เมื่อ 16 สิงหาคม 2566 โปแลนด์จัดพาเหรดแสดงแสนยานุภาพทางการทหารครั้งยิ่งใหญ่ เนื่องในโอกาสครบรอบ 103 ปีชัยชนะจากการสู้รบกับสหภาพโซเวียต ในสงครามวอร์ซอ เมื่อปี 2463 หรือเรียกอีกอย่างว่า Armed Forces Day Parade โดยครั้งนี้เป็นข่าวใหญ่ เพราะเป็นการแสดงพลังอำนาจทางการทหารครั้งใหญ่ที่สุดของโปแลนด์ ตั้งแต่สิ้นสุดสงครามเย็น
นอกจากนี้ พาเหรดครั้งนี้ยังจัดขึ้นในช่วงที่สถานการณ์ด้านความมั่นคงทางการทหารของโปแลนด์ค่อนข้างตึงเครียด เพราะสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนที่เกิดขึ้นใกล้ ๆ พรมแดนโปแลนด์ และปัจจุบัน โปแลนด์กำลังวิตกและระแวงความเคลื่อนไหวของกลุ่มทหารรับจ้างที่ชื่อ “แวกเนอร์” ที่ว่ากันว่าไปตั้งฐานกำลังอยู่ในเบลารุส เพื่อนบ้านของโปแลนด์นั่นเอง เท่านั้นยังไม่พอ!! …ยังมีความเคลื่อนไหวของกองทัพเบลารุสที่โปแลนด์ไม่ไว้วางใจ เพราะมีการเคลื่อนกำลังพลอยู่เรื่อย ๆ อีกทั้ง งานพาเหรดครั้งนี้มีขึ้นก่อนที่โปแลนด์จะมีการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาครั้งใหม่ใน 15 ตุลาคม 2566 นี้ด้วย
การที่เราได้เห็นความเคลื่อนไหวของโปแลนด์ค่อนข้างมาก และแข็งกร้าว (aggressive) ในตอนนี้ ทำให้สนใจที่จะนำเสนอบทบาทและขีดความสามารถด้านการทหารของโปแลนด์ ซึ่งเป็น 1 ในประเทศยุโรปที่มีความเป็นไปได้ว่าจะกลายเป็นมหาอำนาจด้านการทหารได้ในอนาคต จากการประเมินและจัดอันดับของ Global Firepower ซึ่งเป็นเว็บไซต์รวบรวมข้อมูลและจัดอันดับประเทศที่มีพลังอำนาจด้านการทหารสูงที่สุดในโลก 145 ประเทศ ปัจจุบัน โปแลนด์อยู่ที่อันดับที่ 20 เท่ากับว่าโปแลนด์เองก็มีขีดความสามารถด้านการทหารที่ทั่วโลกรับรู้อยู่แล้ว
นอกจากนั้น ยังมีข้อมูลอีก 3 ประการด้วยกันที่อาจสนับสนุนความเชื่อที่ว่า โปแลนด์มีแนวโน้มจะเป็นมหาอำนาจด้านการทหารในอนาคต
สำหรับข้อมูลชุดแรก ก็คือ “ภูมิรัฐศาสตร์ของโปแลนด์” …การที่โปแลนด์เป็นสมาชิกเนโตที่ตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญของยุโรปกลาง คือ อยู่ติดกับพื้นที่อิทธิพลของรัสเซีย เป็นเพื่อนบ้านกับเบลารุส มีพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือติดกับแคว้นคาลินินกราด (Kaliningrád) ที่เป็นดินแดนส่วนแยกของรัสเซีย ทำให้โปแลนด์ถือว่าเป็น “ด่านหน้า” ของเนโตในการรับมือกับอิทธิพลของรัสเซีย โดยเฉพาะในปัจจุบันที่มีสถานการณ์รัสเซียยูเครนเข้มข้น ทำให้พื้นที่อิทธิพลของรัสเซียกลายเป็นพื้นที่อ่อนไหวสำหรับเนโต และทุกความเคลื่อนไหวของรัสเซียและประเทศที่ใกล้ชิดของรัสเซีย ย่อมสร้างความวิตกกังวลให้กับโปแลนด์ว่าอาจจะได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้มากขึ้นเรื่อย ๆ
