ความมั่นคงหรือความอยู่รอดปลอดภัยของระบบการเมืองและสังคมภายในรัสเซีย กลายเป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสนใจอย่างใกล้ชิด หลังเกิดเหตุการณ์ระทึก…เมื่อผู้นำกลุ่มทหารรับจ้างมือดีของรัสเซีย หรือ Wagner Group ประกาศผ่านแอปพลิเคชันเทเลแกรมเมื่อ 23 มิถุนายน 2566 ว่าจะก่อการปฏิวัติและเดินขบวนเพื่อทวงคืนความยุติธรรม เพื่อต่อต้านอำนาจของกระทรวงกลาโหมรัสเซีย และโค่นล้มผู้ครองอำนาจสูงสุดทางทหารในกรุงมอสโก เพราะพวกเขาเอาเปรียบและลอบบั่นทอนความเคลื่อนไหวของกลุ่ม Wagner มาโดยตลอด ทั้งที่ใช้กลุ่มเป็นแนวหน้าในการต่อสู้ในปฏิบัติการพิเศษทางการทหารในยูเครน และหลังจากที่ใช้เวลาประมาณ 36 ชั่วโมงเคลื่อนกำลังเข้าใกล้กรุงมอสโควมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยมีการต่อสู้กับกองทัพรัสเซียด้วยนั้น ผู้นำกลุ่ม Wagner ก็ประกาศยุติการปฏิวัติ และรับข้อเสนอจากผู้นำเบลารุสที่ให้ยุติการก่อเหตุวุ่นวายครั้งนี้ แล้วย้ายไปอยู่เบลารุส โดยไม่ต้องรับโทษจากรัสเซีย
………..เหตุการณ์เดินขบวนดังกล่าวจึงจบลงที่ความพยายามของกลุ่ม Wagner ที่ไม่บรรลุเป้าหมาย และผู้ครองอำนาจการเมืองและการทหารของรัสเซียก็ยังไม่มีความเปลี่ยนแปลง
กระนั้นแม้เหตุการณ์จะจบลงแล้ว และยังไม่มีความสูญเสียมากไปกว่าการปะทะกันระหว่างกองกำลังของทั้ง 2 ฝ่าย แต่บรรยากาศ “ความกังวล” และ “ความสงสัย” เกี่ยวกับสถานการณ์ที่ระทึกใจครั้งนี้ยังไม่จบ รวมทั้งได้เริ่มสร้างคำถามเกี่ยวกับความมั่นคงภายในของรัสเซียในอนาคต ตลอดจนกลายเป็นเหตุการณ์ที่สร้าง “ความเป็นไปได้ใหม่” ที่หลายคนไม่เคยคาดคิดเกี่ยวกับรัสเซีย ก็คือ ความเป็นไปได้ที่จะเกิดความพยายามในการปฏิวัติหรือท้าทายอำนาจกองทัพรัสเซียโดยกลุ่มทหารรับจ้าง
กลุ่มทหารรับจ้างคืออะไร…ตามปกติ กลุ่มทหารรับจ้าง คือ ธุรกิจที่เกิดขึ้นเมื่อโลกเผชิญสภาวะความขัดแย้งด้วยอาวุธมากขึ้น และผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการทหารและยุทธวิธีไม่ต้องการอยู่ภายใต้สังกัดรัฐใดรัฐหนึ่งอีกต่อไป รวมทั้งต้องการได้รับสิ่งตอบแทนจากการเข้าร่วมต่อสู้เป็น “เงินว่าจ้าง” ทำให้เกิด “ทหารรับจ้าง” อาชีพ หรือ mercenary หรือ Private Military Company สำหรับแนวคิดที่ทำให้เกิดอาชีพทหารรับจ้าง หรือการทำให้การทหารกลายเป็นเรื่องธุรกิจ (military privatization) อาจมองได้ว่าเป็นแนวคิดเสรีนิยมใหม่ (neo-liberalism) ที่เห็นโอกาสในการทำธุรกิจด้านความมั่นคงปลอดภัยและการทหาร