สถานการณ์การเมืองที่สาธารณรัฐไนเจอร์ หรือไนเจอร์ ประเทศที่อยู่ในภูมิภาคแอฟริกา ไม่ราบรื่นนัก หลังจากผู้นำกองทัพไนเจอร์ยึดอำนาจประธานาธิบดี Mohamed Bazoum เมื่อ 28 กรกฎาคม 2566 สาเหตุที่สถานการณ์ยังไม่สงบราบรื่น ก็เพราะนานาชาติไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้สักเท่าไหร่ ทั้งเรื่องการยึดอำนาจและการควบคุมตัวประธานาธิบดี Bazoum เอาไว้ แม้ว่านายพลอับดุลราห์มาน ทะเชียอานี ผู้นำการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและผู้ที่แต่งตั้งตัวเองขึ้นเป็นประธานสภาแห่งชาติเพื่อการปกป้องมาตุภูมิจะย้ำว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจำเป็นต่อความมั่นคงของไนเจอร์ แต่นานาชาติกลับมองว่าการยึดอำนาจจากประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้ง จะไม่เป็นผลดีต่อความมั่นคงของไนเจอร์ในระยะยาว
……..การคัดค้านดังกล่าวทำให้ตอนนี้มีรายงานว่าหลายประเทศตัดสินใจกดดันผู้นำกองทัพไนเจอร์ด้วยการยุติการส่งความช่วยเหลือไปให้ไนเจอร์ ทยอยอพยพพลเมืองออกจากพื้นที่ รวมทั้งประกาศยืนยันว่าจะสนับสนุนรัฐบาลประธานาธิบดี Bazoum เท่านั้น …ซึ่งเท่ากับว่า ประเทศไนเจอร์ที่มีผู้นำเป็นพลเอกทะเชียอานี จะไม่ได้รับการยอมรับจากนานาชาตินั่นเอง
ถ้าเปรียบเทียบกันอย่างง่ายที่สุด ก็คงจะคล้ายสถานการณ์ในเมียนมา หรือสถานการณ์ในอัฟกานิสถาน ที่มีการยึดอำนาจแล้วนานาประเทศไม่ยอมรับสถานะของรัฐบาลที่ขึ้นมาใหม่
ย้อนกลับไปดูว่าเหตุการณ์ความมั่นคงทางการเมืองของไนเจอร์ที่ผ่านมาเป็นยังไง ทำไมถึงเกิดการยึดอำนาจ และทำไมหลายประเทศจึงเป็นห่วงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น… สำหรับการเมืองของไนเจอร์ที่ผ่านมา ว่ากันว่านายพลทะเซียอานีจำเป็นต้องชิงยึดอำนาจประธานาธิบดีและรัฐบาลโดยเร็ว เพราะประธานาธิบดีไนเจอร์เตรียมจะสั่งปลดนายพลทะเซียอานีอยู่แล้ว ….ซึ่งอาจเพราะเขาเริ่มมีอำนาจ ได้รับความนิยมและมี connection มากเกินไป สามารถคุมกองกำลังทหารชั้นนำของประเทศได้มากถึง 700 คน จนอาจเป็นสาเหตุให้ประธานาธิบดีไม่ไว้วางใจ และตั้งใจจะปลดนายพลคนดังกล่าวจากตำแหน่งหัวหน้ากองกำลังปกป้องประธานาธิบดี
นอกเหนือจากความไม่ไว้วางใจระหว่างผู้มีอำนาจทางการเมืองและความมั่นคงในไนเจอร์ เมื่อไปดูในมุมมองของพลเอกทะเซียอานี เขาก็มีเหตุผลว่า การที่รัฐบาลไนเจอร์เปิดทางให้กองทัพต่างประเทศเข้าไปตั้งฐานกำลังในไนเจอร์จำนวนมาก ทั้งจากสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และสหภาพยุโรป เพื่อเข้าไปต่อต้านกลุ่มก่อความไม่สงบและกลุ่มก่อการร้าย อย่างอัลกออิดะห์ กลุ่ม Islamic State (IS) และกลุ่มโบโกฮาราม การปฏิบัติการของทหารต่างประเทศบางส่วนทำให้ชาวไนเจอร์ไม่พอใจ เพราะสู้มาตั้งนานแต่ไม่สามารถเอาชนะได้สักที ซ้ำร้าย…ปฏิบัติการของทหารต่างชาติเหล่านี้หลายครั้งทำให้ชาวไนเจอร์ได้รับผลกระทบ เรื่องนี้อาจทำให้นายพลทะเซียอานีไม่พอใจ นอกเหนือจากประเด็นความสงสัยว่า รัฐบาล Bazoum เกี่ยวข้องกับประเทศตะวันตกมากเกินไป และประธานาธิบดี Bazoum อาจไม่ได้มีเชื้อสายมาจากกลุ่มชาติพันธุ์ในไนเจอร์
นอกจากนี้ อาจเป็นเพราะ “ประวัติศาสตร์” ของไนเจอร์ได้เป็นบทเรียนที่ทำให้รัฐบาลต้องพิจารณาป้องกันการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองแบบฉับพลันนี้ เพราะที่ผ่านมากว่า 63 ปีหลังจากได้รับเอกราชจากฝรั่งเศส ไนเจอร์ผ่านการยึดอำนาจมาแล้วอย่างน้อย 4 ครั้ง และก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดี Bazoum เคยจะถูกยึดอำนาจไปแล้วก่อนสาบานตนเข้ารับตำแหน่งผู้นำประเทศ แต่ก็ไม่สำเร็จ ครั้งนั้นทำให้นานาชาติ โดยเฉพาะประเทศตะวันตกและเพื่อนบ้านของไนเจอร์มีความหวังว่า การเมืองไนเจอร์จะเปลี่ยนแปลงไปและพ้นจากการยึดอำนาจได้
