคร ส.ส. ก้าวไกลแต่ละคนกล่าวบนเวที มักจะเป็นคำพูดที่มีลักษณะพิเศษ คือ การเน้นคำสำคัญ (keywords) เช่น ปฏิรูปกองทัพ ไม่เอาเกณฑ์ทหาร สวัสดิการถ้วนหน้า และสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นกลุ่มคำที่ล้วนปรากฏอยู่ในสถิติการค้นหาบนระบบ Search Engine อย่าง Google มาตลอด เรียกว่าพรรคได้วางแผนถึงการผลิตเนื้อหาให้กลายเป็นกระแสบนโลกออนไลน์อย่างเป็นระบบมาก่อน (Search Engine Optimization- SEO) ทำให้ในหลายโอกาส เนื้อหาที่ถูกผลิตโดยพรรคก้าวไกลได้รับการสนับสนุนหรือผลักดันผ่าน AI ของระบบการค้นหาดังกล่าว จุดนี้สร้างข้อได้เปรียบกับพรรคก้าวไกลเป็นอย่างมาก ขณะที่พรรคอื่นๆยังคงให้ความสำคัญกับรูปแบบการสื่อสารแบบเก่า อาทิ การลงพื้นที่ขอเสียงในชุมชน หรือการผลิตสื่อโฆษณาผ่านช่องทางโทรทัศน์ เป็นหลัก
โดยสรุปจะเห็นได้ชัดว่าชัยชนะของพรรคก้าวไกลไม่ได้มีความซับซ้อนแต่อย่างใด ปัจจัยสำคัญอยู่ที่พรรคดังกล่าวมีการใช้งานบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านกลไกการทำงานของสื่อสังคมออนไลน์ ระบบ Search Engine และ AI ในขณะรณรงค์หาเสียง ทำให้สามารถใช้ประโยชน์จากสื่อสังคมออนไลน์อย่าง Tiktok ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเข้าถึงกลุ่มคนที่เป็นฐานเสียงของตนเองได้ โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนที่อายุระหว่าง 18-35 ปี ซึ่งมีจำนวนรวมแล้วมากกว่า 5,000,000-6,000,000 คน
…….สิ่งที่หลายพรรคควรถอดบทเรียนต่อไป คือในการเลือกตั้งอีก 4 ปีข้างหน้าหรือ 8 ปีข้างหน้า สื่อสังคมออนไลน์จะมีบทบาทกลายเป็นสมรภูมิใหม่ที่ทุกพรรคจะต้องให้ความสนใจอย่างหนักหน่วงและมีการแข่งขันกันเข้มข้นมากขึ้น เพื่อที่จะแย่งชิงกลุ่มเยาวชนที่มีอายุระหว่าง 18-35 ปี รวมถึงกลุ่มเยาวชนที่มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก (First-time voters) ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นเฉลี่ยมากกว่า 400,000 คนทุกๆปี ซึ่งจะกลายเป็นขุมทรัพย์และขุมพลังทางการเมืองบ่อใหม่สำหรับอุตสาหกรรมการเมืองการเลือกตั้งในอนาคต
———————————-