ในช่วงที่มีสถานการณ์ความไม่มั่นคงในอัฟกานิสถานและอิรัก ทำให้ธุรกิจทหารรับจ้างบูมขึ้นมาก และกระจายไปทั่วโลก รวมทั้งกลุ่ม Wagner ที่สร้างชื่อเสียงจากปฏิบัติการรัสเซีย-ไครเมียเมื่อปี 2557 และมีหลายข้อมูลที่ยืนยันว่า นาย Yevgeny Prigozhin ผู้นำกลุ่ม Wagner นี้มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซียด้วย เคยได้รับฉายาว่า “พ่อครัวของปูติน” เนื่องจากเคยทำหน้าที่จัดหาอาหารในงานเลี้ยงให้รัฐบาลรัสเซีย
ดังนั้น บทบาทของกลุ่ม Wagner อาจจะแตกต่างจากนักรบรับจ้างบริษัทอื่น ๆ เพราะกลุ่ม Wagner ได้รับบทบาทสำคัญในการต่อสู้ของรัสเซีย และมีรายงานว่ากลุ่ม Wagner ได้รับเงินสนับสนุนจากหน่วยข่าวกรองทหารของรัสเซียด้วย ซึ่งที่มาที่ไปของกลุ่ม Wagner ยังคงเป็นประเด็นลับ ๆ ที่ยังไม่มีใครยืนยันได้ว่าทหารเหล่านี้รวมตัวกันได้ยังไง เริ่มจากตรงไหน ก่อนหน้านี้ รัฐบาลรัสเซียปฏิเสธการมีอยู่ของกลุ่ม Wagner เพราะเป็นเรื่องขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญของรัสเซีย แต่ผลงานของกลุ่ม Wagner ในต่างประเทศ ประกอบกับสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนล่าสุดทำให้ชื่อของกลุ่ม Wagner กลับมาเป็นที่รู้จักในสื่ออีกครั้ง จนกระทั่งกลายเป็นประเด็นสำคัญเมื่อกลุ่ม Wagner เคลื่อนไหวต่อต้านกองทัพรัสเซีย
จริง ๆ แล้วในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ผู้นำกลุ่ม Wagner ได้ออกมาใช้สื่อสังคมออนไลน์โจมตีบทบาทของกองทัพและผู้นำกระทรวงกลาโหมของรัสเซียอย่างดุเดือดและต่อเนื่อง ตั้งแต่โจมตีว่าไม่เคยสนับสนุนกลุ่ม Wagner ในสมรภูมิสำคัญ ๆ แถมยังไปโจมตีใส่กองกำลังของกลุ่มอีกด้วย จนกระทั่งถึงการประกาศต่อต้านกองทัพรัสเซียเมื่อ 23 มิถุนายนที่ผ่านมา แม้ว่าผู้นำกลุ่ม Wagner จะยืนยันว่าไม่มีเป้าหมายท้าทายอำนาจประธานาธิบดีรัสเซีย แต่การเคลื่อนไหวในลักษณะนี้เท่ากับทำให้ชาวรัสเซียและทั่วโลกเห็นว่า มีกองกำลังที่พร้อมบ่อนทำลายความมั่นคงปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยของรัสเซีย และนี่เป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2536 ที่มีกองกำลังต่อต้านรัฐบาลรัสเซียเกิดขึ้น
ความเคลื่อนไหวของกลุ่ม Wagner อาจส่งผลอะไรต่อความมั่นคงปลอดภัยภายในประเทศของรัสเซียบ้าง? ขอแบ่งแยกเป็น 4 ประเด็นที่เราได้เห็นจากเหตุการณ์นี้
