“ชนใดไม่มีดนตรีกาล ในสันดานเป็นคนชอบกลนัก…” ถ้อยคำนี้ปรากฏในพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว บทเพลงนับว่าเป็นวรรณกรรมประเภทหนึ่งที่มีบทบาทต่อสังคมไม่น้อยไปกว่าวรรณกรรมประเภทอื่น เพราะนอกจากให้ความบังเทิงแล้ว ยังได้สะท้อนปัญหาสังคมไว้อย่างแยบยล บทเพลงในแต่ละยุคแต่ละสมัยจึงมีความแตกต่าง เพราะสภาพแวดล้อมทางสังคมได้เปลี่ยนไปตามยุคตามสมัย
สำหรับยุคบทเพลงเพื่อชีวิต นับว่าเกิดเป็นดนตรีแบบใหม่ร่วมกับศิลปะและวรรณกรรมที่สะท้อนการเมือง ความไม่เท่าเทียมกันระหว่างชนชั้น ปัญหาความยากจน ในห้วงปี พ.ศ. 2516 – 2519 ซึ่งเป็นยุคที่เกิดเหตุการณ์สำคัญทางการเมือง จึงได้เกิดบทเพลงที่แฝงไปด้วยแนวความคิดต่าง ๆ และเริ่มกลับมาแพร่หลายมากขึ้นหลังจากนั้น…..
……..“นางงามตู้กระจก”เป็นเพลงในอัลบั้มเมดอินไทยแลนด์ ที่เป็นอัลบั้มชุดที่ 5 ของคาราบาว วางจำหน่ายเมื่อเดือน ธันวาคม พ.ศ. 2527 ขับร้องโดย เทียรี่ เมฆวัฒนา แต่งโดยแอ๊ด คาราบาว เป็นเพลงที่บอกเล่าถึงความจำเป็นของการมาประกอบอาชีพนี้ โดยเฉพาะปัญหาความยากจน เพื่อเลี้ยงดูครอบครัว หากเกิดเป็นหญิงในครอบครัวยากจน สายลมแห่งโชคชะตาก็อาจพัดพาไปดังในเพลง “นางงามตู้กระจก” ที่เล่าถึงการเข้าสู่ธุรกิจค้าประเวณีเพราะความจำกัดของโอกาสในชีวิตเมื่อทศวรรษ 2520 ซึ่งผู้หญิงวัยทำงานต้องรับภาระเลี้ยงดูทั้งเด็กและคนชราของครอบครัว ดังท่อนนึงของบทเพลง“ทอดถอนใจให้คำนึง หวังวันหนึ่งให้ผ่านไป เพี่อพ่อแม่เป็นอยู่สบาย น้องหญิงชายได้เล่าเรียน”….
ในยุคที่แอ๊ด คาราบาวแต่งเพลงนางงามตู้กระจก ตรงกับยุคที่ประเทศไทยไม่ได้มีนโยบายสาธารณะที่ช่วยเหลือประชาชนในหลายมิติเหมือนสังคมปัจจุบัน อาทิ มีเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุให้ประคับประคองในการใช้ชีวิต นโยบายเรียนฟรี 15 ปีสำหรับเด็ก ๆ ทุกคน ส่วนตัวหนุ่มสาวที่ทำงานก็มีสิทธิตามหลักประกันสังคม แม้ว่าบทเพลงนางงามตู้กระจกจะผ่านมาเกือบ 30 ปี แต่ยังคงปรากฏความร่วมสมัย เพราะบทเพลงเพื่อชีวิตในยุคปัจจุบันก็ยังกล่าวถึงความใฝ่ฝันของชนชั้นล่างไปจนถึงชนชั้นกลาง หรือแม้กระทั่งเล่าในมุมมองความระทมของคนรวย และความซวยของชะตากรรมของคนในสังคม….. เมื่อพิจารณาแล้วกลับกลายว่าแทบจะไม่มีอะไรเปลี่ยนไปนักในยุคปัจจุบัน
“กระดังงาเกรียมไฟ” เป็นการเล่าเรื่องราวยามราตรีจากอาชีพที่แลกเงินตรามาด้วยความเจ็บปวด และเนื้อเพลงที่มีชั้นเชิงผนวกเข้ากับแนวคิดสุภาษิตไทย “กระดังงาลนไฟ” สุภาษิตไทยที่หมายถึง หญิงสาวผู้ผ่านการแต่งงานจนเจนจัดในจังหวะชีวิตคู่ ซึ่งผู้แต่งเพลงได้ตีโจทย์ในมุมมองของเขาเอง หากการลนไฟซ้ำ ๆ จากกลิ่นหอมของกระดังงาก็กลายเป็นกลิ่นไหม้และสุดท้ายก็มอดสลายไป คงไม่แตกต่างจากความเจ็บปวดดังเรือนกายของหญิงสาวที่ถูกกระทำด้วยทางเลือกชีวิตที่ไม่ได้ลิขิตด้วยตัวเอง จึงไม่แปลกหากเพลงนี้แฝงความเจ็บช้ำของหญิงสาว พูดถึงความจนในเรือนกายแต่ไม่จนตรอก เล่าสังคมยามค่ำคืนที่ไม่ได้สวยงามสำหรับบางคน
เพลง“กระดังงาเกรียมไฟ” เนื้อหาแทบไม่ต่างจาก เพลง “นางงามตู้กระจก” ในมิติด้านเนื้อหาซึ่งพูดถึงอาชีพหนึ่งที่ไม่ว่าจะกี่ยุคกี่สมัย ก็ยังคงเป็นพื้นที่สีเทาที่ปรากฏให้เห็นในสังคมไทยอยู่ดี แม้ว่า “กระดังงาเกรียมไฟ” กับเพลง “นางงามตู้กระจก” จะเป็นบทเพลงที่ถูกแต่งในห้วงเวลาที่ห่างกัน 20 กว่าปี โดยเนื้อหาของเพลงก็ยังสะท้อนสังคมว่าหลาย ๆ ปัญหาของประเทศไทยยังไม่ได้ถูกแก้ไขและวกวนกลับมาแบบเดิมๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า
