เมื่อปลายกรกฎาคม 2566 สภากลาโหมและความมั่นคงแห่งชาติของเมียนมาประกาศขยายเวลาการใช้มาตรการฉุกเฉิน หรือ state of emergency ออกไปอีก 6 เดือน หรือถึงมกราคม 2567 โดยให้เหตุผลว่ามาตรการดังกล่าวมีความจำเป็นต่อการรักษาความสงบเรียบร้อยของประเทศ เพราะปัจจุบันยังมีสถานการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง….. ทีนี้ที่สำคัญ การประกาศขยายมาตรการดังกล่าวออกไป เท่ากับว่าเป็นการ “เลื่อนกำหนดการเลือกตั้ง” ของเมียนมา จากเดิมที่กำหนดไว้ในสิงหาคม 2566 ไปเป็นเมื่อไหร่..ก็ยังไม่มีความชัดเจนได้ เพราะ State Administration Council (SAC) ตั้งใจว่าสถานการณ์ความมั่นคงภายในประเทศต้องเรียบร้อยก่อน จึงจะสามารถจัดการเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรม ปราศจากความหวาดกลัวได้
เมื่อวิเคราะห์การตัดสินใจครั้งนี้ของ SAC ก็พอจะเป็นเหตุเป็นผล เพราะในช่วงที่ผ่านมา ยังคงมีรายงานเกี่ยวกับการปะทะระหว่างกองทัพกับกลุ่มต่อต้าน SAC และชนกลุ่มน้อยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในภูมิภาคสะไกง์ รัฐกะเหรี่ยง รัฐคะยา และรัฐฉิน รวมทั้งยังมีรายงานเกี่ยวกับการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพื่อต่อต้านรัฐบาล SAC ของเมียนมาโดยใช้แนวทางสันติอีกด้วย เท่ากับว่า…ในระยะนี้ “ความมั่นคงภายใน” ของเมียนมาอาจยังไม่พร้อมกับการจัดการเลือกตั้ง เพราะการรวมตัวของประชาชนหรือการหาเสียงต่าง ๆ อาจตกเป็นเป้าหมายโจมตีของกลุ่มต่าง ๆ ได้โดยง่าย ดังนั้น การไม่เร่งรีบจัดการเลือกตั้ง และให้ความสำคัญกับการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในก่อน ก็ดูจะเป็นเหตุผลพอที่จะทำให้ SAC ประกาศขยายมาตรการฉุกเฉินต่อไปได้
ตั้งแต่ปี 2564 SAC ได้ขยายมาตรการฉุกเฉินนี้ไปแล้ว 4 ครั้ง และดูเหมือนว่าครั้งนี้ก็ไม่ได้สร้างความประหลาดใจให้กลุ่มต่อต้าน SAC และกองทัพเมียนมาสักเท่าไหร่ เพราะคาดการณ์กันไว้ว่า พลเอกอาวุโสมินอ่องไหลก์ ต้องการรักษาอำนาจการเมืองไว้ให้นานที่สุด และจะใช้มาตรการนี้เป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมในการปราบปรามกลุ่มต่อต้านรัฐบาล ที่ถูกกำหนดไว้ให้เป็น “ผู้ก่อการร้าย” อย่างเต็มที่ สำหรับสถานการณ์การปะทะและความรุนแรงในเมียนมาตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเมื่อปี 2564 มีผู้เสียชีวิตจากการปะทะระหว่างรัฐบาลและกองทัพ กับประชาชนแล้วอย่างน้อย 3,800 คน ถูกจับกุมมากกว่า 24,000 คน
การขยายมาตรการฉุกเฉินครั้งนี้ยังมาพร้อมกับการประกาศให้อภัยโทษบางส่วนแก่อองซานซูจี อดีตมุขมนตรีแห่งรัฐของเมียนมา เนื่องในวันเข้าพรรษา เป็นไปตามธรรมเนียมของเมียนมา และอาจเป็นการผ่อนปรนความตึงเครียดในสังคม รวมทั้งแสดงให้ชาวเมียนมาและทั่วโลกเห็นว่า SAC ไม่ได้มุ่งร้ายต่ออดีตผู้นำฝ่ายประชาธิปไตยขนาดนั้น แต่การให้อภัยโทษครั้งนี้ครอบคลุมแค่ 5 คดี และอองซานซูจีในวัย 78 ปียังต้องโทษอีก 14 คดี เท่ากับว่ายังต้องโทษจำคุกอีกนาน 27 ปี (จากเดิม 33 ปี)