ประการแรก…หลายฝ่ายกำลังมอง “พลังอำนาจ” ของประธานาธิบดีปูตินเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะการที่ประธานาธิบดีปูตินตัดสินใจให้ผู้นำและสมาชิกกลุ่ม Wagner ที่เคลื่อนไหวครั้งนี้ยุติทุกอย่างแล้วย้ายไปอยู่เบลารุสแทน โดยไม่เอาเรื่องไปมากกว่านี้ เท่ากับว่าเปิดโอกาสให้กลุ่ม Wagner เคลื่อนไหวในลักษณะนี้ได้อีก การตัดสินใจของประธานาธิบดีปูติน..ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลเบื้องลึกเบื้องหลังยังไง กลายเป็นการเปิดช่องให้นักวิเคราะห์วิจารณ์ทั่วโลกมองว่ารัสเซียอ่อนแอ และไม่ว่าจริง ๆ แล้ว…เบื้องหลังการเดินขบวนของกลุ่ม Wagner ครั้งนี้ที่คลี่คลายได้ในระยะเวลาอันสั้น จะมี hidden agenda อะไรซ่อนอยู่รึเปล่า แต่ทั่วโลกกำลังสงสัยในการแสดงอำนาจของประธานาธิบดีปูตินในกรณีนี้
ประการที่สอง…ยังคงเป็นเรื่อง “พลังอำนาจ” ของผู้นำรัสเซียในกรณีนี้ เพราะแม้ว่าหลายฝ่ายจะเคลือบแคลงการตัดสินใจของปูตินที่ดู “อ่อนโยน” กว่าปกติ แต่ก็มีนักวิเคราะห์จำนวนไม่น้อยที่เชื่อว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นอาจเป็นโอกาสให้ประธานาธิบดีปูตินกระชับอำนาจเด็ดขาดมากขึ้นได้ …เพราะสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อทำให้เราได้ยินกระแสข่าวบ่อย ๆ ว่าผู้นำทางการเมืองและกลุ่มผู้มีอำนาจในรัสเซียบางส่วนเริ่มไม่เห็นด้วยกับการปฏิบัติการทางการทหารของปูตินที่ล่าช้า และอาจจะกำลังเอาใจออกห่างประธานาธิบดีปูติน ดังนั้น ความเคลื่อนไหวของกลุ่ม Wagner ที่ไม่ว่าจะมาจากเจตนาใดก็ตาม …จะเอื้อให้ปูตินใช้อำนาจได้เต็มที่เพื่อปกป้องและรักษาความมั่นคงของรัสเซีย นั่นรวมถึงการปราบปรามใครก็ตามที่คิดจะต่อต้านรัสเซียหลังจากนี้ด้วย ซึ่งก็อาจจะเป็นผลดีต่อการเลือกตั้งรัสเซียที่จะมีขึ้นในปี 2567
ประการที่สาม…กลุ่ม Wagner ซึ่งคิดว่าตัวเองบรรลุเป้าหมายในการเคลื่อนไหวแล้ว อาจเพิ่มความเป็นไปได้ที่กองกำลังต่อต้านรัสเซียอื่น ๆ จะก่อเหตุในลักษณะเดียวกันได้หรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้ มีเหตุโจมตีผลประโยชน์ของรัสเซียในประเทศรัสเซียเกิดขึ้นแล้วหลายครั้ง และที่น่ากังวล คือ การที่รัสเซียตกเป็นเป้าโจมตีของกองกำลังที่ประกาศตัวชัดเจนว่าต่อต้านระบอบการปกครองของปูติน ที่เคลื่อนไหวข้ามพรมแดนมาจากยูเครน สถานการณ์แบบนี้อาจทำให้กองกำลังต่าง ๆ ฮึกเหิมและอาจจะลองก่อเหตุดูบ้าง แต่คาดว่าจะไม่สามารถทำได้ในระดับที่กลุ่ม Wagner ทำ เพราะตอนนี้รัสเซียยกระดับมาตรการรักษาความปลอดภัยเข้มงวด ขณะที่หน่วยข่าวกรองรัสเซียกำลังระดมกำลังสืบสวนกรณีนี้อย่างเต็มที่ โดยยังมีความเป็นไปได้ที่จะดำเนินคดีต่อผู้นำกลุ่ม Wagner อีกครั้ง ตามมาตรา 279 ของ Russian Criminal Code จึงไม่น่าจะมีการเคลื่อนกำลังขนาดใหญ่ในรัสเซียได้อีกเร็ว ๆ นี้
