เมื่อ 24 สิงหาคม 2566 ประเทศญี่ปุ่นตัดสินใจปล่อยน้ำจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิที่ประสบภัยสึนามิเมื่อ 11 มีนาคม 2554 จนทำให้มีสารกัมมันตภาพรังสีบางส่วนปนเปื้อนลงน้ำ แม้น้ำดังกล่าวจะผ่านการบำบัดมามากกว่า 2 ปีและได้การรับรองจากสำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency-IAEA) ของสหประชาชาติแล้ว แต่หลายประเทศยังกังวลถึงผลกระทบจากสารปนเปื้อนที่อยู่ในน้ำทะเลที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสัตว์ จนถึงการประมงและอาหารทะเลที่จะส่งผลต่อผู้บริโภคโดยตรง
จากความกังวลดังกล่าวส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการบริโภคอาหารทะเลจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งปกติทำรายได้การส่งออกถึง 93,000 ล้านบาท ต่อปี (ปี 2565) ทำให้แนวโน้มที่ความนิยมของอาหารญี่ปุ่นซึ่งเคยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ต้องหยุดชะงักลงทันที เพราะจีน มาเก๊าและฮ่องกง ประกาศแบนการนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่น ส่งผลให้ร้านอาหารญี่ปุ่นจำนวนมาก ต้องได้รับผลกระทบ
ขณะเดียวกันก็ทำให้จีน มาเก๊าและฮ่องกง ต้องหาแหล่งผลิตรายใหม่อย่างเร่งด่วน เป็นโอกาสให้ประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาครวมถึงประเทศไทย ที่จะทำการประมงเพื่อส่งออก อาจสามารถเป็นตลาดใหม่ทดแทนได้ ด้วยการส่งเสริมการส่งออกอาหารทะเลไปสู่ตลาดที่มีอุปสงค์สูงอย่างจีน อย่างไรก็ตาม เมื่อเรามาทบทวนดูดี ๆ แล้วพบว่า มหาสมุทรทั่วโลกนั้นเชื่อมต่อถึงกันหมด ดังนั้น เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่า สารกัมมันตภาพรังสีจะไม่แผ่ขยายมาสู่คาบสมุทรอื่น ๆ
……เพราะฉะนั้น การส่งออกเพื่อทดแทนสินค้าจากประเทศญี่ปุ่นในตอนนี้ คงเป็นเพียงโอกาสแค่ “ชั่วคราว” เพราะหลังจากสารพิษได้แพร่ไปทั่วมหาสมุทรก็จะไม่มีแหล่งอาหารที่ปลอดภัยอีกต่อไป
เมื่อแหล่งกำเนิดสรรพชีวิตอย่างมหาสมุทรกลายเป็นแหล่งผลิตอาหารที่มีสารปนเปื้อนไม่แตกต่างจากการใช้ยาฆ่าแมลงในการเพาะปลูกพืช เกษตรอินทรีย์จึงหลีกหนีการพึ่งพาดินและฝนจากธรรมชาติเป็นการเพาะปลูกในโรงเรือน และการประมงก็ทำเช่นเดียวกันได้ นั่นคือ “การทำฟาร์มประมงบนบก”
“การทำประมงบนบก” นั้นดำเนินการมาตั้งแต่อดีต บนพื้นที่ชายฝั่งทะเลที่มีการนำน้ำทะเลมากักเก็บในบ่อดินเพื่อทำนากุ้ง เลี้ยงปลาในกระชัง เพราะง่ายต่อการเลี้ยงและจับเพื่อขาย สามารถสร้างรายได้มากกว่าการออกทะเลที่ยังคงมีความเสี่ยง แต่การทำประมงบนบกยังมีข้อจำกัดเรื่องสายพันธุ์สัตว์น้ำที่ปัจจุบันสามารถเพาะเลี้ยงได้บางชนิด เนื่องจากการจำลองสภาพแวดล้อมบนบกนั้นมีข้อจำกัดแตกต่างจากมหาสมุทรกว้างใหญ่ ที่มีสภาพแวดล้อมหลากหลายและแหล่งอาหารแบบธรรมชาติ
