“มาตาลดา” (To The Moon and Back) เรื่องราวละครไทยที่เพิ่งจบไปเมื่อไม่นานนี้ นับว่าแหวกกระแสความเป็นละครไทยเดิม ๆ ที่มักวนเวียนแค่การชิงรักหักสวาทหรือตบตีแก้แค้น แต่พยายามสะท้อนสังคมสมัยใหม่ที่เผชิญความหลากหลายเยอะขึ้น พร้อมกับเสนอมุมมองการดำเนินชีวิต โดยหยิบยกปัญหาในสถาบันครอบครัวมาถ่ายทอด และเป็นการตีโจทย์เพื่อที่จะเข้าใจถึงปัญหาครอบครัวในปัจจุบันมากขึ้น
ทั้งนี้แม้ที่ผ่านมาก็มีความพยายามที่จะสอดแทรกเรื่องราวของครอบครัว LGBTQIA+ ผ่านละครหลายเรื่องก่อนหน้านี้ อย่างเช่น พระจันทร์สีรุ้ง (พ.ศ. 2552) และ มาลีเริงระบำ (พ.ศ. 2557) แต่ทั้งสองเรื่องตัวละคร LGBTQIA+ ต่างซ่อนเร้นตัวตนเพราะกลัวสังคมและตัวลูกไม่ยอมรับ แตกต่างจากมาตาลดาที่พ่อเกรซเผยตัวตนให้ลูกยอมรับและเข้าใจความหลากหลายตั้งแต่ต้น จุดนี้ก็เป็นภาพสะท้อนของสังคมไทยที่เริ่มพัฒนาความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ LGBTQIA+ มากขึ้น
ทั้งนี้คณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ครอบครัวแห่งชาติ (กยค.) ได้กำหนดนิยามความหมายของ “ครอบครัว” คือ บุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปที่ใช้ชีวิตร่วมกันฉันสามีภริยา หรือมีความผูกพันทางสายโลหิต หรือทางกฎหมาย หรือเกี่ยวดองเป็นเครือญาติ ซึ่งสมาชิกในครอบครัวต่างมีบทบาทหน้าที่ต่อกัน และมีความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลกัน โดยการจำแนกครอบครัวตามโครงสร้าง ได้แก่ 1) ครอบครัวเดี่ยว คือ ครอบครัวที่ประกอบด้วยบุคคลที่ใช้ชีวิตร่วมกันฉันสามีภริยา อาจมีหรือไม่มีบุตร พ่อหรือแม่อยู่กับบุตร หรือพี่น้อง หรือญาติไม่เกินสองรุ่นใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน 2) ครอบครัวขยาย คือ ครอบครัวที่ประกอบด้วยบุคคลตั้งแต่สามรุ่นขึ้นไป หรือครอบครัวเดี่ยวสองครอบครัวขึ้นไปที่มีความผูกพันทางสายโลหิต หรือเกี่ยวดองเป็นเครือญาติ ซึ่งมีความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลกัน และอาศัยอยู่ในบ้านหรือบริเวณเดียวกัน
……….และ 3) การจำแนกครอบครัวตามลักษณะเฉพาะ ได้แก่ (1) ครอบครัวพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยว คือ ครอบครัวที่พ่อหรือแม่ต้องเลี้ยงดูบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะโดยลำพัง (2) ครอบครัวข้ามรุ่น คือ ครอบครัวที่มี ปู่ ย่า ตา ยาย อยู่กับหลานตามลำพัง (3) ครอบครัวที่ผู้สูงอายุอยู่ด้วยกันตามลำพัง คือครอบครัวที่ประกอบด้วยสมาชิกอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ตั้งแต่สองคนขึ้นไป