หลังจากที่กระทรวงสาธารณสุขของไทยได้ประกาศให้กัญชาออกจากบัญชียาเสพติดโดยมีผลเมื่อ 9 มิถุนายน 2565 ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวในการปลูกและการขายกัญชามากขึ้น แต่เส้นทางของกัญชาในตลาดประเทศไทยยังคงไม่ชัดเจน และอาจกลายเป็นเรื่องซับซ้อนทางการเมืองและสังคม เพราะพืชชนิดนี้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สูงจนทำให้มีผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้องหลายฝ่าย ในขณะที่พืชในตระกูลกัญชาอย่าง “กัญชง” กลับมีอนาคตที่สดใสกว่า
“กัญชง” เป็นพืชที่มีการใช้อยู่แล้วในสังคม แม้จะอยู่ในบัญชียาเสพติดประเภทที่ 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 เพราะมีปริมาณ THC หรือ Tetrahydrocannabinol ที่มีฤทธิ์มึนเมาเช่นเดียวกับกัญชา แต่กัญชงมีประโยชน์ได้มากกว่า…หากนำไปใช้ในด้านอื่น ๆ
ที่ผ่านมา มีการนำกัญชงไปใช้ประโยชน์ในหลากหลายด้านที่ไม่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ได้แก่ สิ่งทอ กระดาษ สารสกัดในอุตสาหกรรมอาหาร เป็นต้น แต่ในปัจจุบัน กัญชงสามารถไปต่อได้ดีมากกว่านั้น!! ไม่ว่าจะเป็นการเป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญ หรือการใช้ทำเป็นวัสดุปิดผิวที่แข็งแรง ซึ่งจะเป็นวัสดุทดแทนที่จะตอบโจทย์ความยั่งยืน
เมื่อพูดถึงประโยชน์ของกัญชง เราพบว่า “เส้นใยในลำต้นของกัญชง” เมื่อนำไปชุบสารเสริมความแข็งแรงจะสามารถรับแรงกระแทกได้ดีกว่าเหล็กถึง 10 เท่า ทำให้เกิดวัสดุทอที่มีคุณสมบัติในการควบคุมอุณหภูมิ ดูดซับความชื้นได้ ทนต่อรังสียูวี และต้านทานไฟฟ้าสถิต นอกจากนี้ ด้วยความเป็นเส้นใยไฟเบอร์ จึงเป็นวัสดุทอที่มีความแข็งแรงและมีน้ำหนักเบา สามารถขึ้นรูปได้อย่างอิสระ และสามารถนำไปใช้แทนพลาสติก หรือเหล็กได้
บริษัทรถยนต์ เช่น ฟอร์ดและบีเอ็มดับเบิลยู จึงมีการใช้วัสดุทอจากใยกัญชงเป็นชิ้นส่วนประกอบของรถยนต์ ไม่ว่าจะเป็นผ้าคลุมเบาะรถยนต์ วัสดุปิดผิว และชิ้นส่วนโครงสร้างรถยนต์ โดยในปัจจุบันได้มีการสร้างเครื่องบินเล็กจากวัสดุใยกัญชง โดยบริษัท Hempearth เพื่อพิสูจน์ให้เห็นถึงความแข็งแรงของใยกัญชง ดังนั้น เส้นใยกัญชงจึงเป็นทางเลือกของวัสดุจากธรรมชาติ ที่น่าใช้งาน เพราะมีคาร์บอนฟุตปริ้นท์ต่ำกว่าการถลุงเหมืองเหล็กหรือการผลิตพลาสติกจากปิโตรเลียมอย่างมาก
นั่นคือตัวอย่างประโยชน์จากการต่อยอดการใช้ใยของลำต้นกัญชง แต่กัญชงยังมีส่วนอื่นๆ ทั้ง ใบ ดอก ราก ที่นำมาใช้ประโยชน์ได้อีก ไม่ว่าจะเป็น “กาก” ที่เหลือจากการสกัดน้ำมันกัญชงเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมและเครื่องสำอางค์ ยังสามารถมาสกัดเป็นโปรตีนได้ เพราะในกัญชงมีโปรตีนเป็นส่วนประกอบไม่ต่ำกว่า 23% และยังเป็นโปรตีนที่มีคุณภาพสูง เป็นทางเลือกของแหล่งโปรตีนจากพืช ที่อาจจะมาทดแทนเวย์โปรตีนจากนม เพราะปศุสัตว์โคนมนั้นปล่อยก๊าซมีเทนสู่บรรยากาศที่มีความรุนแรงกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ไม่ต่ำกว่า 25 เท่า “กัญชง” จึงเป็นแหล่งโปรตีนที่มีคาร์บอนฟุตปริ้นท์ที่ต่ำกว่าการสร้างแหล่งโปรตีนชนิดอื่นๆ
ในส่วนของ “น้ำมันกัญชง” นั้น เป็นที่ยอมรับในการใช้เพื่อประโยชน์ด้านสาธารณสุข เนื่องจากในกัญชงมีส่วนประกอบของ CBD และ THC ….จริง ๆ แล้ว สิ่งที่ทำให้กัญชงได้เปรียบกัญชา ไม่ใช่แค่ประโยชน์ที่หลากหลาย แต่คือ “การปลูกที่ง่ายดาย” กัญชงเป็นพืชเติบโตเร็ว สามารถเก็บเกี่ยวได้ 3-4 ครั้งต่อปี ทนต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ปลูกได้ในหลายภูมิภาค การปลูกกัญชงจึงใช้ต้นทุนต่ำ หากเปรียบเทียบกับกัญชาที่ต้องปลูกในระบบปิด ที่ควบคุมแร่ธาตุในดิน อุณหภูมิและความชื้น เพื่อให้ปริมาณสารสกัดในปริมาณที่มากที่สุด ต้นทุนในการปลูกกัญชาจึงสูงมากกว่า ดังนั้น เกษตรกรทั่วไปไม่สามารถปลูกกัญชาให้ได้ราคาดีในระดับ medical grade ได้
“กัญชง” จึงอาจถือเป็นพืชเศรษฐกิจทางเลือกอีกประเภทหนึ่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจได้ดีจากการเอาไปใช้ประโยชน์ในทางที่ถูกกฎหมาย รวมทั้งสามารถตอบโจทย์การสร้างความยั่งยืน หรือ sustainability ซึ่งเป็นกระแสนิยมทั่วโลก