เงินเฟ้อ (Inflation) คือ ภาวะที่ราคาสินค้าหรือบริการโดยทั่วไป มีแนวโน้มที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง หากเงินเฟ้อเพิ่มมากขึ้นก็จะกระทบกับความเป็นอยู่ของประชาชน และสาเหตุที่เกิดมักมาจาก 1) ประชาชนต้องการซื้อสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น (Demand-Pull Inflation) ประกอบกับสินค้าและบริการที่ในตลาดมีไม่เพียงพอ ทำให้ผู้ขายปรับราคาสินค้าและบริการสูงขึ้น คือการเพิ่มขึ้นของความต้องการสินค้าและบริการอาจมาจากหลายสาเหตุ 2) ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น (Cost-Push Inflation) กล่าวคือ หากผู้ผลิตไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้นได้ จะทำให้ผู้ผลิตต้องปรับราคาสินค้าและบริการให้สูงขึ้นด้วย ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น… อาจมาจากค่าแรงที่เพิ่มขึ้น หรือราคาวัตถุดิบเพิ่มสูงขึ้น จะทำให้ราคาสินค้าต้องเพิ่มขึ้นด้วย ราคาสินค้าสูงขึ้นผู้บริโภคต้องใช้เงินมากกว่าเดิม ทำให้ปริมาณเงินที่ไหลเข้าสู่ตลาดมากขึ้น และ 3) การที่รัฐบาลพิมพ์เงินเพิ่มจำนวนมาก (Printing Money Inflation) ส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงของปริมาณเงินในระบบ ตัวอย่างในกลุ่มประเทศละตินอเมริกาช่วงปี 1980 รัฐบาลเห็นว่าประชาชนไม่มีเงิน จึงพิมพ์เงินเพิ่ม ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อขั้นรุนแรง (Hyperinflation) คนมีเงินมากขึ้น แต่ซื้อของไม่ได้ เพราะราคาสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หรือไม่มีสินค้าขาย หรือในอีกแง่หนึ่งคือ มูลค่าเงินด้อยค่าลงอย่างรวดเร็ว
สำหรับสภาวะเศรษฐกิจไทยในช่วงนี้…จากแถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงิน ประจำเดือนเมษายน ปี 2566 โดยธนาคารแห่งประเทศไทย เผยแพร่เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 มีรายละเอียดที่สำคัญ ดังนี้
1. เศรษฐกิจไทย ยังอยู่ในทิศทางฟื้นตัวจากกิจกรรมในภาคบริการที่ขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวสอดคล้องกับจำนวนนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติที่เพิ่มขึ้น และสนับสนุนให้เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนปรับเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม มูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำปรับลดลงสอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมและเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชน ขณะที่การใช้จ่ายของภาครัฐหดตัวเล็กน้อยจากรายจ่ายประจำของรัฐบาลกลางที่เร่งเบิกจ่ายไปแล้วในช่วงก่อนหน้า และรายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจจากผลของฐานสูงในปีก่อน
2. เสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงจากผลของฐานสูงในหมวดอาหารสด และหมวดเงินเฟ้อพื้นฐาน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ด้านตลาดแรงงานโดยรวมฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจ สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลจากดุลการค้าที่เกินดุลลดลงเป็นสำคัญ เสถียรภาพเศรษฐกิจไทยกล่าวสรุป คือ 1) อัตราเงินเฟ้อทั่วไป มีการลดลง 2) ตลาดแรงงาน ปรับดีขึ้นจากเดือนมีนาคม 2566 และ 3) ดุลบัญชีเดินสะพัด อยู่ในสภาวะขาดดุล
