แผ่นซิลิคอนขนาดจิ๋วที่เรียกว่าเซมิคอนดักเตอร์หรือชิป ซึ่งมอบพลังการประมวลผลให้กับอุปกรณ์ทุกอย่างตั้งแต่สมาร์ตโฟน ไปจนถึงรถยนต์ และระบบนำวิถีของขีปนาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง กลายมาเป็นน้ำมันดิบแห่งศตวรรษที่ 21 ที่สหรัฐอเมริกาและจีนแย่งกันเป็นผู้ครอบครองตลาด
ปัจจุบันสหรัฐฯ เป็นฝ่ายที่ครอบครองส่วนแบ่งการผลิตของอุตสาหกรรมชิปผ่านพันธมิตรที่กระจายตัวอยู่ทั่วโลก เพราะตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ ก็เริ่มต้นในสหรัฐฯ ขณะที่เครื่องพิมพ์ชิปด้วยรังสีอัลตราไวโอเลตที่มีความซับซ้อนสูงก็อยู่ในมือของพันธมิตรสหรัฐฯ เช่น ในเนเธอร์แลนด์และญี่ปุ่น ไปจนถึงการผลิตชิปในไต้หวันและเกาหลีใต้
ห่วงโซ่อุปทานอยู่ในมือสหรัฐฯ และพันธมิตร
Taiwan Semiconductor Manufacturing Company (TSMC) ผู้ผลิตชิปที่เป็นซับพลายเออร์ให้กับยักษ์ใหญ่วงการเทคโนโลยีอย่าง Apple, Qualcomm, NVIDIA และ Intel ถือส่วนแบ่งในตลาดชิปประสิทธิภาพสูงไปแล้วถึงมากกว่า 94% และถือส่วนแบ่งการผลิตชิปทั้งหมดเกินกว่าครึ่ง ขณะที่ ASML ผู้ผลิตเครื่องพิมพ์ชิป (Lithography Machine) ด้วยรังสีเอ็กซ์ตรีมอัลตราไวโอเลต (EUV) ที่ใช้ในการผลิตชิปขั้นสูง ก็แทบจะครองส่วนแบ่งในตลาดแต่เพียงผู้เดียว
ยิ่งไปกว่านั้น การแข่งขันทางเทคโนโลยีชิปที่เข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ ฝ่ายสหรัฐฯ พยายามทุกวิถีทางเพื่อสกัดกั้นการพัฒนาชิปของจีน โดยกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ ออกมาตรการจำกัดการส่งออกเทคโนโลยีเกี่ยวกับการผลิตชิปไปยังจีน ซึ่งพันธมิตรอย่าง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และเนเธอร์แลนด์ก็พร้อมทำตาม
ไม่เพียงเท่านั้น นับวันสหรัฐฯ และพันธมิตรก็พยายามสร้างห่วงโซ่อุปทานที่ไม่มีจีนอยู่ในนั้นด้วย เริ่มตั้งแต่การย้ายฐานการผลิตออกไปนอกจีน และสร้างความเข้มแข็งกับพันธมิตรใหม่ ๆ ในฐานะผู้ผลิตชิป เช่น เวียดนามและอินเดีย
นอกจากนี้ ไม่ได้มีเพียงสหรัฐฯ ที่สกัดกั้นจีน เพราะเยอรมนี หนึ่งในพันธมิตรที่สำคัญของสหรัฐฯ ก็ทุ่มเงินกว่า 4,000 ล้านยูโร (ราว 149,484 ล้านบาท) เพื่อดึงดูดการลงทุนด้านเซมิคอนดักเตอร์จากต่างชาติ ขณะเดียวกันก็ไม่ลืมที่จะกีดกันบริษัทที่มีสายสัมพันธ์จากจีน เช่นเดียวกับสหรัฐฯ ที่พยายามกระชับความสัมพันธ์ด้านเซมิคอนดักเตอร์กับอินเดียและเวียดนาม
โครงการนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามสร้างศูนย์กลางด้านเซมิคอนดักเตอร์ในภาพรวมของสหภาพยุโรป (European Union-EU)
จีนพยายามลดการพึ่งพาเทคโนโลยีตะวันตก
จีนเองก็ไม่ได้ยอมแพ้ พยายามทุกวิถีทางเพื่อตอบโต้มาตรการสกัดกั้นและการคว่ำบาตร โดยมีมาตรการขัดขวางการดำเนินธุรกิจของสหรัฐฯ ในประเทศเช่นกัน ผ่านการคว่ำบาตร Micron Technologies หนึ่งในผู้ผลิตชิปความจำ (Memory Chip) และเมื่อต้นกันยายน 2566 ก็เพิ่งจะแบนการใช้ iPhone ของบรรดาเจ้าหน้าที่รัฐ ทำให้หุ้น Apple ร่วงทันทีอย่างน้อย 6.4%