ยิ่งในปัจจุบันที่เริ่มมีกระแสข่าวเกี่ยวกับความตึงเครียดระหว่างโปแลนด์กับเบลารุส ที่ทำให้โปแลนด์เริ่มเคลื่อนไหวด้านการทหารเพื่อป้องปรามภัยคุกคาม เราจึงได้เห็นความพร้อมและขีดความสามารถของโปแลนด์มากขึ้น
ข้อมูลชุดที่สองที่ทำให้โปแลนด์มีโอกาสได้เป็นมหาอำนาจด้านการทหารในยุโรป ก็คือ การขับเคลื่อนนโยบายความมั่นคงของ “รัฐบาลโปแลนด์” ที่ในระยะหลัง มีพรรคชาตินิยมอย่าง Law and Justice Party เป็นหัวหน้ารัฐบาล และให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างขีดความสามารถทางการทหารเพิ่มมากขึ้น โดยประกาศแผนจะเพิ่มจำนวนทหารและยุทโธปกรณ์ของประเทศ ซึ่งประเด็นที่น่าสนใจในเรื่องนี้ ก็คือ….ความคิดเห็นของประชาชนโปแลนด์ต่อการเพิ่มจำนวนทหารในกองทัพ เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับรัฐบาล โดยชาวโปแลนด์มีทัศนคติที่ดีต่อการเกณฑ์ทหาร เพราะเชื่อว่าการปกป้องเสรีภาพของตัวเองนั้นเป็นหน้าที่ และกองทัพโปแลนด์ก็ได้รับความไว้วางใจจากสังคม (social trust) ค่อนข้างสูงและมั่นคง แตกต่างจากประเทศอื่น ๆในยุโรป เช่น เยอรมนี ที่ยังมีการคัดค้านหรือไม่เห็นด้วยกับการเกณฑ์ทหารหรือขยายจำนวนกำลังพลในกองทัพสักเท่าไหร่ …สำหรับกำลังพลของกองทัพโปแลนด์ตอนนี้อยู่ที่ประมาณ 150,000 คน ในจำนวนนั้นประมาณ 30,000 คนคือ กองกำลังรักษาดินแดน หรือ territorial defense force ซึ่งเป็นหน่วยใหม่ของโปแลนด์ที่เพิ่งตั้งเมื่อปี 2560
ดังนั้น การเพิ่มกำลังทหารของประเทศนี้เป็นกระบวนการที่ประชาชนสนับสนุนและเต็มใจ จึงทำให้โปแลนด์สะสมความพร้อมและความเข้มแข็งทางการทหารได้ไม่ยาก …โดยประเด็นนี้เป็นปัจจัยที่เคยส่งเสริมการเป็นมหาอำนาจด้านการทหารของเยอรมนีและสหรัฐอเมริกามาแล้ว ….จึงอาจเป็นปัจจัยส่งเสริมอำนาจทางการทหารของโปแลนด์ได้ในอนาคตเหมือนกัน นอกจากนี้ เมื่อปี 2563 โปแลนด์ก็กำหนดเป้าหมายในยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติ ว่าจะให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมอาวุธ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับภัยคุกคามจากรัสเซียที่ตอนนั้นประสบความสำเร็จในการผนวกไครเมียแล้ว รัฐบาลโปแลนด์จึงมีเหตุผลมากพอที่จะเพิ่มงบประมาณด้านการทหารจากร้อยละ 20 เป็นร้อยละ 35 และจากตอนนั้นจนถึงปัจจุบันก็มีบริษัท Polska Grupa Zbrojeniowa เป็นผู้สนับสนุนสำคัญของรัฐบาล ซึ่งบริษัทนี้มีความร่วมมือกับหุ้นส่วนในต่างประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร และเกาหลีใต้