อย่างไรก็ตาม การที่ไนเจอร์เจอ “ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย” และครั้งนี้ดูเหมือนว่าจะมีสถานการณ์ที่แตกต่างจากในอดีต เพราะผู้นำทหารมีท่าทีแข็งกร้าวมากกว่าทุกครั้ง ทั้งการประกาศขู่ห้ามไม่ให้มีการแทรกแซงจากต่างชาติ และการที่ดูเหมือนจะไม่สนใจคำเรียกร้องของ Economic Community of West African States ( ECOWAS) หรือองค์การระดับภูมิภาคที่คัดค้านการยึดอำนาจครั้งนี้
เพราะอะไร….??? ก็อาจเป็นเพราะผู้นำทหารไนเจอร์มี “ดีล” ใหม่กับประเทศมหาอำนาจอย่างรัสเซีย ที่อาจติดตามสถานการณ์นี้อยู่เงียบ ๆ และใกล้ชิด เพราะนี่อาจเป็นโอกาสสำคัญที่รัสเซียจะเข้าไปแทนที่อิทธิพลของประเทศตะวันตกในไนเจอร์ และเมื่อดูจากปฏิกิริยาของชาวไนเจอร์จำนวนมากที่ออกมาต่อต้านกองทัพฝรั่งเศส แต่สนับสนุนบทบาทของรัสเซียเข้าไปแทนที่ …ก็มีความเป็นไปได้ไม่น้อยที่รัสเซียจะใช้โอกาสนี้เพิ่มบทบาทในไนเจอร์แทน แต่เรื่องนี้ต้องดูความชัดเจนของสภาแห่งชาติเพื่อการปกป้องมาตุภูมิ เพราะหากจะย้ายค่ายเข้าไปหารัสเซีย หรือแม้กระทั่งเชิญกลุ่ม Wagner เข้าไป เพราะเคยปฏิบัติการสำเร็จที่ประเทศในแอฟริกาอย่างมาลี บูร์กินาฟาโซ และกินี ซึ่งไนเจอร์อาจต้องแลกกับการสูญเสียความช่วยเหลือจากประเทศตะวันตกด้วย
สาเหตุที่ไนเจอร์เป็นประเทศเล็ก ๆ ไม่ติดทะเล ติดอันดับประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก แต่ได้รับความสนใจจากหลายประเทศ ก็เพราะไนเจอร์เป็นประเทศที่มีทรัพยากรอย่างแร่ยูเรเนียมมากติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก ซึ่งแร่ยูเรเนียมก็เอาไว้ใช้ในอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ เช่น การผลิตเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ และอุตสาหกรรมผลิตเครื่องบิน
สิ่งที่เกิดขึ้นในไนเจอร์ตอนนี้…จะส่งผลกระทบต่อภูมิภาคอย่างไร?? หากสภาแห่งชาติเพื่อการปกป้องมาตุภูมิเปลี่ยนใจเพราะแรงกดดันจากนานาชาติมากเกินกว่าจะจัดการได้ และตัดสินใจปล่อยตัวประธานาธิบดี Bazoum อาจทำให้เกิดการเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาระหว่างกลุ่มอำนาจต่าง ๆ ได้เร็ว โดยที่ยังได้รับความช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจและการพัฒนาจากต่างประเทศต่อไป …แต่ถ้าไม่มีการประนีประนอมเกิดขึ้น หลายฝ่ายกังวลว่า อาจเกิดการยึดอำนาจซ้อน หรือความพยายามที่จะใช้กองกำลังต่างชาติแทรกแซงเข้าไปเพื่อรักษาความมั่นคงปลอดภัยและปราบปรามการขยายตัวของกลุ่มก่อการร้ายในพื้นที่ที่พร้อมจะลุกฮือเมื่อไนเจอร์ไม่มีเสถียรภาพ
และที่สำคัญ…การยึดอำนาจในไนเจอร์เป็นการตอกย้ำว่า “ประชาธิปไตย” ในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตกกำลังตกอยู่ในความเสี่ยง เพราะในระยะ 4 ปีที่ผ่านมา มีความพยายามจะยึดอำนาจจากรัฐบาลประชาธิปไตยแล้วอย่างน้อย 7 ครั้งในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตก และครั้งล่าสุดที่ไนเจอร์นี้ อาจเป็นการกระตุ้นให้เกิดการตั้งคำถามว่า “ประชาธิปไตย” แบบใดที่จะเหมาะสมกับความต้องการและความเป็นอยู่ของประชาชนในภูมิภาคนี้ และแนวทางการส่งเสริมประชาธิปไตยควรเริ่มจากการให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชน เคารพหลักกฎหมายและส่งเสริมการมีส่วนร่วมก่อนหรือไม่? เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการยึดอำนาจแบบวนลูป หรือปัญหาจากการใช้คำว่าประชาธิปไตยเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มอำนาจเพียงไม่กี่กลุ่ม จนเกิดภาวะการเมืองแบบประชาธิปไตยแต่ “ผิวเผิน” และไม่เข้มแข็งพอ ซึ่งอาจนำไปสู่ความชอบธรรมในการยึดอำนาจ “เพื่อประชาชน” ต่อไปนั่นเอง…