อยู่ร่วมกันโดยไม่มีสมาชิกช่วงวัยอื่นอาศัยอยู่ด้วย (4) ครอบครัวคู่รักเพศเดียวกัน คือ ครอบครัวที่มีบุคคลเพศเดียวกันใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยา (5) ครอบครัวผสม คือ ครอบครัวที่ชายหญิงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝายมีบุตรติดมาและได้สมรสหรืออยู่กินกันฉันสามีภริยาเป็นครอบครัวใหม่ และบุตรนั้นอาศัยอยู่ด้วยกัน (6) ครอบครัววัยรุ่น คือครอบครัวที่พ่อแม่เป็นวัยรุ่น และ (7) ครัวเรือนคนเดียว คือ ครัวเรือนที่บุคคลอาศัยอยู่คนเดียวตั้งแต่สามเดือนขึ้นไป
จากนิยามข้างต้นก็แสดงให้เห็นว่าสังคมไทยและหน่วยงานภาครัฐได้ให้ความสำคัญกับครอบครัวและประเภทครอบครัว โดยให้ความสำคัญกับ LGBTQIA+ มากขึ้น กล่าวคือ เข้าใจและยอมรับความเป็นจริงว่า ผู้คนในสังคมปัจจุบันมีความหลากหลายในการดำเนินเพศวิถีมากขึ้น ซึ่งย่อมส่งผลต่อการสร้างและองค์ประกอบของครอบครัวที่มีหลายรูปแบบมากขึ้น
…..กล่าวถึงละครเรื่อง “มาตาลดา” ได้นำเสนอให้เห็นความแตกต่างของ 2 ครอบครัว คือ 1) ครอบครัวของนางเอก มาตา หรือ มาตาลดา ของเราที่โตมากับคุณพ่อเลี้ยงเดี่ยวที่เป็น LGBTQIA+ และ 2) ครอบครัวของพระเอกหมอเป็นหนึ่ง หรือหมอปุริม ผู้เติบโตมาในครอบครัวที่พ่อเป็นใหญ่ และคาดหวังในตัวลูกมาก ในละครจะถ่ายทอดผลของการเลี้ยงดูของทั้งสองบ้านผ่านความคิด ทัศนคติ และการกระทำของตัวละคร ที่มีการเล่าเรื่องในปัจจุบันสลับกับการเล่าอดีตในวัยเด็กของตัวละคร กล่าวได้ว่าในวัยเด็กเป็นวัยที่กำลังเติบโตและมีพัฒนาการในด้านต่าง ๆ นอกเหนือจากพัฒนาการด้านร่างกาย ก็จะเป็นด้านจิตใจของเด็ก
พื้นฐานจิตใจเด็กเป็นเรื่องที่สำคัญที่จะส่งผลต่อพฤติกรรมการแสดงออกและการดำเนินชีวิตขั้นพื้นฐาน ซึ่งอิทธิพลครอบครัวก็เป็นส่วนสำคัญที่ส่งผลต่อตัวเด็กโดยตรง ทำให้ตระหนักว่าครอบครัวที่ดีไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าครอบครัวนั้นมีองค์ประกอบครบถ้วน คือ พ่อ แม่ ลูก แต่ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ในครอบครัว อย่างตัวมาตาลดานั้นถึงจะเติบโตมาในครอบครัวคุณพ่อเลี้ยงเดี่ยว ที่มีเพศวิถีไม่ตรงตามขนบธรรมเนียม แต่กลับเลี้ยงดูลูกสาวคนเดียวด้วยความรัก คอยดูแลเอาใจใส่ ดูแล อบรมสั่งสอนด้วยทัศนคติแนวความคิดที่ดี จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่มาตาลดามีพลังบวกเต็มพิกัด มองโลกในแง่ดี ความร่าเริงสดใส ให้พลังงานบวกและเติมเต็มกำลังใจให้คนอื่นได้