ข้อมูลชุดที่ 3 ที่อาจเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนโปแลนด์ให้เป็นมหาอำนาจด้านการทหารในอนาคตได้ ก็คือ “สถานการณ์ระหว่างประเทศ” ในช่วงที่ผ่านมาจากที่ได้เห็นพัฒนาการด้านการเสริมขีดความสามารถของยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ ในประเทศนี้ รวมทั้งการขยายความร่วมมือกับประเทศอื่น ๆ เรื่องการทหารอย่างก้าวกระโดด (เพราะมีสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน) ที่ทำให้โปแลนด์กลายเป็น 1 ในประเทศที่ผลิตและขายอาวุธให้ยูเครนมากที่สุด และดูเหมือนว่าอุตสาหกรรมอาวุธของโปแลนด์ก็มีแนวโน้มจะขายดีขึ้นเรื่อย ๆ เพราะนานาชาติกำลังสะสมอาวุธเพิ่มขึ้น ที่ผ่านมาโปแลนด์ก็เป็นประเทศผู้ผลิตอาวุธรายใหญ่ที่สุดในยุโรปกลางอยู่แล้ว โดยเป็นขีดความสามารถที่สะสมมาตั้งแต่สมัยสงครามเย็น และพัฒนาแบบรวดเร็วเมื่อโปแลนด์เข้าเป็นสมาชิกเนโตเมื่อปี 2542 ทำให้โปแลนด์จำเป็นต้องยกระดับมาตรฐานอาวุธต่าง ๆ ให้ทัดเทียมกับมาตรฐานของเนโต ตอนนั้นเกิดคำว่า “Polonization” หรือ การที่โปแลนด์เรียนรู้และพัฒนาอาวุธของตัวเองจากการนำเข้าอาวุธจากประเทศอื่น ๆ ทำให้อุตสาหกรรมอาวุธของโปแลนด์มีการพัฒนา และยังเป็นวิธีที่โปแลนด์ใช้มาจนถึงทุกวันนี้
อาจเรียกได้ว่า สถานการณ์ระหว่างประเทศที่เปลี่ยนแปลงไปมีผลทำให้โปแลนด์ต้องปรับตัวและแสวงหาวิธีการเพื่อเสริมสร้างความสามารถในการอยู่รอด ไม่ว่า “ภัยคุกคาม” จะอยู่ใกล้หรือไกลพรมแดน หรือจะอยู่ภายในประเทศแล้วก็ตาม
ดังนั้น เมื่อเราวิเคราะห์จากข้อมูลทั้ง 3 ส่วนนี้ ทั้งเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ นโยบายของรัฐบาลและความคิดเห็นของประชาชน ประกอบกับสถานการณ์ระหว่างประเทศ …ทั้ง 3 ข้อมูลสนับสนุนสมมติฐานเบื้องต้นที่ว่า “โปแลนด์มีโอกาสจะเป็นมหาอำนาจด้านการทหารในยุโรป” เพราะมีทั้งความมุ่งหมาย และขีดความสามารถ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลทั้งหมดนี้อาจไม่เพียงพอต่อการประเมินว่า โปแลนด์จะเป็นมหาอำนาจด้านการทหารได้เมื่อไหร่?? เพราะย่อมมีปัจจัยอื่น ๆ ที่จะส่งผลต่อกระบวนการก้าวขึ้นมาเป็น NO.1 ด้านการทหารในยุโรปของโปแลนด์ ไม่ว่าจะเป็น “การเมืองภายใน” ที่อาจมีการเปลี่ยนขั้วความคิดและนโยบายได้เสมอ นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยภายนอกอย่างมุมมองของเนโตต่อท่าทีที่แข็งกร้าวขึ้น และท่าทีของฝ่ายตรงข้ามของโปแลนด์ที่พร้อมจะ “ชะลอ” ความมุ่งมั่นของโปแลนด์อยู่เสมอ
ดังนั้นการประเมินความเป็นไปได้เรื่องนี้อาจต้องรอให้การเมืองภายในของประเทศยุโรปมีความชัดเจนมากกว่านี้ก่อน เท่ากับว่า หลังจากการเลือกตั้งในตุลาคม 2566 นี้ เราจึงจะสามารถคาดการณ์อนาคตของโปแลนด์ได้อย่างแม่นยำมากขึ้น …เรื่องนี้จึงอาจเป็นอีกหนึ่งกรณีที่ย้ำให้เราเห็นได้ว่า “การเมืองภายใน” มีความสำคัญอย่างมากต่อการขับเคลื่อนนโยบายความมั่นคงและการทหารของประเทศต่าง ๆ การเมืองภายในประเทศจึงเป็นชุดข้อมูลที่มีความสำคัญอย่างมากต่อการวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์ต่าง ๆ ในปัจจุบัน