“บริษัทจะเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ได้ ต้องมีกำไรสุทธิไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท” นั่นเป็นทั้งเป้าหมาย และมูลค่าของบริษัทที่จะต้องก้าวผ่านให้ได้เพื่อเข้าสู่ตลาด ซึ่งเป็นผลดีต่อการสร้างความน่าเชื่อถือ จนไปสู่การระดมทุนที่จะทำให้การเติบโตของบริษัทพุ่งทะยานสู่ความสำเร็จได้ย่างรวดเร็ว
อย่างไรก็ตาม มูลค่าของบริษัทไม่ได้เกิดขึ้นจากเพียงกำไรที่ได้จากการค้าขายหรือค่าจ้างเพียงอย่างเดียว ยกตัวอย่างเช่น แพลตฟอร์มโซเชียลชื่อดังอย่าง Twitter แม้จะมี User จำนวนมากอยู่ในอันดับ 6 ของแพลตฟอร์มประเภทใกล้เคียงกัน แต่สามารถทำมูลค่าบริษัทได้ 1.6 ล้านล้านบาท หรือธุรกิจขนส่ง Kerry มีผลประกอบการติดลบไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านบาท แต่ธุรกิจยังคงดำเนินการต่อได้ และได้รับความน่าเชื่อถือ พิสูจน์ได้จากการได้รับรางวัล Brand Impact Award 2022
…..นั่นเพราะมูลค่าของธุรกิจเหล่านั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับกำไรที่ได้เพียงอย่างเดียว แต่ยังมี “มูลค่าทางด้านอื่น ๆ” ที่กลายเป็นสิ่งดึงดูดหรืออำนาจทางการตลาดและการค้า ซึ่งทำให้บริษัทเหล่านั้นมีมูลค่าสูงมากกว่าที่คิด โดยมูลค่ามหาศาลเหล่านั้นเกิดขึ้นได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น Brand, Technology, Property, Market Share และ License
บทความนี้จะมาชวนดู “มูลค่าแฝง” ในบริษัทต่าง ๆ ที่จะทำให้ธุรกิจเติบโตได้ดี เพื่อทำความเข้าใจการดำเนินธุรกิจในปัจจุบันว่าทำไมถึงต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนามูลค่าแฝงเหล่านี้!!
อันดับแรก “Brand” หรือ ชื่อที่บ่งบอกภาพลักษณ์หรือภาพจำของสินค้าและบริการ การการันตีคุณภาพที่คุ้มราคา การสร้าง Brand จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะเข้าถึงลูกค้ากลุ่มเป้าหมายที่ถูกต้อง สินค้าหรือบริการที่มาจากบริษัทเดียวกัน จะมีการเปลี่ยนชื่อใช้ Brand ให้เหมาะกับกลุ่มเป้าหมายเพื่อความชัดเจนของสินค้าและบริการ รวมถึงการเปลี่ยนภาพลักษณ์ Brand ปรับ Logo อยู่เสมอ เพื่อเกาะกลุ่มลูกค้าที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ดึงความสนใจเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ อยู่เสมอ เพื่อการเติบโตของธุรกิจ
ต่อมา “Technology” การเป็นเจ้าของนวัตกรรมหรือองค์ความรู้ ถือว่าเป็นไพ่ใบสำคัญในการสร้างมูลค่าให้การทำธุรกิจอยู่เหนือกว่าคู่แข่งอื่นๆ และแน่นอนว่าเทคโนโลยีนั้นมีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา นั่นหมายถึงมูลค่าของธุรกิจจากเทคโนโลยี ก็สามารถเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้เช่นกัน
