ในการประชุมประจำปีของ World Economic Forum ที่จัดขึ้นที่เมืองเทียนจินในจีน เมื่อ 27-29 มิถุนายน 2566 นายกรัฐมนตรีหลี่เฉียงของจีนได้ใช้โอกาสนี้โน้มน้าวให้ผู้เข้าร่วมการประชุมดังกล่าวเห็นว่า นโยบาย De-Risking Supply Chains หรือการลดความเสี่ยงด้านห่วงโซ่อุปทาน ที่กำลังเป็นกระแสเกิดขึ้นในประเทศตะวันตก โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกานั้น ไม่ใช่นโยบายที่จะเป็นผลดีต่อบรรยากาศการค้าและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของโลก เพราะว่านโยบายดังกล่าวส่งผลให้นักธุรกิจอเมริกันไม่มั่นใจที่จะไปลงทุนในจีน รวมทั้งประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย เนื่องจากพวกเขาต้องประเมินความเสี่ยงหลายอย่าง และต้องผ่านด่านการตรวจสอบจากรัฐบาลสหรัฐฯ ด้วย ถึงจะสามารถไปลงทุนในต่างประเทศได้อย่างถูกต้อง
นโยบายนี้…ในมุมมองของจีนจึงเป็นการสร้างปัญหามากกว่าการสร้างความมั่นคงให้กับห่วงโซ่อุปทานและการผลิตของโลก และไม่แตกต่างจากนโยบาย Decoupling ทางเศรษฐกิจและการค้า หรือการแยกห่วงโซ่อุปทานของโลก อย่างที่ทั่วโลกเคยเชื่อว่าอเมริกาจะดำเนินนโยบายดังกล่าวเพื่อลดขีดความสามารถในการเติบโตของจีน และขัดขวางจีนไม่ให้ก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจของโลก
ย้อนกลับไปดูว่า นโยบาย De-Risking Supply Chains ที่จีนพูดถึงนี่มีที่มาอย่างไร? …ก็พบว่า สหรัฐอเมริกาและสมาชิก G7 พูดถึงนโยบาย De-Risking Supply Chains ในการประชุมสุดยอด G7 ที่เมืองฮิโรชิม่า ญี่ปุ่น เมื่อ พฤษภาคม 2566 โดยบอกว่า “การดำเนินนโยบายของสหรัฐฯ และสมาชิก G7 ไม่ได้ตั้งใจหรือมีความมุ่งหมายที่จะแยกห่วงโซ่การผลิตจากจีน หรือประเทศใด ๆ เลย รวมทั้งไม่ใช่การปกป้องทางการค้า เพียงแต่เป็นการกระจายความเสี่ยง บริหารจัดการการลงทุนและการค้าให้ยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อรับมือกับโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว”
….. ซึ่งนโยบาย De-Risking Supply Chains ดูเหมือนจะได้รับการต้อนรับอย่างดีจากโลกตะวันตก เนื่องจากทุกประเทศเห็นด้วยกับ G7 ว่ายุคนี้ที่โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และมีโอกาสเกิดสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการก่อสงคราม โรคระบาด หรือภัยธรรมชาติ เรื่องเหล่านี้สามารถทำให้กระบวนการการผลิตสินค้าหยุดชะงักได้ง่ายขึ้น ดังนั้น การดำเนินธุรกิจและกระบวนการผลิตโดยให้ความสำคัญกับการกระจายความเสี่ยง น่าจะเป็น “แนวทางแก้ไข” ที่เหมาะสมกับยุคปัจจุบันและอนาคต
นั่นคือความมุ่งหมายของสหรัฐอเมริกาและ G7 ในตอนที่รณรงค์ให้ทั่วโลกดำเนินนโยบาย De-Risking Supply Chains แต่!!! จีนไม่ได้มองนโยบายนี้แบบนั้น… และการเปลี่ยนชื่อนโยบายนี้จีนไม่เชื่อว่าเป็นการ “ยื่นกิ่งมะกอก” หรือเสนอการอยู่ร่วมกันอย่างสันติให้กับจีน เพราะอะไร!? ….ก็เพราะจากนั้นไม่นาน สหรัฐฯ กับประเทศที่เป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนต่าง ๆ ก็ทยอยประกาศมาตรการตรวจสอบการดำเนินธุรกิจและการค้ากับต่างประเทศ โดยใช้ประเด็นความมั่นคงแห่งชาติมาเป็นเหตุผลสนับสนุนให้ภาคเอกชนต้องปฏิบัติตาม รวมทั้งมีการมุ่งเป้าตรวจสอบไปที่ธุรกิจและการดำเนินกิจกรรมทางการค้าร่วมกับบริษัทจีนด้วย
นอกจากนี้ จีนมีความเห็นของธนาคารโลก (World Bank) เมื่อปี 2559 ที่เตือนว่า การลดความเสี่ยงในภาคการเงิน (De-risking in the Financial Sector) อาจไม่เป็นผลดีต่อผู้ให้บริการโอนเงินต่างประเทศ หรือธนาคารขนาดเล็กในบางภูมิภาค รวมทั้งประเทศขนาดเล็ก เพราะนโยบายดังกล่าวจะตัดโอกาสให้กลุ่มคนหรือธนาคารเหล่านี้เข้าสู่ตลาดการเงิน มุมมองดังกล่าวมาจากการศึกษาผลจากการใช้นโยบาย De-risking เพื่อป้องกันความเสี่ยงในภาคการเงินและธนาคารตั้งแต่ปี 2548
