“นกอพยพมาเพื่อหนีอากาศหนาว และหาแหล่งที่อยู่อาศัยเพื่อเอาตัวรอด จากนั้นก็จะอพยพกลับไปยังแหล่งกำเนิด” วงจรนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพราะสิ่งมีชีวิตจะหาที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม เพื่อสร้างภาวะที่สบาย ไม่แตกต่างจากสิ่งที่มนุษย์ต้องการ คือ “ความสบาย” ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้เกิดการเดินทางระยะไกล ดังนั้น ระยะทางและการขนส่งจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ใช้ทรัพยากรเป็นอย่างมาก ..ทั้งการทำโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับยานพาหนะ และการใช้พลังงานเพื่อขับเคลื่อนยานพาหนะ
แล้วโลกนี้จะเป็นอย่างไร?? หากเส้นทางที่ต้องใช้ทรัพยากรมากมายเหล่านี้หายไป!! และเปลี่ยนสภาพกลายไปเป็นเพียง “คลื่นวิทยุ” ที่เคลื่อนที่ผ่านอากาศได้
เราเชื่อว่า นวัตกรรมนี้จะเปลี่ยนแปลงโลกได้อีกครั้ง
ทั่วโลกได้ทำความรู้จักและใช้การชาร์จพลังงานแบบ “ไร้สาย” หรือ การส่งกระแสไฟฟ้าที่สามารถผ่านได้ด้วยการสัมผัส ถ่ายโอนกระแสไฟฟ้าสู่แบตเตอร์รี่ได้มาระยะหนึ่งแล้ว และ “การแปรรูปพลังงาน” เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา เช่น เตาไฟฟ้าที่เปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าให้เป็นพลังงานความร้อน การเปลี่ยนสัญญาณโทรศัพท์เป็นคลื่นเสียง เปลี่ยนสัญญาณอินเทอร์เน็ตเป็นข้อมูลมหาศาล เป็นต้น
และการส่งไฟฟ้าแบบไร้สาย ก็เป็นการแปรรูปพลังงานแบบหนึ่ง โดยเป็นกระบวนการแปลงกระแสไฟฟ้าให้เป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่อัดแน่น จากนั้นก็ส่งออกคลื่นแม่เหล็กไป คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่ไร้อันตรายนี้จะส่งต่อไปยังตัวรับ เพื่อแปลงคลื่นให้กลับไปเป็นไฟฟ้ากระแสตรง เพื่อให้สามารถนำไปใช้งานได้อีกครั้ง …กระบวนการนี้ทำให้สามารถลดต้นทุนการส่งไฟฟ้าได้ โดยเฉพาะในยุคที่วัสดุสำคัญในการส่งไฟฟ้าอย่าง “ทองแดง” มีปริมาณลดลงเรื่อย ๆ นอกจากนี้ การส่งไฟฟ้าแบบไร้สายยังลดอุปสรรคการส่งไฟฟ้าในพื้นที่ที่ยากต่อการเดินสายไฟเช่นพื้นที่ภูเขา ทำให้พื้นที่ชุมชนที่อยู่ห่างไกล มีโอกาสที่จะเข้าถึงไฟฟ้ามากยิ่งขึ้น เป็นการกระจายความเจริญให้ทั่วทุกพื้นที่
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่โลกมีการส่งกระแสไฟฟ้าแบบไร้สาย ย้อนกลับไปเมื่อปี ค.ศ.1891 นิโคลา เทสลา (Nikola Tesla) นักวิทยาศาสตร์ชื่อดัง ผู้คิดค้นการใช้ไฟฟ้ากระแสสลับ เคยนำเสนอวิธีการส่งกระแสไฟฟ้าจาก “เทสลาคอยล์” โดยไม่ต้องใช้สายไฟฟ้า แต่ถูกบริษัทคู่แข่งกล่าวหาว่าเป็นวิธีการส่งกระแสไฟที่อันตราย จึงไม่ได้ถูกนำมาใช้ และทำให้โลกยังใช้โลหะเป็นตัวกลางในการส่งไฟฟ้ามากว่า 130 ปี
อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องความปลอดภัยจากการส่งกระแสไฟฟ้าแบบไร้สายยังคงเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายกังวล และไม่กล้านำไปใช้ แต่ด้วยเทคโนโลยีเซนเซอร์ที่มีความไวสามารถตรวจจับสัตว์หรือสิ่งของที่เข้าใกล้แนวการส่งลำแสงไมโครเวฟนี้ จะทำให้มีการหยุดการส่งกระแสไฟฟ้าในทันที การส่งไฟฟ้าแบบไร้สายจึงกลายเป็นแนวทางการส่งกระแสไฟฟ้าสู่อุปกรณ์ไฟฟ้าหรือรถยนต์ไฟฟ้าได้อย่างไร้ขอบเขต และปลอดภัย