ส่วนความแตกต่างที่ปรากฏในยุคเพลงนางงามตู้กระจก คือการค้าประเวณีในสมัยนั้นยังไม่มีกฎหมายระบุโทษอย่างชัดเจน อย่างในยุคหลังที่มีพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 อย่างไรก็ตามพ.ร.บ. ข้างต้นปรากฏบทลงโทษทางกฎหมายเกี่ยวกับการค้าประเวณีที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันดูจะมีอัตราโทษที่ต่ำเกินไป และไม่มีมาตรการใด ๆ ในการลงโทษผู้ปกครองหากปล่อยปละละเลยให้เด็กและเยาวชนค้าประเวณี
……..ซึ่งในมุมของต่างประเทศการกำหนดความผิดทางอาญาต่อผู้ขายบริการทางเพศมีการกำหนดความผิดทางอาญาอย่างจำกัดเฉพาะแต่การกระทำที่เป็นอันตรายต่อประชาชนและฝ่าฝืนความสงบเรียบร้อยของสังคม โดยถือว่าผู้ขายบริการทางเพศเป็นเหยื่อของการกระทำความผิดที่ต้องได้รับความช่วยเหลือให้กลับคืนสู่สังคม ไม่ว่าจะเป็นการกระทำโดยสมัครใจหรือไม่ก็ตาม ส่วนการกำหนดความผิดทางอาญาต่อผู้ซื้อบริการทางเพศนั้น ดูเหมือนตามกฎหมายของประเทศไทยยังไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ การกำหนดความผิดทางอาญาในเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย เนื่องจากกฎหมายไทยจะมีความผิดต่อเมื่อได้กระทำในสถานการค้าประเวณีเท่านั้น อาจกล่าวได้ว่าระบบการควบคุมค้าประเวณีของไทยนั้น ไม่ห้ามการขายบริการทางเพศ และไม่ห้ามการซื้อบริการทางเพศ ซึ่งระบบกฎหมายการค้าประเวณีของต่างประเทศนั้น ได้กำหนดให้การซื้อประเวณีในสถานที่ใดก็ตามเป็นความผิดอาญาทุกกรณี
จากผลงานวิจัยของนักกฎหมายไทยได้เสนอแนวทางในการปรับปรุงการกำหนดความผิดทางอาญาต่อผู้ซื้อบริการทางเพศ โดยควรปรับปรุงระบบกฎหมายควบคุมการค้าประเวณีที่ใช้มาตรการป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณีที่ประเทศไทยใช้บังคับอยู่ในขณะนี้เป็นระบบห้ามการค้าประเวณี โดยกำหนดโทษทางอาญาแก่ผู้ซื้อบริการทางเพศที่อายุเกิน 18 ปีทุกกรณี และละเว้นโทษแก่ผู้ขายบริการทางเพศทุกกรณีเช่นกัน โดยมองว่า..การมีความต้องการซื้อบริการทางเพศเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการค้าประเวณี หากควบคุมการซื้อได้ ย่อมแก้ไขหรือควบคุมปัญหาการค้าประเวณีได้นั่นเอง โดยควรกำหนดเหตุแห่งการเพิ่มโทษ อันต้องคำนึงถึงวิธีที่ใช้กระทำ ผลร้ายของการกระทำ ระดับอายุของผู้ถูกกระทำ สถานที่ที่กระทำ เพื่อยังคงการคุ้มครองและเป็นการยับยั้งความต้องการในการซื้อบริการทางเพศจากเด็ก
ประเด็นของ Sex worker หรือผู้ให้บริการทางเพศ ในสังคมไทยมีทั้งในส่วนที่มีผู้เห็นด้วย ผู้ไม่เห็นด้วย หรือเห็นด้วยบางส่วน หาก Sex worker หรือผู้ให้บริการทางเพศ เป็นสิ่งที่กระทำได้ถูกต้องตามกฎหมายไทย โดยยังหาข้อยุติประเด็นนี้ไม่ได้และเป็นประเด็นที่ถกเถียงต่อไป ท้ายที่สุดแล้วหากมีการปรับแก้กฎหมายไทยเกี่ยวกับการให้บริการทางเพศในรูปแบบต่าง ๆ ที่มีความครอบคลุมและมีความหลากหลายมากขึ้นตามยุคสมัยที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว คงจะต้องปรับแก้ให้กฎหมายไทยมีความสมัยใหม่ทันกับกระแสสังคมพลวัตที่เกิดขึ้นตลอดเวลา…โดยอาจจะต้องพิจารณาจากกรณีศึกษาที่ปรากฏในสังคมไทยและต่างประเทศ รวมถึงกระแสสังคมและความคิดเห็นของประชาชนในแต่ละห้วงเวลาเป็นสำคัญ
อ้างอิง
https://www.sarakadeelite.com/lite/songs-social-messages/
https://www.thairath.co.th/scoop/theissue/2655951
http://www2.huso.tsu.ac.th/ncom/full_202011383551.pdf
https://grad.dpu.ac.th/upload/content/files/ปีที่%207%20ฉบับที่%201/7-28.pdf
http://thesis.swu.ac.th/swuthesis/Tha/Yanika_O.pdf
http://www.graduate.cmru.ac.th/core/km_file/458.pdf
https://prachatai.com/journal/2015/09/61491
https://www.the101.world/carabao-made-in-thailand/