…….ในขณะที่ฝั่งของคุณหมอเป็นหนึ่ง จากภายนอกจะที่เป็นคนมั่นใจ เก่ง วางตัวดี แต่มีความรู้สึกซ่อนภายในใจลึกที่ไม่สามารถบอกใครได้ เพราะเขาต้องอยู่ภายใต้กรอบที่พ่อกำหนดเท่านั้น จึงทำให้เขาค่อนข้างเก็บกด ไม่แสดงความรู้สึกที่แท้จริงออกมา นอกจากนี้ยังมีตัวละครอื่น ๆ ที่บุคลิกได้สะท้อนการเลี้ยงดู หรือสภาพของครอบครัวของบุคคลเหล่านั้นได้
กล่าวได้ว่าครอบครัวเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อตัวเด็กอย่างมาก ดังนั้นหากต้องการให้เด็กมีลักษณะนิสัยเป็นแบบไหน ต้องเริ่มต้นที่ครอบครัวก่อนเป็นอันดับแรก เพื่อหล่อหลอมเด็กให้มีพื้นฐานจิตใจและนิสัยที่ดี สามารถดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข ไม่ก่อความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น จุดเริ่มต้นของการสร้างพื้นฐานนิสัยที่อ่อนโยนมีเมตตากรุณาต่อผู้อื่นในตัวเด็ก คือครอบครัวต้องให้ความรักความเมตตากับเด็กก่อน ให้ความเห็นอกเห็นใจต่อตัวเด็กจากพ่อแม่ของเด็กเอง เพื่อให้เด็กซึมซับกับการเห็นอกเห็นใจผู้อื่นและอยู่ในพื้นฐานจิตใจเด็ก จะได้ส่งผลไปถึงตอนโตเป็นผู้ใหญ่
อีกทั้งพ่อแม่ควรสร้างค่านิยมที่ดีในครอบครัวขึ้นมา โดยเฉพาะในเรื่องของการแก้ปัญหาของคนในครอบครัวที่จะส่งผลให้เด็กเกิดการเรียนรู้ ซึมซับ และอาจนำไปสู่การเลียนแบบในอนาคต จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากตัวมาตาลดาได้รับการถ่ายทอดความคิดแนวทัศนคติที่ดีผ่านพ่อเกรซ ทำให้มีความร่าเริงสดใส เปี่ยมไปด้วยความใจดี สามารถเข้าอกเข้าใจ และให้กำลังใจผู้อื่นได้อย่างดี จนกระทั่งพระเอกที่ได้ฉายาว่า “หมอหัวใจที่ไร้หัวใจ” จะเกิดความรู้สึกที่ดีแก่นางเอก เกิดรอยยิ้มที่ยิ้มที่ปากและยิ้มไปถึงดวงตาที่แตกต่างไปจากเดิมในช่วงแรก นั่นหมายความว่าตัวพระเอกมีการปรับเปลี่ยนทางความรู้สึกไปในทิศทางที่ผ่อนคลายจากความกดดันและความตึงเครียดที่ได้รับสะสมมาตั้งแต่วัยเด็กจนวัยทำงานที่เป็นศัลยแพทย์ด้านโรคหัวใจที่มีความรับผิดชอบสูง
ภาพรวมของเรื่องราวในละครมาตาลดาจึงเป็นละครไทยที่อบอุ่นหัวใจ ถ่ายทอดพลังงานบวกให้แก่ผู้ชมได้ …. อาจเป็นเพราะเสน่ห์ของมาตาลดาคือการเล่าเรื่องราวในมุมมองครอบครัวอย่างตรงไปตรงมา เข้าใจง่าย และไม่ซับซ้อน ผ่านการแสดงของนักแสดงที่สามารถสวมบทบาทเป็นตัวละครนั้น ๆ ได้อย่างน่าสนใจ ………แต่สุดท้ายนี้…ที่หวังให้พิจารณากันหลังชมมาตาลดา คือ หันกลับมาใส่ใจกับคนในครอบครัวและคนรอบข้างมากขึ้น เกิดการพูดคุยระหว่างคนในครอบครัวมากขึ้น เกิดเป็นพลังงานที่ดีให้กับคนในครอบครัวรวมถึงคนรอบตัวมากขึ้น…เพื่อสร้างครอบครัวที่อบอุ่น อันเป็นพื้นฐานของสังคมที่แข็งแกร่งต่อไป
อ้างอิง
https://www.istrong.co/single-post/matalada
https://m.mgronline.com/drama/detail/9660000050598