…..เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าก็ใช่ว่าจะปลอดภัยเสมอไป……
เมื่อเราลองย้อนกลับไปประมาณ 40-50 ปีก่อนที่เทคโนโลยีจะเริ่มเข้ามามีบทบาท เราใช้ชีวิตกันอย่างเรียบง่าย ติดต่อสื่อสารกันด้วยการไปมาหาสู่กัน เขียนจดหมายถึงกัน หรือที่จะสะดวกและรวดเร็วหน่อยก็คือการส่งโทรเลขถึงกัน ส่วนเรื่องเงินๆ ทองๆ นั้น ก็ใช้ธนาณัติในการส่งเงินข้ามจังหวัด ส่วนเวลาจะซื้อของใดก็ใช้เงินสดกันเป็นส่วนมาก และต่อมาเราก็มีธนาคารไว้ใช้ฝาก ถอน และโอน …..แต่ถามว่าในยุคนั้นมีมิจฉาชีพไหม ก็ตอบได้เลยว่ามี แต่รูปแบบของมิจฉาชีพในสมัยก่อน มักจะมาในรูปแบบของเซลล์ขายของ ที่จะถือสินค้าไปขายตามบ้าน พูดคำหวานหว่านล้อมเกี่ยวกับสรรพคุณของสินค้าให้เวอร์เกินจริง ให้ชาวบ้านเชื่อใจ และตกลงตัดสินใจจ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้าเหล่านั้น ทั้งๆ ที่คุณภาพก็ไม่ได้ตรงกับสรรพคุณของสินค้าที่เหล่ามิจฉาชีพได้ทำการพูดจาหว่านล้อมไว้
…ซึ่งคนเรานั้นก็มักจะหลงเชื่อในคำโกหก ของผู้อื่นได้อย่างง่ายดาย แต่กว่าที่เหยื่อจะได้รับรู้ความจริงว่าตนนั้นเป็นเหยื่อให้กับมิจฉาชีพนั้น ก็สายไปเสียแล้ว เพราะการตามหาตามจับตัวในสมัยนั้นทำได้ค่อนข้างยาก ทั้งไหนจะอุปสรรคจากเรื่องเทคโนโลยีที่ยังไม่ทันสมัย ไม่มีกล้องวงจรปิดตามสถานที่ต่างๆ …ไหนจะเทคนิคของมิจฉาชีพที่จะเลือกไปในสถานที่ที่ไม่มีใครรู้จักตนเอง
นอกจากนี้การหลอกลวงของมิจฉาชีพอีกรูปแบบหนึ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนแพร่หลาย คือการเล่นแชร์ ซึ่งก็มีการหลอกลวงและเป็นข่าวดัง ตัวอย่างเช่น แชร์แม่ชม้อย แชร์แม่มณี ซึ่งมีผู้เสียหายและสูญเสียเงินเป็นจำนวนมาก โดยมิจฉาชีพจะใช้วิธีการโฆษณาชวนเชื่อให้เหยื่อมาร่วมลงทุนที่จะได้กำไรมหาศาล …อีกทั้งยังมีการใช้ศาสนามาเป็นเครื่องมือในการหลอกลวง โดยใช้ชื่อวัดในการบังหน้าเรี่ยรายเงินเพื่อนำไปก่อสร้างต่างๆ ภายในวัด แต่สุดท้ายก็นำเงินไปแบ่งกันเอง
เมื่อถึงยุคที่เทคโนโลยีเริ่มมีการพัฒนามากขึ้น รูปแบบการหลอกลวงของมิจฉาชีพก็เริ่มมีการพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นการดูดเงินจากบัตร ATM ผ่านตู้ หรือการทำธุรกิจเครือข่ายหรือขายตรง และรวมไปถึงวงการซื้อขายหุ้นและสินทรัพย์ดิจิทัล จนกระทั่งในยุคปัจจุบันที่มีเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตมากขึ้น กลโกงของมิจฉาชีพก็มีการพัฒนาให้ก้าวทันตามเทคโนโลยี เพื่อใช้ในการหลอกลวง
ทั้งนี้จากที่เราสามารถเห็นกันได้จากสื่อต่างๆ คือการหลอกลวงผ่านทางโทรศัพท์ ที่มิจฉาชีพจะหลอกให้เหยื่อโอนเงินไปเข้าบัญชีของมิจฉาชีพ โดยเป้าหมายของมิจฉาชีพมักจะเริ่มจากผู้คนที่อาศัยอยู่ในต่างจังหวัดต่างอำเภอก่อน เพราะคิดว่าการเตือนภัยน่าจะยังเข้าไม่ถึงและทำการหลอกให้หลงเชื่อได้ง่ายกว่า ซึ่งมิจฉาชีพมักจะใช้ประเด็นของการได้รับของรางวัล การส่งของผิดกฎหมายหรือมีพัสดุตกค้าง บัญชีถูกอาญัติ หนี้บัตรเครดิต ฯลฯ รวมไปถึงการหลอกลวงทางอินเทอร์เน็ตอย่างเว็บพนันออนไลน์ แอปกู้เงินเถื่อน การหลอกให้รักแล้วชวนลงทุน (Romance Scam)
…….และยิ่งเทคโนโลยีนั้นพัฒนาไปไกลมากขึ้น มิจฉาชีพก็ดึงเอาศักยภาพของเทคโนโลยีมาใช้ในทางที่ผิดได้อย่างรวดเร็ว อย่างเช่นการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI-Artificial Intelligence) ในการทำ Deep Fake ซึ่งเป็นการสร้างสื่อสังเคราะห์เพื่อปลอมแปลงเป็นลักษณะท่าทางและน้ำเสียงของบุคคลต่างๆ ได้อย่างแนบเนียน เพื่อหลอกให้เหยื่อเชื่อใจที่จะบอกข้อมูลหรือโอนเงินมาให้อย่างที่เป็นข่าวอยู่ในปัจจุบันที่มีมิจฉาชีพมีการเรียกค่าไถ่ โดยใช้ AI ในการเลียนเสียง และโทรหาผู้ปกครองเพื่อให้โอนเงินมาเป็นค่าไถ่ตัวบุตรหลาน ซึ่งมิจฉาชีพเหล่านี้มักจะเล่นกับความรู้สึกต่างๆ เช่น ความรัก ความหลง ความห่วงใย ความเชื่อ ความลำบาก และที่สำคัญเลยคือความโลภของมนุษย์