“Property” ไม่เพียงแค่ร้านอาหารชื่อดัง (Brand) ที่มีวิธีการปรุงอาหารที่ล้ำเลิศ แต่จำนวนสาขาที่เปิดอยู่ทั่วไปเป็นอีก “ตัวแปรสำคัญ” ที่จะทำให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง สินทรัพย์โดยเฉพาะที่ดินหรืออาคารที่ธุรกิจครอบครองด้วยการซื้อกรรมสิทธิ์หรือการเช่า บ่งบอกถึงความสามารถในการเข้าถึงตัวลูกค้า ที่จะสามารถต่อยอดธุรกิจเพิ่มเติม เพื่อบริการลูกค้า เหมือนกับจำนวนสาขาของร้านสะดวกซื้อที่สามารถจะเสริมบริการใดๆ เข้าไปเพิ่มเติม โดยการกระจายตัวของสาขาที่มีอยู่แล้วทุกพื้นที่ ซึ่งในปัจจุบันการตลาดออนไลน์ได้แบ่งตลาดส่วนนี้ไปไม่น้อยแล้วแต่ประเภทของธุรกิจ
“Market Share” …ปัจจุบัน ไม่ใช่แค่ในตลาดออนไลน์ที่การครอบครอง user ของผู้บริโภค จะเป็นการถือครองส่วนแบ่งทางการตลาดสูงสุด เพราะการแข่งขัน “การครองส่วนแบ่งทางการตลาด” เกิดขึ้นกับการบริการหรือสินค้าทุกชนิดที่เป็นประเภทเดียวกัน ธุรกิจใดที่ครอบครองส่วนแบ่งทางการตลาดมากที่สุดก็มีความมั่นคงมากพอที่จะสร้างผลกำไรจากบริการและการขายได้มากกว่า จึงเป็นที่น่าสนใจในการลงทุนมากกว่า ในส่วนของธุรกิจที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดในลำดับรองลงมา ก็ยังมีโอกาสและเป็นที่น่าสนใจในการลงทุนได้ด้วยเช่นกัน เพราะตลาดนั้นมีความยืดหยุ่น และสามารถขยายตัวได้ทั้งในและต่างประเทศ ไม่ได้จำกัดปริมาณความต้องการเท่าเดิม และทำให้ผู้ที่อยู่อันดับหนึ่งของส่วนแบ่งทางการตลาดนั้นสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา
“License” หรือใบอนุญาตในการทำกิจกรรมการค้าอย่างใดอย่างหนึ่ง สัมปทาน หรือสิทธิบัตรทางปัญญา ที่บ่งบอกถึงความเฉพาะเจาะจงในการดำเนินการธุรกิจที่บริษัทสามารถทำได้เท่านั้น เป็นการลดจำนวนคู่แข่งทางการตลาดที่ไม่มีใบอนุญาตเหล่านี้ เช่น การทำเหมืองแร่ การผลิตไฟฟ้า การนำเข้าและจัดจำหน่ายสินค้าจากต่างประเทศบางรายการ แต่ลักษณะของ ใบอนุญาตนั้นจะมีระยะเวลาจำกัดในการดำเนินการตามอายุของใบอนุญาต มูลค่าของบริษัทจาก License จึงมีความเปลี่ยนแปลงได้
จะเห็นได้ว่า มูลค่าแฝงต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น B T P M หรือ L สามารถสร้างโอกาสให้ธุรกิจได้เติบโตในโลกที่มีการแข่งขันสูงและมีปัจจัยอื่น ๆ สร้างผลกระทบต่อธุรกิจได้ตลอดเวลา ดังนั้น ต่อจากนี้ เราจะเข้าใจและสังเกตได้ว่าธุรกิจรอบตัวเรามีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนามูลค่าแฝงเหล่านี้อยู่เสมอ เพื่อดึงดูดความสนใจของลูกค้าและพาให้ธุรกิจสามารถขยายตัว หรือเอาตัวรอดในยุคสมัยต่าง ๆ ต่อไปได้ นอกจากนี้ เรื่องมูลค่าแฝงเหล่านี้อาจสามารถนำไปปรับใช้กับภาคส่วนอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ธุรกิจเพียงอย่างเดียว เพราะทุกองค์กรและหน่วยงานต่างก็ต้องการการพัฒนา รวมทั้งสร้างความแข็งแกร่งให้ภาพลักษณ์องค์กรต่อไปด้วย จึงน่าสนใจไม่น้อย ถ้าเราได้เห็นหน่วยงานราชการหรือองค์กรต่าง ๆ เอาเรื่อง “มูลค่าแฝง” เหล่านี้ไปพัฒนาแนวทางการสร้างความสำเร็จให้องค์กรได้ต่อไป…