นอกจากนั้น การทำประมงน้ำเค็มบนบกในอดีตยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมหาศาล จากการรับและระบายของเสียจากบ่อเลี้ยง การติดโรคจากสัตว์พาหะที่ระบาดได้ง่าย และพันธุ์สัตว์น้ำที่อ่อนแอลงจากสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม การทำประมงบนบกด้วยบ่อดินจึงไม่แตกต่างจากการฉกฉวยโอกาสเอาความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติในระยะเพียง 2-3 ปี ที่ท้ายที่สุดแล้ว ก็จะค่อย ๆ สูญหายไปจนกลายเป็นแหล่งรวมเชื้อโรคและไม่สามารถทำประมงบนบกได้อีก…กลายเป็นพื้นที่รกร้างไป
แม้ว่าจะเผชิญความท้าทายอย่างต่อเนื่อง แต่การทำประมงบกก็มีการปรับตัวและปรับเปลี่ยนรูปแบบเพื่อความอยู่รอด โดยเริ่มใช้วิธีการต่าง ๆ จนสามารถสร้างบ่อเลี้ยงที่สามารถควบคุมสภาวะแวดล้อมได้มากขึ้น ไม่ว่าจะใช้ผ้ายางพีอีปูรองก้นบ่อเพื่อป้องกันเชื้อโรคจากดิน การเลี้ยงในบ่อซีเมนต์ที่มีตาข่ายเชื้อโรคจากนก รวมถึงการเลี้ยงในโรงงานขนาดใหญ่มิดชิดเพื่อตัดขาดสภาพแวดล้อมหรือความเสี่ยงที่จะทำให้น้ำปนเปื้อน รวมทั้งการลงทุนระบบการตรวจคุณภาพน้ำที่ใช้ในการทำประมงด้วยเทคโนโลยีและการบำบัดน้ำและของเสียอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การลงทุนทำประมงในแต่ละครั้งสามารถคาดคะเนปริมาณผลผลิตได้อย่างถูกต้อง และรับประกันความปลอดภัยของอาหารทะเลอีกด้วย
นอกจากนี้ การปรับเปลี่ยนรูปแบบและพัฒนาการทำประมงบนบกยังยกระดับอาชีพประมงให้ควบคู่ไปกับการใช้องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เข้ามาใช้กอบกู้สถานการณ์ความมั่นคงของอาหารโลกได้
อย่างไรก็ตาม การประมงบนบกในระบบปิดที่นิยมกันอยู่ในปัจจุบันนี้ ยังคงต้องอาศัยต้นทุนทรัพยากรที่สำคัญ ก็คือ “น้ำทะเล” ที่จะต้องน้ำมากรอง ฆ่าเชื้อ และตรวจสารเคมีก่อนนำไปใช้ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในระบบปิด ดังนั้น ไม่ใช่แค่เชื้อโรค แบคทีเรียเท่านั้นที่จะต้องจัดการก่อนที่จะนำน้ำทะเลไปใช้ แต่โจทย์ยากอย่างไมโครพลาสติกและสารกัมมันตภาพรังสีที่ในอนาคตจะมีการปนเปื้อนในน้ำทะเลมากขึ้น จะเป็นความท้าทายของการทำประมงบนบกต่อไป
…..แต่ขณะเดียวกันก็จะเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยี รวมทั้งสร้างภูมิปัญญา เพื่อการบำบัดน้ำให้เหมาะสมกับการอุปโภคและบริโภคต่อไปด้วย ดังนั้น เราเชื่อว่ากระบวนการบำบัดน้ำทะเลจะเป็นประเด็นสำคัญต่อไปที่ทั่วโลกจะให้ความสนใจและเร่งพัฒนาขีดความสามารถในเรื่องนี้ เพราะเป็นเรื่องจำเป็นที่จะทำให้มนุษย์สามารถปรับตัวอยู่รอดได้ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง