“เมือง” ไม่ว่าจะมีขนาดเล็กหรือใหญ่ เป็นเมืองหลวง เมืองรอง เมืองท่องเที่ยว ก็มักจะประกอบด้วยกลุ่มคนหลายกลุ่มทั้งประชาชนวัยแรงงาน ผู้สูงวัย ผู้ประกอบการธุรกิจที่มีทุนสูง หรือธุรกิจพาณิชย์ขนาดเล็ก รวมถึงผู้มีอำนาจในการบริหาร เช่น ภาครัฐหรือหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนหน่วยงานการศึกษาที่รวบรวมแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาเมืองที่คอยแนะนำและเสนอแผนการพัฒนาเมืองในหลากหลาย แม้เมืองจะมีความซับซ้อน แต่หลักการพัฒนาเมืองนั้นประกอบด้วยการพัฒนา 4 ด้านหลักๆ ได้แก่ ด้านสังคมและการเมือง ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ด้านเศรษฐกิจ และด้านสิ่งแวดล้อม โดยอาศัยบทบาทหน้าที่ที่จะขับเคลื่อนเมืองด้วย 2 ภาคส่วน ได้แก่ ภาครัฐ และภาคเอกชนที่มีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกันอยู่แล้ว
บทความนี้จะขอแยกแยะและพูดถึงการพัฒนาเมืองในแต่ละด้าน
เริ่มจาก การพัฒนาด้านสังคมและการเมือง เป็นด้านแรกๆ ที่เป็นการดำเนินการเกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนภายในเมือง ครอบคลุมหลายด้าน โดยประชาชนทุกอาชีพและทุกวัยจะได้รับการบริการขั้นพื้นฐานจากภาครัฐอย่างเท่าเทียมกัน ดังนั้น ด้านนี้ภาครัฐจะมีหน้าที่ในการปฏิบัติโดยประชาชนเป็นผู้รับผลพลอยได้ ทั้งนี้ ประชาชนต้องสร้างความร่วมมือหรือมีบทบาทในการสร้างสังคมให้น่าอยู่ มากกว่าเพียงหวังพึ่งการสนับสนุนของภาครัฐเพียงอย่างเดียว เนื่องจากกประชาชนหรือภาคเอกชนนี้เป็นผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการพัฒนาสังคมเมือง
ด้านที่สอง คือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ แหล่งน้ำ การประปา ไฟฟ้า พลังงาน การคมนาคมขนส่งสินค้าและสัญญาณต่างๆ ซึ่งเป็นหน้าที่ของภาครัฐที่จะต้องพัฒนาเวนคืนที่ดิน สร้างถนน วางท่อประปา และอื่นๆ ไปสู่ย่านต่างๆ ตามความต้องการของประชาชนตามความต้องการของประชาชนในแต่ละย่าน และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานยังเป็นการนำทางการพัฒนาในแต่ละที่ได้อีกด้วยเช่นกัน
ต่อมา คือ ด้านเศรษฐกิจ หลังจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้เกิดการกระตุ้นทางเศรษฐกิจและการลงทุนแล้ว การเติบโตในย่านต่างๆ มักเกิดขึ้นโดยภาคเอกชน แต่อย่างไรก็ตาม แนวคิดเรื่องการสร้างความเติบโตด้วยเศรษฐกิจ โดยคาดหวังการลงทุนจากภาคเอกชนเพียงอย่างเดียว อาจไม่สามารถทำให้ทิศทางการขยายตัวของธุรกิจสอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาเมือง ดังนั้น การร่วมทุนกันระหว่างภาครัฐและเอกชนจึงเป็นเครื่องมือที่สามารถควบคุมทิศทางของการพัฒนาเมืองไปด้วย …เอื้อให้เมืองถูกพัฒนาไปตามลักษณะทางภูมิศาสตร์และสังคมเฉพาะของแต่ละท้องที่ไม่ว่าจะเป็นเมืองการท่องเที่ยว เมืองท่า ย่านธุรกิจ ย่านชุมชน ย่านการศึกษา ชุมชนอนุรักษ์ หมู่บ้านวัฒนธรรม ล้วนอาศัยความร่วมมือของภาครัฐในการเอื้อมาตรการ ออกกฎหมายพิเศษ และการลงทุนของเอกชน เช่น การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือการยกเป็นเขตปกครองตนเอง
สุดท้าย คือ การพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งสำคัญมาก แต่มักกลับเป็นด้านที่จะถูกละเลย เพราะไม่มีใครได้รับผลกระทบโดยตรงเป็นพิเศษ ไม่ใช่คุณภาพชีวิตพื้นฐานของประชาชน การทำธุรกิจของภาคเอกชน หรืออำนาจการบริหารของภาครัฐ แต่ปัจจุบันก็เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า การละเลยปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมนั้นส่งผลกระทบต่อทุกชีวิต ดังนั้น การพัฒนาเมืองทางด้านสิ่งแวดล้อมจึงเป็นหน้าที่ของทุกภาคส่วน ที่ต้องคำนึงถึงในการปฏิวัติกิจกรรมใดๆ ตั้งแต่การวางแผนนโยบายของภาครัฐ การประกอบการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและการดำรงชีวิตโดยใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เพื่อให้เมืองและความเป็นอยู่ของมนุษย์ รวมทั้งสิ่งแวดล้อมสามารถพัฒนาต่อไปร่วมกันได้อย่างยั่งยืน…