ขณะเดียวกัน จีนเร่งยกระดับประสิทธิภาพการผลิตชิปเป็นการผ่านในด้วย ผ่านโครงการภายในประเทศ เช่น โครงการฉีหมิง (Qiming) ที่เล็งซื้อตัวผู้เชี่ยวชาญทั้งชาวจีนและชาวต่างชาติที่ศึกษาจบจากมหาวิทยาลัยระดับโลกและทำงานในบริษัทชั้นนำให้ไปทำงานในจีน จนถึงการเร่งพัฒนาขีดความสามารถพัฒนาชิป พร้อม ๆ ไปกับการพึ่งพาเทคโนโลยีจากสหรัฐฯ และพันธมิตรโลกตะวันตกและตะวันออก วิธีการนี้ของจีนทำให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีชิปมากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างชิปขนาด 7 นาโนเมตรที่อยู่ในสมาร์ตโฟน Huawei Mate 60 ที่ต้องใช้เครื่องพิมพ์ชิป EUV ที่ไม่มีใครครอบครองนอกจาก ASML ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าจีนผลิตได้เองหรือมีบริษัทใดที่ละเมิดมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ
ระบบการเมืองจีนยังเป็นอุปสรรคการพัฒนา
แม้จีนจะเร่งตามสหรัฐฯ ด้วยการลงทุนเองและดึงดูดนักพัฒนาจากต่างประเทศ แต่มีแนวโน้มสูงว่าการพัฒนาเทคโนโลยีชิปของจีนยังตามหลังสหรัฐฯ อีกยาวไกล เพราะการที่บริษัทในสหรัฐฯ และพันธมิตรต่างก็แข่งขันกันเองอย่างดุเดือด ภายใต้ความกลัวจีนที่มีร่วมกัน พร้อมทั้งสหรัฐฯ ยังมีระบบตลาดเสรีและสถาบันการศึกษาชั้นนำที่รองรับต่อการพัฒนา ทำให้การพัฒนาเทคโนโลยีเป็นไปอย่างก้าวกระโดด
รองศาสตราจารย์ แอนดรูว์ เคนเนดี แห่งวิทยาลัยนโยบายสาธารณะครอว์ฟอร์ด มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียชี้ว่าช่องว่างในการพัฒนาชิประหว่างจีนและตะวันตกนั้นกว้างมาก ขณะเดียวกัน จีนมีอุปสรรคสำคัญคือการที่ยังต้องพึ่งพาเทคโนโลยี และผู้เชี่ยวชาญของโลกตะวันตก เห็นได้จากโครงการระดับประเทศและระดับรัฐจำนวนมาก อย่างฉีหมิง หรือแผนกุนเผิง (Kunpeng) ที่เป็นการยอมรับกลาย ๆ ว่ายังต้องพึ่งพาบุคลากรที่มีความรู้ของโลกตะวันตก
ยิ่งไปกว่านั้น ระบบการเมืองและกฎหมายที่ค่อนข้างแทรกแซงการดำเนินธุรกิจของเอกชน ทุกอย่างต้องอยู่ในสายตาของรัฐ ต้องเผยข้อมูลเทคโนโลยีให้รัฐทราบ ต่างจากฝ่ายสหรัฐฯ ที่มองตลาดพลเรือนสำคัญกว่าหน่วยงานของรัฐ เพราะทำเงินได้มากกว่า
พันธมิตรของจีนอย่างรัสเซีย เกาหลีเหนือ ปากีสถาน บางประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแอฟริกา ยังขาดความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีที่ทัดเทียมกับจีน อีกทั้งดูแล้วการดำเนินนโยบายต่างประเทศของจีนก็ไม่ได้มุ่งสร้างหุ้นส่วนเชิงเศรษฐกิจและยุทธศาสตร์ และแบ่งปันความเจริญก้าวหน้าระหว่างกันจริงจัง แต่กลับสร้างระบบที่จีนเป็นศูนย์กลางและพึ่งพาจีน จึงไม่สามารถเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ดี สหรัฐฯ และชาติพันธมิตรยังจำเป็นต้องพึ่งพาตลาดในจีนอย่างมาก และยังอีกนานกว่าจะสามารถกีดกันจีนออกจากอุตสาหกรรมชิปไปได้อย่างสมบูรณ์
ที่มา ABC News, usgs.gov , The Register, Reuters, CNBC
เรียบเรียงโดย จตุรวิทย์ เครือวาณิชกิจ