การทำงานของบุคลากรแต่ละองค์กรในปัจจุบันย่อมที่จะต้องการสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดี เพื่อการเตรียมความพร้อมในการทำงาน หากบุคลากรเหล่านั้นได้รับความต้องการตามลำดับ โดยความต้องการในการทำงานลำดับแรกที่จะมีมากที่สุดเป็นความต้องการพื้นฐานที่ทุกคนขาดไม่ได้ ไปจนถึงความต้องการสูงสุดในบันไดขั้นที่ 5 หรือทฤษฏีลำดับขั้นความต้องการของมาส์โลว์ (Maslow’s hierarchy of needs Theory) 5 ประการ ได้แก่ ……….1)ความต้องการด้านร่างกายหรือด้านกายภาพ (Physiological Needs) 2)ความต้องการด้านความมั่นคงปลอดภัย (Safety Needs) 3)ความต้องการความรักและความเป็นเจ้าของ (Belongingness and Love Need) 4)ความต้องการเกียรติยศชื่อเสียงและความภาคภูมิใจ (Self- Esteem Need) และ 5)ความต้องการความสมบูรณ์ของชีวิต (Self-Actualization Needs)
……..จากข้างต้นที่กล่าวมา สภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกขององค์กรจึงมีผลต่อความต้องการ 5 ประการ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นำไปสู่กระบวนการคิดที่ก่อให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ดีในการทำงานอย่างที่หลายคนมองอย่างจินตภาพไว้คร่าว ๆ
“องค์กรแห่งความสุข” หรือ Happy Workplace จึงเป็นกระบวนการพัฒนาบุคลากรในองค์กรอย่างมีเป้าหมาย (Goals) ให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ (Vision) และพันธกิจ (Mission) ขององค์กร เพื่อให้บุคลากรมีความพร้อมต่อการพัฒนาเปลี่ยนแปลง นำพาองค์กรไปสู่ความก้าวหน้า ซึ่งมีลักษณะสำคัญ 3 ประเด็น คือ 1)คนทำงานมีความสุข (Happy People) 2)ที่ทำงานน่าอยู่ (Happy Home) และ 3)ชุมชนสมานฉันท์ (Happy Team Work)
ทั้งนี้ในการขับเคลื่อนจะใช้แนวทางความสุขพื้นฐานแปดประการ (Happy 8) ได้แก่
1)สุขภาพดี (Happy Body) มีสุขภาพแข็งแรงทั้งกายและจิตใจ เพราะมีความเชื่อว่าถ้ามนุษย์มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงก็จะมีจิตใจที่ดี พร้อมที่จะรับมือกับปัญหาที่จะเข้ามาได้เป็นอย่างดี
2)น้ำใจงาม (Happy Heart) มีน้ำใจเอื้ออาทรต่อกันและกัน เนื่องจากมีความเชื่อว่าความสุขที่แท้จริงคือการเป็นผู้ให้
3)สังคมดี (Happy Society) มีความรักสามัคคีเอื้อเฟื้อต่อชุมชนที่ตนทำงาน และพักอาศัย มีสังคมและสภาพแวดล้อมที่ดีเพราะเชื่อว่าการที่ผู้คนมีความเป็นอยู่ที่ดีภายในสังคมหรือชุมชน ย่อมเป็นพื้นฐานที่ดี ทำให้ผู้อยู่อาศัย มีความรัก ความปรองดอง สามัคคีต่อกัน พร้อมร่วมแรงร่วมใจช่วยกันพัฒนาชุมชนให้มีชีวิตการเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
4)ผ่อนคลาย (Happy Relax) รู้จักผ่อนคลายต่อสิ่งต่าง ๆ ในการดำเนินชีวิต เพราะเชื่อว่าการที่คนทำงาน หากไม่รู้จักสรรหาการผ่อนคลายให้กับตนเอง จะทำให้ร่างกายและจิตใจเกิดความเครียด อันส่งผลกระทบต่อหน้าที่การทำงาน