ปัจจุบันมีการถ่ายโอนพลังงานแบบไร้สาย เกิดขึ้นแล้ว!! หรือที่เรียกว่า long-range wireless power transfer technology ที่โดดเด่นในวงการ คือ ผลงานของบริษัท Emrod ที่นิวซีแลนด์ ที่เมื่อต้นปี 2565 เริ่มสร้างโรงไฟฟ้าทดลองที่ปล่อยกระแสไฟฟ้าแบบไร้สาย ไม่ต้องใช้ทองแดงเลยเพราะไม่ต้องมีสายไฟ และเหตุผลที่ทำให้บริษัท Emrod มีความก้าวหน้าและมุ่งมั่นในเรื่องนี้ เพราะนิวซีแลนด์มีภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน สร้างความยากลำบากในการตั้งเสาไฟให้ครอบคลุมความต้องการของชาวนิวซีแลนด์ที่กระจายตัวอยู่ในทุกพื้นที่ Emrod จึงพัฒนาเทคโนโลยี Rectenna หรือเสาอากาศที่เปลี่ยนพลังงานแม่เหล็กเป็นพลังงานไฟฟ้า เพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านั้น
ทั้งนี้ความสำเร็จของ Emrod ไม่ได้มีเพียงการเริ่มต้นอย่างจริงจังในนิวซีแลนด์ แต่ขยายไปถึงการสร้างกริดกระจายพลังงานจากดาวเทียมในอวกาศ หรือระบบ Worldwide Energy Matrix (WEM) ที่ใช้ประโยชน์ระบบเทคโนโลยี electromagnetic beam หรือการยิงคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากแหล่งผลิตพลังงานบนพื้นโลก แปรสภาพขึ้นไปในอวกาศ ผ่านดาวเทียม และส่งกลับไปยังพื้นที่ที่ต้องการใช้พลังงาน
แปลว่าเรื่องนี้ทำได้จริง และมีผู้ดำเนินการไปแล้ว
“การส่งไฟฟ้าในระยะทางไกล” จะถูกนำมาประยุกต์ใช้กับการขนส่งพลังงานข้ามทวีปได้หรือไม่? เพราะเมื่อคิดดี ๆ ยังมีความท้าทายเรื่องความแตกต่างของสภาพภูมิประเทศและตำแหน่งที่ตั้ง แต่ลองคิดดู ถ้าประเทศในแทบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เผชิญกับพายุฤดูร้อนในเดือนสิงหาคม ท้องฟ้ามืดครึ้มฝนตก แต่ทวีปยุโรปอยู่ในช่วงเดียวกันกลับอยู่ในฤดูร้อน ที่ได้รับแสงแดดอย่างเต็มที่สามารถรับพลังงานแสงอาทิตย์ได้ยาวนานกว่า 20 ชั่วโมงต่อวัน ถือเป็นช่วงเวลาที่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้ และถ้าหากถ่ายโอนพลังงานข้ามทวีปกันได้ ….พลังงานก็จะถูกกระจายไป การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมในทะเลหรือโซลาร์ฟาร์มในทะเลทราย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีทรัพยากรในการผลิตพลังงานสูง แต่มีประชากรน้อยและอัตราการใช้ไฟฟ้าต่ำ หากประเทศที่ครอบครองเทคโนโลยีการส่งแบบไร้สายไฟไปสู่เมืองที่มีความต้องการใช้ได้อย่างรวดเร็วมากกว่าใคร ประเทศนั้นน่าจะได้เป็นผู้บริหารจัดหารจัดการพลังงานในระดับโลก เพราะสามารถใช้ประโยชน์จากความต้องการพลังงานจากพื้นที่อื่น ๆ ของโลกได้ในระยะยาว
ดังนั้น การชาร์จพลังงานหรือแจกจ่ายพลังงานแบบ “ไร้สาย” อาจเปลี่ยนวิถีและความเป็นไปของโลก จากการที่นก หรือมนุษย์ต้องอพยพหาแหล่งที่อยู่อาศัยไปทั่วโลกเพื่อความสบายและความอยู่รอด จะเปลี่ยนเป็นการโยกย้ายพลังงานไปสู่พื้นที่ที่มีความต้องการได้อย่างง่ายดาย และ “โลกที่ไร้สาย” นี้จะกระชับโลกทั้งใบให้ใกล้กันมากยิ่งขึ้น