แม้ว่าจะมีการให้อภัยโทษอดีตบุคคลสำคัญทางการเมือง พร้อมทั้งประกาศขยายมาตรการฉุกเฉินเพื่อคงความเข้มข้นในการควบคุมความมั่นคงปลอดภัยในประเทศ ซึ่งอาจทำให้สรุปได้ว่า “สถานการณ์ความมั่นคงในเมียนมาจะไม่เปลี่ยนแปลงไปจากช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เพราะปัจจัยสำคัญอย่างผู้ถือครองอำนาจทางการเมือง (power-holder) ยังคงเป็นรัฐบาล SAC และกองทัพ การเลือกตั้งจะยังไม่เกิดขึ้น และยังไม่มีกลุ่มต่อต้านที่แข็งแกร่งมากพอจะทำลายกองทัพเมียนมาได้” อย่างไรก็ดี ทิศทางการเมืองและความมั่นคงของเมียนมาในปลายปี 2566 นี้อาจมี 2-3 ประเด็นที่น่าติดตาม ดังนี้
……….ประเด็นแรก คือ สถานการณ์การสู้รบระหว่างกองทัพเมียนมากับชนกลุ่มน้อย ที่มีแนวโน้มจะตึงเครียดมากขึ้น ขณะที่กระบวนการสันติภาพยังไม่ลุล่วง 100% โดยในช่วงกรกฎาคม 2566 เป็นต้นมา รายงานเกี่ยวกับจำนวนการสู้รบและผู้ที่ได้รับผลกระทบมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สาเหตุสำคัญมาจากการใช้ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศเพื่อทำลายฐานที่มั่นและกำลังพลของชนกลุ่มน้อย ที่น่าติดตามเป็นเพราะการสู้รบที่รุนแรงมากขึ้นอาจกระตุ้นให้ชนกลุ่มน้อยหรือชาวเมียนมาที่อยู่ในพื้นที่รู้สึกไม่ปลอดภัย และต้องการหนีภัยการสู้รบเข้าไปในบริเวณชายแดนเมียนมา-ไทย
ในระยะที่ผ่านมามีรายงานว่าชาวเมียนมาและชนกลุ่มน้อยหนีภัยการสู้รบเข้ามาบริเวณชายแดนจำนวนมาก แม้ว่าจะไม่มีการพำนักอยู่ในระยะยาว แต่ประเด็นนี้ก็ทำให้ไทยจำเป็นต้องติดตามความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิด เพราะนอกจากอาจต้องป้องกันไม่ให้เกิดเหตุในลักษณะ “รุกล้ำน่านฟ้า” ไทยได้อีก ไทยก็ต้องเตรียมพร้อมให้การดูแลตามหลักสิทธิมนุษยชน มนุษยธรรม ด้วยการจัดสถานที่พักปลอดภัยชั่วคราวแล้ว ก็ยังต้องป้องกันไม่ให้ความเคลื่อนไหวดังกล่าวตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ ลักลอบค้ายาเสพติด และลักลอบค้าอาวุธข้ามประเทศด้วย
จริง ๆ แล้วที่ผ่านมา การสู้รบระหว่างกองทัพเมียนมากับชนกลุ่มน้อยเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ แต่ปัจจัยการเมืองภายในที่มีการใช้กฎระเบียบเพื่อรักษาความมั่นคงภายในประเทศเมียนมาอย่างเข้มงวดอย่างมากนั้น อาจเป็นการสร้าง “แรงขับเคลื่อน” ให้ทุกฝ่ายยกระดับการปะทะและการโจมตีเพื่อรักษาอำนาจในการควบคุมสถานการณ์ในพื้นที่ให้ได้มากที่สุด เพราะชนกลุ่มน้อยเองก็มีเป้าหมายที่มุ่งมั่นจะดูแลพื้นที่และประชาชนของตัวเอง แต่ความมุ่งมั่นนั้นต้องแลกมาด้วยการสูญเสียบางอย่าง..ไม่ว่าจะเป็นอาคาร สถานที่ รวมไปถึงโครงสร้างพื้นฐานที่อยู่ในพื้นที่
……..ประเด็นที่สอง ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยเฉพาะเมียนมากับอาเซียน… แม้ว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ผู้แทนอย่างเป็นทางการของรัฐบาล SAC ของเมียนมายังไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมสำคัญ ๆ ของอาเซียน เนื่องจากอาเซียนจำเป็นต้องมีข้อมูลที่เป็นหลักฐานชี้ชัดมากพอว่า SAC ปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ประการ ส่วนข่าวสารเกี่ยวกับการพบหารือและพัฒนาความร่วมมือระหว่างเมียนมากับสมาชิกอาเซียน ก็จะออกมาในรูปแบบการเชิญโดยประเทศเพื่อนบ้านต่าง ๆ อย่างเช่นที่ไทยดำเนินการไปเมื่อ มิถุนายน 2566 ….