มุมมองของธนาคารโลกต่อนโยบาย De-risking จึงยิ่งทำให้จีนเชื่อมั่นว่านโยบาย De-risking ด้านห่วงโซ่การผลิต ก็น่าจะส่งผลกระทบต่อจีน ที่มีโอกาสถูก “ตัดโอกาส” จากห่วงโซ่การผลิตหลักของโลก
ผู้มีอำนาจและครองตำแหน่งใหญ่ ๆ ของจีนในตอนนี้ ต่างก็พูดถึงเรื่องนี้ในทุก ๆ เวทีการประชุมระหว่างประเทศ นอกเหนือจากการประชุม World Economic Forum ที่เมืองเทียนจิน ล่าสุด คือ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ในการประชุมสุดยอดองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Cooperation Organisation – SCO) เมื่อ 4 กรกฎาคม 2566 ได้มีถ้อยแถลงที่มีความหมายอยู่ว่า “จีนคัดค้านการดำเนินนโยบายปกป้องการค้าของประเทศอื่น ๆ” ขณะเดียวกัน สื่อมวลชนของจีนก็เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับผลเสียและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินนโยบายของสหรัฐฯ และพันธมิตรอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งส่งสัญญาณด้วยว่า การดำเนินนโยบายของสหรัฐฯ จะไม่เป็นผลดีต่อความสัมพันธ์ของ 2 ประเทศ จากที่เดิมก็มีปัญหาและความขัดแย้งกันหลายเรื่อง แต่ก็ยังไม่สามารถเคลียร์ปัญหาและความเห็นต่างเรื่องนโยบายการค้าระหว่างกันได้
ถ้าถามว่าทำไมเรื่องนี้สหรัฐอเมริกากับจีนถึงยอมกันไม่ได้เลย!!? …คำตอบก็คือ เพราะการเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและการค้า เป็นเป้าหมายที่ทั้งจีนและอเมริกาต้องการจะเอามาครอบครอง เพื่อให้มีสิทธิและความชอบธรรมในการกำหนดทิศทางการดำเนินนโยบายการค้าของประเทศอื่น ๆ และที่สำคัญ ก็เพื่อสร้างผลงานให้ประชาชนในประเทศตัวเองยังเชื่อมั่นต่อรัฐบาล
ดังนั้น อาจเป็นไปได้เช่นกันว่า การที่ “จีน” ออกมาทำให้ประชาคมระหว่างประเทศเห็นว่านโยบาย De-Risking Supply Chains ของอเมริกาจะไม่เป็นผลดีอย่างไรต่อประเทศอื่น ๆ นั้นอาจเป็นไปด้วยเหตุผล 3 อย่าง ประการแรก คือ การตอบโต้ประเทศตะวันตกที่พยายามใช้นโยบายชื่อใหม่ เป็น “ปกหน้า” ว่าดำเนินมาตรการเพื่อป้องกันความเสี่ยงทางเศรษฐกิจและการค้าของโลก แต่จริง ๆ แล้ว “เนื้อใน” ของนโยบายนี้เป็นการกีดกันการค้าและเพิ่มอุปสรรคให้กับประเทศที่ไม่เข้าข้างโลกตะวันตกนั่นเอง …ประการที่สอง จีนเล่นบทบาทเชิงรุกขนาดนี้ เพื่อต้องการให้ประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะในเอเชีย หันกลับไปเห็นด้วยและร่วมมือกับจีนมากขึ้นแทน เพราะภาวะเศรษฐกิจของจีนตอนนี้แม้จะเติบโตต่อเนื่อง แต่ก็มีสัญญาณชะลอตัวที่ไม่น่าจะเป็นผลดีต่อชาวจีนสักเท่าไหร่ …
ส่วนประการสุดท้าย…แต่ไม่ท้ายสุด จีนอาจกำลังเบี่ยงเบนความสนใจของนานาชาติ ให้ไปมุ่งเน้นที่เรื่องนโยบายของสหรัฐฯ ว่าไม่ดีอย่างนั้นอย่างนี้ เพื่อสร้างกระแสกดดันให้สหรัฐฯ ยอมผ่อนปรนนโยบาย โดยเฉพาะในช่วงที่จีนกับอเมริกามีโอกาสจะคุยกันเรื่องนโยบายเศรษฐกิจและการค้า จากการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ จะไปเยือนจีนในต้น กรกฎาคม 2566 เพื่อรักษาระดับความสัมพันธ์ให้ราบรื่น
อย่างไรก็ตาม เราต้องไม่ลืมว่า จีนเองก็มีนโยบายที่ตอบโต้มาตรการของสหรัฐอเมริกา และประเทศอื่น ๆ เช่นกัน ดังนั้น การทำความเข้าใจนโยบาย De-Risking Supply Chains ของโลกตะวันตกให้ชัดเจน ควบคู่กับศึกษาคำเตือนของจีนอย่างรอบคอบ และปรับใช้นโยบายการค้าต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับบริบทความร่วมมือท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง และความไม่แน่นอนของโลก น่าจะเป็นแนวทางที่ไทยนำไปใช้ได้เพื่อ “ลดความเสี่ยง” ที่จะส่งผลกระทบต่อการผลิตของไทยที่เป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ
——————————————————-