ถึงแม้ว่าเทคโนโลยีและรูปแบบการหลอกลวงของเหล่ามิจฉาชีพนี้จะมีการพัฒนาไปอย่างไม่หยุดยั้ง เราผู้ซึ่งเป็นมนุษย์ทั่วไป ก็อาจตกเป็นเหยื่อของเหล่ามิจฉาชีพไม่ว่าจะมาในรูปแบบไหนก็ตาม แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีวิธีการป้องกันเสียเลย เรามาดูกันว่า เราจะรอดพ้นจากการเป็นเหยื่อเหล่ามิจฉาชีพพวกนี้อย่างไร
อันดับแรก หากมีเบอร์โทรศัพท์แปลกๆ โทรมา เราไม่ควรรับสายอย่างเด็ดขาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเบอร์โทรศัพท์ที่นำหน้าด้วย +697 ซึ่งเป็นเบอร์ที่โทรผ่านระบบ VOIP : Voice Over Internet Protocol ซึ่งเป็นการใช้งานโทรศัพท์ที่มีอินเทอร์เน็ตเป็นสื่อกลาง หรือ +698 ซึ่งเป็นเบอร์โทรจากการใช้บริการโรมมิ่งจากต่างประเทศ เพราะมิจฉาชีพเหล่านี้จะตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเราจะมีมาตรการป้องกันที่ง่ายมากเลย คือ … กด *138*1# แล้วโทรออก… แต่ต้องย้ำเตือนไว้ก่อนว่า วิธีการนี้จะทำได้เราต้องมั่นใจว่าเราไม่มีญาติอยู่ต่างประเทศ เนื่องจากวิธีการนี้จะบล็อคเบอร์โทรศัพท์ทุกเบอร์ที่โทรมาจากต่างประเทศ ไม่อย่างนั้นญาติเราที่อยู่ต่างประเทศจะติดต่อเราผ่านการโทรไม่ได้
อย่างที่สองคือ ถ้าเราเผลอรับสายแล้วไม่ว่ามิจฉาชีพจะใช้แรงจูงใจใดในการหลอกลวง เราต้องทำการ.. ตั้งสติก่อน อย่าเพิ่งตระหนกตกใจว่าเราได้รางวัล หรือเราส่งของผิดกฎหมาย มีพัสดุตกค้าง หรือแม้จะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับคนในครอบครัว เราควร……ทำการบันทึกเสียงสายที่เรากำลังคุยด้วยนั้น และพิจารณาหาข้อเท็จจริง ว่าเราได้เคยส่งชื่อชิงรางวัลหรือไม่ เรามีพัสดุส่งของหรือไม่ และที่สำคัญ ถ้าเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวกับบุคคลในครอบครัว เราควรตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนด้วยการติดต่อโทรหาบุคคลที่โดนแอบอ้าง อีกทั้งไม่ควรบอกข้อมูลส่วนตัว จำนวนเงินในบัญชีที่แท้จริงให้เหล่ามิจฉาชีพนั้นได้รู้ เพราะถ้าเป็นเจ้าหน้าที่จากรัฐจริงจะต้องมีข้อมูลของเราอยู่ในมือและสามารถยืนยันข้อมูลของเราได้โดยที่เราไม่จำเป็นต้องบอกข้อมูลใดๆ
สุดท้ายแล้ว ถ้าพบเจอการหลอกลวงไม่ว่าจะในรูปแบบใดก็ตาม เราก็ไม่ควรนิ่งเฉยต่อภัยอันตรายเหล่านี้ ควรรีบแจ้งความเพื่อระงับเหตุโดยเร็ว
…………….. เราสามารถแจ้งความออนไลน์ได้ที่ www.thaipoliceonline.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์สำหรับคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีโดยเฉพาะ
………………..นอกจากนั้นเรายังสามารถติดตามข้อมูลการแจ้งเตือนภัยออนไลน์ได้ที่ https://pctpr.police.go.th เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/เตือนภัยออนไลน์ หมายเลขโทรศัพท์ 081-866-3000 หรือโทรศัพท์สายด่วน 1441
………………..และอย่าลืมเผยแพร่วิธีการป้องกันภัยให้คนรอบตัวของเราได้รู้และระวังกันด้วย เราสามารถหยุดยั้งขบวนการหลอกลวงของมิจฉาชีพเหล่านี้ได้ ถ้าเราร่วมด้วยช่วยกัน ….ไม่เชื่อ ไม่โอน ไม่เสียหาย….
แหล่งอ้างอิง :
http://www.stabundamrong.go.th/web/thainiyom/deceive.pdf
https://tips.thaiware.com/2069.html
https://tips.thaiware.com/2233.html
https://www.thaipbs.or.th/news/content/330541
https://pctpr.police.go.th/knowledge.php
https://race.nstru.ac.th/nstru_portal/personnel_section/resources/file_download/1513649519.pdf