5)พัฒนาสมอง (Happy Brain) มีการศึกษาหาความรู้พัฒนาตนเองตลอดเวลาจากแหล่งต่าง ๆ นำไปสู่การเป็นมืออาชีพและความมั่นคงก้าวหน้าในการทำงานเพราะเชื่อว่า ถ้าเราทุกคนแสวงหาความรู้ใหม่ ๆ มาเพิ่มพูนความรู้และพัฒนาตนเองอยู่สม่ำเสมอ ก็จะเป็นอีกหนึ่งแรงผลักดัน ช่วยให้องค์กรพัฒนาขึ้น ด้วยบุคลากรที่มีศักยภาพ
6)ศาสนาและศีลธรรม (Happy Soul) มีความศรัทธาในศาสนาและมีศีลธรรมในการดำเนินชีวิต เพราะเชื่อว่าหลักธรรมคำสอนของศาสนาเป็นสิ่งที่จะช่วยการดำเนินชีวิตของทุกคนให้ดำเนินไปในเส้นทางที่ดีได้ ทำให้ทุกคนมีสติ มีสมาธิในการทำงาน สามารถรับมือกับปัญหาที่เข้ามาได้ ยึดหลักสนับสนุนให้เป็นคนดี คิดดี ทำดี และมีความศรัทธาในคุณงามความดีทั้งปวง
7)ปลอดหนี้ (Happy Money) มีเงิน รู้จักเก็บรู้จักใช้ ไม่เป็นหนี้ ปลูกฝังนิสัยอดออม ประหยัด รู้จักวิธีใช้เงิน ไม่ใช้สุรุ่ยสุร่าย ใช้จ่ายแต่เท่าที่จำเป็น
..และ 8)ครอบครัวดี (Happy Family) มีครอบครัวที่อบอุ่นและมั่นคง ปลูกฝังนิสัยรักครอบครัว เพื่อนำไปเป็นหลักการใช้ชีวิตให้รู้จักความรัก ความเชื่อมั่น และความศรัทธาในความดีงาม จึงจะเกิดเป็นคนดีในสังคม
เมื่อได้นำแนวคิด “องค์กรแห่งความสุข” หรือ Happy Workplace มาปรับใช้ร่วมกับการดำเนินงานกับกลุ่มเป้าหมายหลักคือ “บุคลากรในองค์กร” ซึ่งถือเป็นบุคคลสำคัญและเป็นกำลังหลักของทั้งครอบครัว องค์กร ชุมชนและสังคม ในด้านการพัฒนานโยบายการสร้างองค์ความรู้ และการขับเคลื่อนเครือข่ายในการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตการทำงานของบุคลากร (Quality of Work Life) ที่ประกอบด้วยลักษณะต่าง ๆ 8 ด้าน ได้แก่ 1)ผลตอบแทนที่เหมาะสมและเป็นธรรม 2)สิ่งแวดล้อมที่ถูกสุขลักษณะและปลอดภัย 3)การพัฒนาความสามารถของบุคลากร 4)ความก้าวหน้าและความมั่นคงในงาน 5)บูรณาการทางสังคม 6)ระเบียบข้อบังคับในการปฏิบัติงาน 7) ความสมดุลระหว่างชีวิตส่วนตนกับการทำงาน และ 8)ความภูมิใจในองค์กร จากคุณภาพชีวิตการทำงานของบุคลากรที่ดี ทำให้บุคลากรมีความรู้สึกที่ดีต่อองค์กร เกิดวัฒนธรรมองค์กร เกิดขวัญกำลังใจ และเกิดผลดีในทางจิตวิทยาสภาพแวดล้อมในการทำงานภายในองค์กร
………….อาจกล่าวได้ว่าการเล็งเห็นความสำคัญของบุคลากรในองค์กรมีความสุข ที่ก่อให้เกิดการสร้างแรงจูงใจที่ดีในการทำงาน ย่อมส่งผลในรูปแบบภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กร ความผาสุกในครอบครัว ชุมชนและสังคมอยู่เย็นเป็นสุขได้
อ้างอิง
https://www.gotoknow.org/posts/327572
https://moneyhub.in.th/article/maslows-hierarchy-of-needs-and-success/
https://thewisdom.co/content/maslows-hierarchy-of-needs/
http://www.pol.ru.ac.th/graduate/index.php/is/6122802222/viewdocument
http://tpso4.m-society.go.th/index.php/th/tpso-news/2017-05-16-15-16-27/43-happy-workplace-8