ปัจจุบันเริ่มมีสื่อหลายสำนักรายงานเกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจของ “จีน” ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 2 ของโลก ที่ดูเหมือนว่าการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังการเปิดประเทศหลังการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 เริ่มเข้าสู่ภาวะชะลอตัวเข้าแล้ว และตัวเลขทางเศรษฐกิจของจีนเริ่มกลายเป็นประเด็นที่หลายฝ่ายห่วงกังวล เพราะจีนคือประเทศที่เข้าไปมีบทบาทขับเคลื่อนการค้าและการลงทุนในหลาย ๆ พื้นที่… ดังนั้น ถ้าเศรษฐกิจจีนเผชิญความท้าทายหรือไม่สดใสเท่าที่ควร ก็ย่อมส่งผลกระทบต่อทิศทางเศรษฐกิจโลก และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของหลาย ๆ ประเทศด้วย บทความนี้จึงจะชวนพิจารณาที่มาของความท้าทายทางเศรษฐกิจที่จีนกำลังเจอ คาดการณ์แนวทางที่จีนจะใช้เพื่อแก้ไขปัญหา และประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจจีนในช่วง 6 เดือนสุดท้ายของปี 2566
สำหรับสัญญาณล่าสุดที่อาจทำให้ทั่วโลกเริ่มกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจจีน ก็คือเมื่อปลาย มิถุนายน 2566 ที่ ธนาคารกลางจีนต้องเดินหน้านโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป โดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกหนี้ชั้นดี หรือ Loan Prime Rate เพื่อผ่อนคลายนโยบายการเงิน การตัดสินใจของธนาคารกลางจีนครั้งนี้มีขึ้นหลังจากตัวเลขเศรษฐกิจของจีนเมื่อ พฤษภาคม 2566 ไม่เป็นไปตามคาด เช่น ยอดขายปลีกขยายตัวต่ำกว่าที่คาดไว้ อัตราการผลิตในอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ ก็ลดลง อัตราการบริโภคของชาวจีนตกต่ำลง จนเสี่ยงเกิดภาวะเงินฝืด และอัตราว่างงานของคนรุ่นใหม่ในจีนยังเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้จีนขาด “ขุมพลัง” ในการบริโภคที่เป็นดัชนีขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ
นอกจากนี้ แม้ว่าจีนจะรอดจากวิกฤตธนาคารล้มละลายที่หลายประเทศในโลกตะวันตกต้องเจอ และว่ากันว่าปัญหาอสังหาริมทรัพย์ของจีนก็ยังทรงตัว ซบเซาลงและไม่ได้ส่งผลกระทบต่อทิศทางการเติบโตของจีนมากขนาดนั้น รวมทั้งยังมี “ภาคบริการ” ที่เติบโตได้ดีเยี่ยม แต่ดูเหมือนว่า จีนเจอปัญหา “ความเชื่อมั่น” ภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน ที่เริ่มเห็นว่าแรงกระตุ้นทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ไม่เพียงพอ ยอดส่งออกสินค้าของจีนไปตลาดโลกก็ลดลง ประกอบกับรัฐบาลจีนพลาดเป้าหมายการทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศถึงร้อยละ 5 เมื่อปี 2565 ยิ่งซ้ำเติมให้ความเชื่อมั่นตกลง และฟ้องออกมาในรูปของดัชนีตลาดหุ้นจีนที่ถูกเทขายมาอย่างต่อเนื่องในปีนี้
นอกจากนี้ รัฐบาลจีนเองก็เริ่มเคลื่อนไหวชัดเจนมากขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่ลักษณะไม่สู้ดี เช่น การออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเมื่อต้น มิถุนายน 2566 ตามด้วยการจัดการประชุมผู้นำและผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจเมื่อกลาง มิถุนายน 2566 เรียกได้ว่า รัฐบาลจีนเร่งระดมสมองร่วมกับนักธุรกิจเพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่นและทำให้นโยบายการเงินและการคลังของจีนสนับสนุนกันมากขึ้น
มุมมองของธนาคารกลางจีนสอดคล้องกับการประเมินเศรษฐกิจจีนของสถาบันการเงินขนาดใหญ่หลายแห่งของโลก ที่ก่อนหน้านั้นได้ปรับลดตัวเลขคาดการณ์ GDP ของจีนในปี 2566 เช่น Goldman Sachs ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนในปีนี้เหลือร้อยละ 5.40 จากเดิมที่คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 6.00 ดังนั้น เรื่องแนวโน้มเศรษฐกิจจีนที่มีโอกาสจะซบเซาลง หรือไม่สดใสอย่างที่คาดคิด ก็น่าจะเป็นไปได้ตามที่สะท้อนออกมาจากความเคลื่อนไหวของจีน และการประเมินของสถาบันการเงินขนาดใหญ่ของโลก
ไปดูกันต่อว่า ……เราจะได้เห็นจีนแก้ไขปัญหาความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเงินฝืด ความไม่เชื่อมั่นในเศรษฐกิจจีน และภาวะ “กับดักสภาพคล่อง” หรือ liquidity trap ที่หมายถึงสภาวะที่ธนาคารกลางเพิ่มเงินที่ไหลเวียนในระบบ แต่ยังไม่สามารถช่วยให้จีดีพีของประเทศเติบโต นี้อย่างไร?
