กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้เผยแพร่รายงานประเมินสถานการณ์การค้ามนุษย์ประจำปี 2566 หรือ TIP Report เมื่อ 15 มิถุนายน 2566 เพื่อเสนอให้ฝ่ายนิติบัญญัติสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้อนุมัติงบประมาณ พิจารณาและอนุญาตให้กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ดำเนินนโยบายและโครงการต่าง ๆ เพื่อร่วมมือกับประเทศทั่วโลกในการแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์ที่เป็นทั้งอาชญากรรมข้ามชาติ สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจ ขัดแย้งต่อค่านิยมเสรีภาพของสหรัฐฯ และเป็นผลเสียต่อความมั่นคงมนุษย์ในภาพกว้าง สำหรับข้อมูลที่อเมริกาใช้ในการจัดทำรายงานนี้ก็มาจากหลากหลายแหล่ง
รายงานของสหรัฐอเมริกาลักษณะนี้จัดทำขึ้นทุกปี โดยมีการประเมินสถานการณ์ค้ามนุษย์ใน 188 ประเทศและเขตเศรษฐกิจทั่วโลก รวมทั้งสหรัฐฯ เอง และแน่นอนรวมถึงไทยด้วย โดยในปีนี้ สหรัฐอเมริกาให้ความสำคัญกับเรื่องการต่อต้านการค้ามนุษย์มากขึ้น เพราะต้องการทำให้ทั่วโลกเห็นว่าสหรัฐอเมริกาเอาจริงกับการแก้ไขปัญหานี้ และการออกรายงาน TIP Report ก็ไม่ใช่เป็นเพียงเครื่องมือดำเนินนโยบายต่างประเทศเท่านั้น โดยประธานาธิบดีโจเซพ ไบเดนยกระดับการแก้ไขปัญหาดังกล่าวผ่านการกำหนดแผนระดับชาติ หรือ National Action Plan to Combat Human Trafficking ที่ทำให้การต่อต้านค้ามนุษย์เป็นวาระสำคัญของความมั่นคงแห่งชาติ
สำหรับมุมมองของสหรัฐฯ ต่อปัญหาค้ามนุษย์ในไทยปีนี้ มีมุมมองว่าไทยมีความคืบหน้าและตั้งใจแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์ แต่ยังไม่ถึงมาตรฐานที่สหรัฐฯ กำหนดไว้ ดังนั้น ไทยจึงยังคงอยู่ในกลุ่มประเทศ Tier 2 หรือประเทศที่ดำเนินการยังไม่สอดคล้องกับกฎหมายดังกล่าว แต่ได้แสดงให้เห็นถึงความพยายามแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ซึ่งไทยอยู่ในกลุ่มนี้ต่อเนื่องเหมือนปีที่แล้ว
เมื่อพิจารณาดูจากการที่ไทยอยู่ใน Tier 2 เช่นเดิม ก็ถือว่ามุมมองของสหรัฐฯ ต่อไทยไม่ย่ำแย่ เพราะไทยไม่ตกไปอยู่กลุ่มที่มีภาพลักษณ์แย่กว่าอย่าง Tier 2 Watch List หรือ Tier 3 และที่ผ่านมา เรายังได้ยินข่าวเรื่องขบวนการค้ามนุษย์ที่ใช้ไทยเป็นทางผ่านอยู่เรื่อย ๆ จึงสอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ไทยยังมีปัญหานี้อยู่ และพยายามแก้ไขอย่างจริงจัง นอกจากนี้ การที่สหรัฐฯ ยังกำหนดมาตรฐานการให้ความช่วยเหลือเหยื่อจากการค้ามนุษย์เอาไว้สูงมาก ทำให้แม้ว่าไทยจะให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ และมีความร่วมมือกับภาคเอกชน รวมทั้งภาคประชาสังคมและ NGO ให้เข้าไปมีบทบาทในการช่วยเหลือเหยื่อจากการค้ามนุษย์ จนเคยมีคนไทยได้รับรางวัล TIP Hero มาแล้ว แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเปลี่ยนมุมมองของสหรัฐฯ ต่อแนวปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์ของไทยให้ไปอยู่ในกลุ่ม Tier 1 หรือประเทศที่ทำตามมาตรฐานขั้นต่ำของสหรัฐฯ ได้
ส่วนมุมมองของสหรัฐฯ ต่อสถานการณ์ค้ามนุษย์ในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อื่น ๆ ที่อยู่ในรายงานฉบับนี้ มีสิงคโปร์และฟิลิปปินส์ได้อยู่ Tier 1 อินโดนีเซีย ลาว ติมอร์เลสเต อยู่ Tier 2 เหมือนไทย บรูไน มาเลเซีย และเวียดนามอยู่ Tier 2 Watch List ส่วนเมียนมา และกัมพูชา อยู่ Tier 3
มีประเด็นที่น่าสนใจจากรายงาน TIP Report ฉบับนี้ ที่อาจจะโดดเด่นกว่าปีก่อน ๆ อาจแบ่งได้เป็น 3-4 ประเด็น