ปรากฏรายละเอียดภาพเศรษฐกิจไทย คือ 1) การส่งออกสินค้า (ไม่รวมทองคำ) ปรับลดลง ร้อยละ -1.5 จากเดือนมีนาคม 2566 2) การนำเข้าสินค้า (ไม่รวมทองคำ) ปรับเพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.85 จากเดือนมีนาคม 2566 3) จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ขยายตัว จากเดือนมีนาคม 2566 4) การบริโภคภาคเอกชน ปรับเพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.6 จากเดือนมีนาคม 2566 5) การลงทุนภาคเอกชน ปรับลดลง ร้อยละ – 0.8 จากเดือนมีนาคม 2566 และ 6) การใช้จ่ายภาครัฐ (ไม่รวมเงินโอน) หดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน
ประเด็นที่ต้องติดตาม …….เพื่อคาดการณ์สถานการณ์เงินเฟ้อในประเทศไทยในห้วงต่อไป..จึงได้แก่ 1. เศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกที่มีความไม่แน่นอนและผันผวนสูง 2. การส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการที่อาจเพิ่มขึ้นและส่งผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค และ 3. ความไม่แน่นอนของการจัดตั้งรัฐบาล
ทั้งนี้มีการประมาณการเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ ในปี พ.ศ. 2566 ข้อมูล ณ 31 พฤษภาคม 2566..คือ
1. อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 3.6 จากเดิมร้อยละ 3.6 ที่ปรากฏในรายงานนโยบายการเงิน ไตรมาสที่ 1 ปี 2566
2. อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ร้อยละ 2.5 จากเดิมร้อยละ 2.9 ที่ปรากฏในรายงานนโยบายการเงิน ไตรมาสที่ 1 ปี 2566
3. อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ร้อยละ 2.0 จากเดิมร้อยละ 2.4 ที่ปรากฏในรายงานนโยบายการเงิน ไตรมาสที่ 1 ปี 2566
จากข้อมูลสถานการณ์เศรษฐกิจและเงินเฟ้อของประเทศไทยที่กำหนดเงินเฟ้อ ปี พ.ศ. 2566 ร้อยละ 3 แต่คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติการกำหนดกรอบเป้าหมายนโยบายการเงินสำหรับปี 2566 และเป้าหมายระยะปานกลางไว้ที่ระยะ 1 – 3 อย่างไรก็ตามจากสถานการณ์ในเดือนเมษายน 2566 ปรากฏว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไป มีการลดลง ดังนั้นก็ควรมีวิธีการรับมือกับสถานการณ์เงินเฟ้อในอนาคต เพื่อให้เกิดสภาพคล่องทางการเงินในแต่ละครัวเรือน
วิธีรับมือกับภาวะเงินเฟ้อ 4 แนวทาง ได้แก่ 1) วางแผนการลงทุน ในสถานการณ์ที่เกิดภาวะเงินเฟ้อ จะส่งผลให้ดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ในระดับที่ต่ำ ซึ่งการวางแผนการลงทุน โดยนำเงินที่มีไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า แต่การลงทุนในสินทรัพย์ใดก็ตามที่ให้ผลตอบแทนที่มากกว่านั้น ก็มักจะตามมาด้วยความเสี่ยงที่มากขึ้นเช่นเดียวกัน 2) ลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความมั่นคง การเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความมั่นคงและปลอดภัย 3) หลีกเลี่ยงการก่อหนี้เสีย หรือหลีกเลี่ยงการก่อหนี้ที่ไม่ทำให้เกิดรายได้นั่นเอง โดยควรมีความยั้งคิดยั้งทำในเรื่องการเงิน หลีกเลี่ยงการซื้อของที่ไม่จำเป็น และมีการวางแผนการใช้จ่ายอย่างรัดกุมให้มากขึ้น ไม่ควรให้หนี้มีมากกว่า 30 – 40% ของรายได้ และ 4) ติดตามข่าวสารอยู่เสมอ เพราะเรื่อง “เงินเฟ้อ” ส่งผลกระทบต่อฐานะทางการเงิน และการดำรงชีพของเราทุกคนอย่างมีนัยยะสำคัญ….จึงควรติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อที่จะได้เตรียมความพร้อมและรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที
อ้างอิง
https://www.bot.or.th/th/news-and-media/news/news-20230531.html
https://www.kasikornasset.com/th/market-update/Pages/04-Inflation-come-from.aspxhttps://www.krungsri.com/th/plearn-plearn/deal-with-inflation-life
https://www.prachachat.net/prachachat-wealth/news-1069084
https://www.sanook.com/money/862100/
https://www.bot.or.th/th/thai-economy/economic-outlook.html