กระแสธุรกิจในกลุ่มการเงิน การธนาคารของสหรัฐฯที่เสี่ยงเข้าสู่ภาวะล่มสลาย (bank run) เมื่อห้วงมีนาคม-เมษายนที่ผ่านมากลายเป็นปัจจัยสำคัญที่หนุนให้นักลงทุนในตลาดจำนวนมากทยอยถอนเงินดอลลาร์สหรัฐ ออกจากธนาคาร แล้วหันเหไปให้ความสนใจต่อโลหะมีค่า (precious metals) อย่างทองคำ แร่เงิน และสินทรัพย์ที่อยู่นอกระบบเงินสกุลดอลลาร์อย่างกลุ่ม Cryptocurrencies ส่งผลให้ราคาของกลุ่มสินทรัพย์ดังกล่าวปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับอารมณ์ของตลาดที่กำลังตกอยู่ในภวังค์ความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่อาจเกิดขึ้นภายในห้วงปี 2566-2567
ทั้งนี้ ภาคเอกชนหลายแห่งเริ่มเข้าสู่การรัดเข็มขัด ลดการใช้จ่าย และกิจกรรมทางเศรษฐกิจ/การลงทุน เนื่องจากการขาดสภาพคล่องในตลาดอันเป็นผลกระทบมาจากนโยบาย Quantitative Tightening (QT) และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างรุนแรงโดยธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และเลือกที่จะรอความชัดเจนจากทางองค์กรดังกล่าวในห้วงมิถุนายน-กรกฎาคมว่าจะส่งสัญญาณการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเมื่อใด นอกจากนี้ นักลงทุนหลายกลุ่มยังมีความเชื่อดั้งเดิมอยู่ว่าเดือนพฤษภาคมจะเป็นห้วงที่สินทรัพย์เสี่ยงในตลาดจะถูกเทขาย (Sell in May) เพราะนักลงทุนในยุโรปและสหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นรายใหญ่ของตลาด จะขายสินทรัพย์บางส่วนเพื่อนำกำไรไปพักผ่อนท่องเที่ยวห้วงฤดูร้อนในไตรมาสที่ 3 ของทุกปี
ผลการประชุม FOMC Meeting เดือนพฤษภาคม 2566
การประชุมในครั้งนี้นับว่าไม่มีสิ่งใดอยู่เหนือเกินกว่าความคาดหมายของนักลงทุน และการสำรวจของเว็บไซต์ CME Group ที่ประเมิน (priced in) กันเอาไว้ตั้งแต่เมื่อห้วง 2-3 เดือนก่อนหน้านี้ว่า Fed จะสามารถปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้เพียงร้อยละ 0.25 เพื่อให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ระหว่างร้อยละ 5.00-5.25 เท่านั้น ในการประชุม FOMC (Federal Open Market Committee)ของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางประจำเดือนพฤษภาคม 2566 นอกจากนี้ หากพิจารณากันที่สุนทรพจน์ของนาย Jerome Powell ซึ่งเป็นประธาน Fed จะเห็นว่าในครั้งนี้ Powell ไม่ได้กล่าวถึงความจำเป็นที่จะต้องเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเหมือนกับที่ปรากฏในสุนทรพจน์ครั้งที่ผ่านๆมา ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายๆคนคาดเดากันเอาไว้อยู่แล้วว่าผลการประชุมจะออกมาในลักษณะดังกล่าวนี้
……..ตลาดทุนจึงไม่ได้อยู่ในสภาวะผันผวนจากความตื่นตระหนกของนักลงทุนมากนัก และในทางกลับกัน นักลงทุนบางส่วนได้ปักใจเชื่อไปแล้วว่า Fed จะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุม FOMC ประจำเดือนมิถุนายน 2566 ซึ่งต้องระบุไว้ตามตรงว่าแทบจะเป็นไปไม่ได้ที่ Fed จะเปลี่ยนทิศทางแบบฉับพลันลักษณะนั้น หากสถานการณ์ไม่ได้ร้ายแรงมากเพียงพอ
จากสุนทรพจน์ครั้งล่าสุดนี้ Powell ยังคงท่าทีเดิมคือ การให้น้ำหนักกับการกดปริมาณเงินเฟ้อให้ต่ำลง หมายความว่าแนวโน้มทางนโยบายของ Fed ยังคงเป็นการเน้นการใช้เครื่องมือทางการเงินอย่างอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการแก้ปัญหาเงินเฟ้อ ร่วมกับการตั้งกรอบระยะเวลาค้างเอาไว้ เพื่อให้กลไกของดอกเบี้ยช่วยกดดันภาคอุตสาหกรรมต่างๆให้ลดกิจกรรมทางเศรษฐกิจลงดังเดิม ทั้งนี้ Fed ยังไม่ได้ระบุอย่างแน่ชัดว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยระดับดังกล่าวไว้จนถึงเมื่อใด
อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าสนใจ คือ Powell ยอมรับว่าการที่ Fed ดำเนินการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยขึ้นมาถึงร้อยละ 5 ภายในระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา ทำให้นโยบายการเงินเข้าสู่ภาวะตึงมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และส่งผลกระทบที่ค่อนข้างรุนแรงต่อเศรษฐกิจในภาพรวมพอสมควร โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่มีความอ่อนไหวต่อการปรับขึ้น-ลงดอกเบี้ยนโยบายของ Fed อย่าง เช่น ภาคอสังหาริมทรัพย์ และภาคการผลิตที่มีความจำเป็นต้องกู้เงินจากธนาคารเพื่อการลงทุนไปใช้ขยายหรือพัฒนาโครงการในกิจการของตน การที่ดอกเบี้ยเงินกู้ปรับตัวสูงขึ้นตามแนวทางของ Fed ทำให้โครงการของอุตสาหกรรมดังกล่าวชะงักงันลงอย่างรวดเร็ว
การที่ Fed ไม่ยอมแสดงท่าทีที่ชัดเจนว่าจะปรับขึ้น หรือจะหยุดขึ้นอัตราดอกเบี้ยเมื่อใด แม้ว่า Fed จะทราบถึงข้อเท็จจริงที่ว่าภาคอุตสาหกรรมหลายแห่งกำลังเข้าสู่ภาวะชะงักงัน สะท้อนให้เห็นว่าสถานการณ์เงินเฟ้อในสหรัฐฯ ยังไม่กลับไปอยู่ในระดับที่ Fed พึงพอใจ และ Fed พร้อมที่จะปล่อยให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ รับผลกระทบดังกล่าวไปในระดับหนึ่งก่อน แล้วพิจารณาขอบเขตความเสียหายว่ามีมากน้อยเพียงใด ก่อนจะเปิดเผยแนวโน้มการยุตินโยบายดอกเบี้ยขาขึ้น แล้วเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยในภายหลัง
……….เนื่องจากเมื่อพิจารณาอัตราการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Non-Farm Payroll) ในห้วงที่ผ่านมานี้ จะเห็นได้ว่าตัวเลขนั้นสูงเกินกว่าคาดการณ์ทุกครั้งติดต่อกันมาเป็นเวลานานกว่า 1 ปี (กล่าวคือ การจ้างงานในภาคส่วนดังกล่าวยังคงตัวอยู่ในระหว่าง 250,000-500,000 ตำแหน่ง) ส่วนอัตราการว่างงานเองก็ยังอยู่ในระยะคงตัวที่ร้อยละ 3.4-3.6 ซึ่งไม่เป็นผลดีเท่าใดนักโดยเฉพาะในห้วงที่นโยบายการคลังกำลังมุ่งไปที่การขจัดผลของเงินเฟ้อ เพราะหากตลาดแรงงานยังแข็งแกร่ง และอัตราค่าจ้างขั้นต่ำยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้น แปลว่าอัตราเงินเฟ้อ (Consumer Price Index: CPI) ก็จะขยายตัวตามไปด้วย
กล่าวอย่างพื้นฐานที่สุด จากมุมมองของ Fed ซึ่งติดตามความเคลื่อนไหวของเงินเฟ้อผ่านตัวเลข CPI แล้ว หากสถิติ CPI ที่จะประกาศออกมาในห้วงกลางเดือนพฤษภาคม ไม่ปรับตัวลดลงให้ต่ำกว่าร้อยละ 5 ให้ได้ทั้งในเดือนนี้ และเดือนถัดๆไป มีแนวโน้มสูงที่ Fed อาจจะไม่หยุดการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แล้วเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 0.25-0.50 เพื่อพยายามกดดันให้ตัวเลข CPI ปรับตัวต่ำลงให้ได้ โดยปัจจัยที่จะกระตุ้นให้ Fed พิจารณาเปลี่ยนทิศทางนโยบายการคลัง และประกาศแนวทางช่วยเหลือออกมาชัดเจนมากขึ้น มีเพียงกรณีเดียว คือ อัตราการจ้างงานจะต้องลดลงให้ได้ โดยเมื่อใดก็ตามที่มีอัตราการว่างงานสูงขึ้นกว่าร้อยละ 4 และข่าวการบังคับให้ออกจากงาน (Lay-off) ขยายตัวขึ้นจนเป็นกระแส