ประเด็นแรก….การที่สหรัฐอเมริกาห่วงกังวลเป็นพิเศษต่อปัญหาค้ามนุษย์ที่เกิดจากอาชญากรรมออนไลน์ อาชญากรรมทางไซเบอร์ โดยเฉพาะ Cyber Scam Operations และการหลอกลวงทางอินเทอร์เน็ต หรือ Scam Factories เรื่องนี้เป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่า การใช้สื่อสังคมออนไลน์และเทคโนโลยีการสื่อสารรูปแบบใหม่ ๆ กลายเป็นการเปิดโอกาสให้กลุ่มอาชญากรแสวงประโยชน์เพื่อหลอกลวงผู้อื่นมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการหลอกลวงด้วยการปลอมแปลงตัวตน แอบอ้างเป็นหน่วยงานที่ให้บริการต่าง ๆ ทำให้มีเหยื่อค้ามนุษย์จากกรณีนี้เพิ่มขึ้นจำนวนมาก และกระจายไปทั่วโลก
ประเด็นที่สอง… ปีนี้สหรัฐฯ ห่วงกังวลการค้ามนุษย์ที่เกิดขึ้นในแหล่งอาชญากรรมข้ามชาติที่มาพร้อมกับโครงการเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เรื่องนี้เน้น ๆ ไปที่แหล่งอาชญากรรมข้ามชาติที่เกี่ยวข้องกับจีน ไม่ว่าจะเป็นคาสิโน โรงแรม และสถานบันเทิงที่ขยายตัวมากขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเชื่อมโยงกับประเด็นแรก เพราะสถานที่เหล่านี้ใช้ Scam Factories หรือการหลอกลวงออนไลน์เป็นเครื่องมือในการดำเนินการ อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่า สหรัฐฯ ใช้รายงานฉบับนี้ไฮไลท์ประเด็นนี้ค่อนข้างมาก มีการเล่าถึงตัวอย่างต่าง ๆ ทั้งที่เชื่อมโยงกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรวมถึงไทยและประเทศเพื่อนบ้าน
ประเด็นที่สาม…สหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความร่วมมือแบบเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และเหยื่อที่ได้รับผลกระทบจากการค้ามนุษย์อย่างมาก โดยเสนอให้มีการร่วมมือกันแบบ multidisciplinary partnerships เพื่อส่งเสริมแนวทางแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์ให้ครอบคลุมทั้ง 3 ด้าน หรือ 3P ได้แก่ การปกป้อง (protection) การดำเนินคดี (prosecution) และการป้องกัน (prevention) ที่เป็นตัวชี้วัดสำคัญในการแก้ไขปัญหาและป้องกันการค้ามนุษย์
ประเด็นที่สี่…การที่ฟิลิปปินส์ได้อยู่ใน Tier 1 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 8 ถือว่าเป็นเรื่องน่าสนใจ เท่ากับฟิลิปปินส์ประสบความสำเร็จในการทำให้สหรัฐอเมริกาเห็นว่ามีความต่อเนื่องในการแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์ โดยเฉพาะแนวทางแก้ไขปัญหาโดยทุกภาคส่วนของรัฐ หรือ whole-of-government approach ตลอดจนการเน้นปรับปรุงกฎหมาย และร่วมมือกับภาคประชาสังคมอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ รายงานของอเมริกามีการถ่ายทอดประสบการณ์ของเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์ชาวฟิลิปปินส์ด้วย เท่ากับว่า การแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับประสบการณ์ของเหยื่อค้ามนุษย์อย่างเต็มใจ อาจเป็นอีกหนึ่งตัวชี้วัดที่ทำให้สหรัฐฯ มีมุมมองว่าการแก้ไขปัญหาของฟิลิปปินส์นั้นได้มาตรฐานขั้นต่ำ เพราะมีความร่วมมือกับเหยื่ออย่างใกล้ชิด และให้สถานะเหยื่อเท่าเทียมกับผู้ให้ความช่วยเหลือ
การศึกษาจากประเทศที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินการเพื่อให้สหรัฐอเมริกายอมรับ และให้อยู่ในกลุ่ม Tier 1 อาจจะเป็นสิ่งไทยเร่งดำเนินการเพิ่มเติมจากที่ทำได้ดีอยู่แล้ว เพราะเมื่อดูจากมุมมองของอเมริกาต่อปัญหาการค้ามนุษย์ทั่วโลกในปีนี้…ดูเหมือนว่า รัฐบาลสหรัฐฯ จะยังให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ต่อไป เพราะเป็นค่านิยมสำคัญของสหรัฐฯ เป็นมุมมองที่สหรัฐฯ ใช้เพิ่มความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ ได้ โดยเฉพาะในเรื่องที่สหรัฐฯ สนใจ อย่างความเคลื่อนไหวของจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และท้ายที่สุด “ปัญหาค้ามนุษย์” ยังเป็นประเด็นที่สหรัฐฯ ใช้ขยายบทบาทและร่วมมือกับสื่อมวลชน สถาบันวิชาการ และองค์กรพัฒนาเอกชนในต่างประเทศได้ในระยะยาว
——————————————————