มีความเป็นไปได้ที่จีนจะใช้มาตรการที่สามารถดำเนินการได้เองก่อน เช่น การลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อลดแรงกดดันและประคับประคองกิจกรรมทางเศรษฐกิจของจีนให้ยังคงดำเนินอยู่ต่อไป รวมถึงการออกนโยบายกระตุ้นการใช้จ่ายและการลงทุนของภาคธุรกิจ เน้นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐา รวมทั้งอุตสาหกรรมสำคัญ เช่น การลดหย่อนภาษีสำหรับผู้ผลิตในประเทศ การใช้มาตรการจูงใจด้านการลงทุนต่าง ๆ และการอัดฉีดเงินเข้าระบบ …ซึ่งการอัดฉีดเงินเข้าระบบนี้จีนดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2559 นอกจากนี้ ยังมีนโยบายขยายเงินกู้สกุลเงินหยวนของจีน และปล่อยให้ค่าเงินหยวนอ่อนค่าลงเพื่อให้ได้เปรียบในการส่งออกด้วย
ส่วนแนวทางที่จีนอาจดำเนินการเพิ่มเติมเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในตอนนี้ คือ การที่เราน่าจะเห็นความพยายามของนักการทูตและผู้แทนของจีนที่เคลื่อนไหวในต่างประเทศมากขึ้น จัดการประชุมนานาชาติ ตลอดจนเปิดประเทศเพื่อต้อนรับผู้แทนระดับสูงจากนานาชาติอย่างต่อเนื่อง เพื่อเจรจา แลกเปลี่ยน และสร้างโอกาสในการฟื้นฟูความเชื่อมั่นของต่างประเทศต่อเศรษฐกิจและการพัฒนาของจีน ประเด็นนี้เราอาจจะเชื่อมโยงกับการที่จีนต้อนรับการเยือนของผู้แทนระดับสูงจากสหรัฐอเมริกา ต่อเนื่องด้วยการต้อนรับผู้นำจากประเทศอื่น ๆ และเมื่อ 27-29 มิถุนายน 2566 จีนเป็นเจ้าภาพร่วมกับ World Economic Forum จัดการประชุม Summer Davos Forum ที่เมืองเทียนจิน เพื่อประชุมเกี่ยวกับประเด็นเศรษฐกิจในหัวข้อ “Entrepreneurship: a driver of the world economy” น่าจะเป็นอีกหนึ่งโอกาสดีที่จีนจะใช้ดึงดูดการลงทุนและกระตุ้นเศรษฐกิจจากผู้นำและนักธุรกิจจากต่างประเทศที่จะไปร่วมการประชุมดังกล่าว
ทั่วโลกคาดหวังให้จีนประสบความสำเร็จในการประคับประคองการเติบโตทางเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไปได้ โดยเฉพาะไทย เพราะนักวิเคราะห์เศรษฐกิจไทยมีมุมมองไปในทิศทางเดียวกันว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจจีนอย่างมาก ทั้งการเป็นคู่ค้าสำคัญ ตลาดส่งออก และการที่ไทยหวังพึ่งพานักท่องเที่ยวจีนกลับไปกระตุ้นเศรษฐกิจไทยอีกครั้ง
ทีนี้ เมื่อพิจารณาจากปัญหาเศรษฐกิจที่จีนกำลังเผชิญ อาจเป็นไปได้ว่า ปัญหาสำคัญของจีนที่ต้องเร่งแก้ไขให้ได้จะเป็นเรื่องรากฐานเศรษฐกิจภายในประเทศอย่างธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และการลดอัตราว่างงาน ซึ่งอาจเป็นเรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลจีนไม่ควรมองข้าม เพราะตราบใดที่การแข่งขันและความขัดแย้งกับสหรัฐอเมริกายังคงอยู่ เรื่องความไม่แน่นอนจากบรรยากาศการแข่งขันนี้จะเป็นปัจจัยกระทบต่อเศรษฐกิจจีนเรื่อย ๆ ซึ่งถ้าหากว่าจีนมีรากฐานอย่างภาคอสังหาริมทรัพย์ที่แข็งแกร่งมากกว่าที่เป็นอยู่ และเพิ่มการจ้างงานให้กับคนรุ่นใหม่ ๆ ก็อาจทำให้จีนฟื้นฟูความเชื่อมั่นในการบริโภค และประคับประคองการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้ต่อเนื่องได้มากกว่าที่เป็นอยู่ในตอนนี้
ท้ายที่สุดนี้ อยากฝากให้ทำความเข้าใจเรื่องอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนที่อาจจะเชื่องช้าลง ทั้งหมดนี้อาจไม่ได้แปลว่าจีนกำลังย่ำแย่หรือถดถอย เพราะต้องไม่ลืมว่าที่ผ่านมาเศรษฐกิจจีนขยายตัวเร็วมากกว่าประเทศอื่น ๆ ดังนั้น การที่จีนขยายตัวน้อยลง ไม่ได้แปลว่าหยุดโต แต่อาจอยู่ในมุมที่จีนกำลังขยายตัวอย่างช้า ๆ เพื่อปรับรากฐานเศรษฐกิจให้มีความยั่งยืนก็เป็นไปได้