แม้ว่าการเชิญของไทยจะตกเป็นประเด็นวิจารณ์มากมาย…แต่ถ้าเราทบทวนผลลัพธ์จากการที่ไทยสามารถรักษาช่องทางพูดคุยกับผู้นำของรัฐบาลเมียนมาไว้ได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งสามารถใช้ช่องทาง “อย่างไม่เป็นทางการ” นี้สื่อสารกับเมียนมาในประเด็นที่อาเซียนห่วงกังวลได้ ก็ดูเหมือนว่าแนวทางนี้สอดคล้องกับการรักษาความมั่นคงของไทยด้วยการสร้างปฏิสัมพันธ์ (engagement) กับผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจมากที่สุด จะเป็นแนวทางที่มีประสิทธิภาพในการปกป้องผลประโยชน์แห่งชาติ และในโลกของการเมืองระหว่างประเทศนั้น การหารืออย่าง “ไม่เป็นทางการ” ช่วยให้สถานการณ์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต่าง ๆ ปรับไปในทิศทางที่ดีขึ้นได้มาหลายกรณีแล้ว
………ประเด็นความมั่นคงเมียนมาสุดท้าย ที่เราอยากจะชวนให้ร่วมกันติดตาม คือ มุมมองของนานาชาติต่อสถานการณ์ในเมียนมา ซึ่งจะมีผลต่อการดำเนินนโยบายของประเทศอื่น ๆ ต่อเมียนมา ตอนนี้มีประเด็นที่องค์กรระหว่างประเทศมีมุมมองว่า กองทัพเมียนมาก่ออาชญากรรมสงคราม โดยล่าสุด เมื่อ 8 สิงหาคม 2566 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 35 ปีเหตุการณ์การลุกฮือของนักศึกษา พระสงฆ์ และประชาชนในเมียนมาเมื่อปี 2531 องค์กรที่ชื่อ Independent Investigative Mechanism for Myanmar(IIMM) ซึ่งอยู่ภายใต้สหประชาชาติได้เผยแพร่ข้อมูลจากการรวบรวมผ่านแหล่งข่าวและข่าวสารที่มีอยู่ สะท้อนว่า กองทัพเมียนมาได้ก่อเหตุที่เรียกว่าเป็นอาชญากรรมสงครามมากขึ้นในช่วงปี 2565-2566 โดยเฉพาะการสังหารหมู่ และการใช้ความรุนแรงระหว่างการจับกุม รวมทั้งการทำร้ายพลเรือน ซึ่งสิ่งที่น่ากังวลจากประเด็นนี้ คือ หากนานาชาติเชื่อในข้อมูลของ IIMM และมีหลักฐานที่มัดตัวกองทัพเมียนมาได้ว่าอยู่เบื้องหลังการก่อเหตุดังกล่าว ก็มีแนวโน้มสูงมาก ๆ ที่บุคคลที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์เหล่านั้นจะต้องถูกคว่ำบาตรจากต่างประเทศมากขึ้น รวมทั้งอาจมีการดำเนินคดีหรือฟ้องร้องต่อกองทัพเมียนมาผ่านศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือศาลอาญาระหว่างประเทศด้วย
…ผลกระทบที่ตามมาอาจกลายเป็น scenario หรือฉากทัศน์ที่ต่อจากนี้ไป องค์กรระหว่างประเทศจะเร่งรวบรวมข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับเมียนมามากขึ้น และมีความเป็นไปได้เช่นกันที่จะส่งเจ้าหน้าที่หรือผู้รวบรวมข้อมูลเรื่องนี้มาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อเก็บเอาหลักฐานและข้อมูลไปประกอบการกดดันรัฐบาลและกองทัพเมียนมาให้ได้มากที่สุด ซึ่งไทยเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกับเมียนมา รวมทั้งมีชาวเมียนมาจำนวนมากอาศัยอยู่ในไทย ย่อมจะเป็นพื้นที่ที่หลาย ๆ องค์กรสนใจเข้ามาเก็บข้อมูลไม่น้อย
ทั้ง 3 ประเด็นที่เขียนมา ทั้งเรื่องการสู้รบระหว่างกองทัพเมียนมากับชนกลุ่มน้อย ความสัมพันธ์กับอาเซียน และมุมมองของนานาชาติต่อนโยบายด้านความมั่นคงของเมียนมา สะท้อนให้เห็นว่า…ความมั่นคงของเมียนมาในปลายปี 2566 ยังคงเกี่ยวพันอยู่กับหลากหลายปัจจัย และทั้งหมดนี้มีแรงขับเคลื่อนหลัก ๆ ที่สำคัญ คือ “การเมือง” ของเมียนมาที่ยังคงมีพลวัตอยู่เรื่อย ๆ …..ท่ามกลางความหวังของประเทศไทยที่ต้องการให้เมียนมามีเสถียรภาพ เพื่อให้สามารถปฏิสัมพันธ์และร่วมมือกันในประเด็นเศรษฐกิจ การลงทุน และการค้าระหว่างกันได้ต่อไป