ประการที่สี่…สถานการณ์ครั้งนี้ทำให้เราได้เห็นขีดความสามารถของรัสเซียในการฟื้นฟูความสงบเรียบร้อยภายในประเทศภายในเวลาอันรวดเร็ว หลังจากเผชิญหน้ากับความไม่แน่นอน เราได้เห็นการใช้มาตรการเด็ดขาดทั้งในมิติกฎหมายและการทหารเพื่อปกป้องเมืองหลวงให้พ้นจากการโจมตีด้วยกองกำลังติดอาวุธ ได้เห็นว่ารัฐบาลรัสเซียให้ความสำคัญกับการ “สื่อสาร” ไปยังประเทศอื่น ๆ ให้เข้าใจสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น รวมทั้งน่าจะเพื่อรวบรวมข้อมูลข่าวสารและข่าวกรองที่จำเป็นต่อการตัดสินใจนโยบายในช่วงเวลาสำคัญด้วย โดยเฉพาะการสื่อสารกับประเทศเพื่อนบ้านใกล้ชิด และเมื่อสถานการณ์คลี่คลาย ผู้นำรัฐบาลและผู้นำกองทัพรัสเซียต่างก็เคลื่อนไหวเพื่อให้ชาวรัสเซียและทั่วโลกได้เห็นว่า “สถานการณ์ยังอยู่ภายใต้การควบคุม” และ “จัดการได้” ขณะที่นักการเมืองและผู้มีอิทธิพลในรัสเซียตอนนี้ก็ออกมาแสดงการสนับสนุนรัฐบาลประธานาธิบดีปูติน เพื่อให้ชาวรัสเซียเห็นว่ากลุ่มผู้นำและรัฐบาลมีเอกภาพ และหลาย ๆ ส่วนก็ใช้โอกาสนี้ขู่รัฐบาลต่างประเทศไม่ให้เข้ามาแสวงประโยชน์จากสถานการณ์ครั้งนี้ด้วย เพราะในตอนนี้ ชาวรัสเซียต่างก็สนับสนุนรัฐบาลและต้องการให้ความมั่นคงภายในรัสเซียมีเสถียรภาพ ตลอดจนสงบเรียบร้อย
จะเห็นได้ว่า เมื่อมองจากหลาย ๆ มุม สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจากความเคลื่อนไหวของกลุ่ม Wagner ในรัสเซียนั้นอาจเป็นได้ทั้งความท้าทายและโอกาสสำหรับความมั่นคงภายในของรัสเซีย และยิ่งทุกวันนี้….สถานการณ์ความมั่นคงและความคิดเห็นของชาวรัสเซียต่อนโยบายของรัฐบาลนั้นมีปัจจัยหลายอย่างมาเกี่ยวข้องและอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปได้ง่ายขึ้น ดังนั้น…ไม่ว่าผลลัพธ์ของการเดินขบวนของกลุ่ม Wagner จะสร้างความเปลี่ยนแปลงภายในรัสเซียได้หรือไม่ อย่างน้อย ๆ เหตุการณ์ครั้งนี้ก็ทำให้เราได้เห็นว่า สถานการณ์ที่ไม่คาดคิดและเหนือความคาดหมาย (unpredictable) นั้นสามารถเกิดขึ้นได้ง่าย และตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ (non-state actor) ยังคงมีบทบาทสำคัญในโลกที่วุ่นวายและซับซ้อนทุกวันนี้ แม้ว่ารัฐจะพยายามสร้างอำนาจควบคุมให้เหนือกว่าก็ตาม…