ที่ผ่านมาราวสองเดือนก่อนไฟป่าที่ยาวนานเป็นสัปดาห์ได้สร้างความสูญเสียร้ายแรงทั้งชีวิตและทรัพย์สินที่ฮาวาย ต่อมาอุทกภัยครั้งใหญ่จากฝนตกหนักในลิเบียทั้งยังถูกซ้ำเติมจากเขื่อนแตก แผ่นดินไหวที่สร้างความเสียหายให้ตุรกีไม่น้อยกว่าภัยพิบัติอื่น ๆ และคลื่นความร้อนในหลายประเทศในยุโรป อเมริกาเหนือ เอเชียใต้ และโอเชียเนียที่เกิดขึ้นทุกปี ตลอดจนปัญหาฝุ่นควันและ PM2.5 จากการเผาป่าและไฟป่าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภัยพิบัติที่เกิดจากธรรมชาติและที่เป็นผลจากการกระทำของมนุษย์นับวันจะยิ่งรุนแรง และปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ส่งผลให้โลกรวน(Climate Change) จนเดือด (Global Boiling)
ไม่เพียงชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนทั่วโลกที่ได้รับผลกระทบอย่างเห็นได้ชัดจากวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ภาคเกษตรกรรม ปศุสัตว์ และการผลิตอาหารล้วนประสบภัยจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนไปไม่ต่างกัน ไม่เว้นแม้แต่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่เพิ่งฟื้นตัวหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลาย ก็ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติที่เกิดขึ้นและจะประสบปัญหามากขึ้นทั้งเฉพาะหน้าและระยะยาว ….โดยเฉพาะในแง่ความเสียหายของแหล่งท่องเที่ยวจากการเป็นพื้นที่ประสบภัย และการสูญเสียรายได้จากการเปลี่ยนพฤติกรรมและฤดูกาลท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยว ซึ่งประเทศที่พึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวจะได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าวอย่างมีนัยสำคัญ
การที่ทุกประเทศล้วนมีศักยภาพเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีจุดแข็งและจุดขายแตกต่างกัน ทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นธุรกิจแห่งความหวังในช่วงฟื้นฟูและกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ แทบทุกประเทศจึงมุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบการจัดการการท่องเที่ยว รวมทั้งบุคลากรที่เกี่ยวข้อง เพื่อรองรับตลาดนักท่องเที่ยวที่เริ่มกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งหลังการเปิดประเทศ
อย่างไรก็ตาม ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั้งที่มีสาเหตุจากธรรมชาติและที่เป็นผลจากการกระทำของมนุษย์น่าจะเป็นสัญญาณเตือนอีกครั้ง (ต่อจากโรคโควิด-19) ว่า ประเทศต่าง ๆ ไม่อาจพึ่งพาให้การท่องเที่ยวเป็นเสาหลักของการเติบโตทางเศรษฐกิจเพียงขาเดียว รวมทั้งไม่น่าจะใช่หนทางของการสร้างรายได้อย่างยั่งยืน หากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญ และจะยิ่งรุนแรงหากไม่มีมาตรการป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นและมาตรการจัดการกับความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้ว
สำหรับประเทศที่พึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยว สิ่งที่น่ากังวลที่เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้นทุกขณะ คือ การดำรงอยู่อย่างปลอดภัยของแหล่งท่องเที่ยว ทั้งแหล่งท่องเที่ยวที่มีจุดขายจากความสวยงามตามธรรมชาติหรือการทำกิจกรรมสันทนาการและกีฬาท้าทาย โบราณสถานที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมซึ่งสะท้อนถึงอดีตอันรุ่งเรืองของแหล่งอารยธรรมโบราณที่รอคอยให้นักท่องเที่ยวออกมาค้นหา ตลอดจนแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ที่เสี่ยงจะได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติที่เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการกระทำของมนุษย์ เช่น แหล่งท่องเที่ยวชายทะเลและหมู่เกาะ ที่เป็นปลายทางยอดนิยมของคนทั่วโลกได้รับผลกระทบจากการสูญเสียชายหาดเนื่องจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น นอกจากนั้นยังเสี่ยงจะประสบปัญหาจากพายุและอุทกภัยใหญ่ ขณะที่แหล่งท่องเที่ยวในแถบภูเขาก็ได้รับผลกระทบจากปัญหาหิมะละลายเนื่องจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น
……คำถามที่ตามมาคือ ภาคการท่องเที่ยวในประเทศต่าง ๆ จะบริหารจัดการกับสถานการณ์ที่แหล่งท่องเที่ยวกำลังเผชิญภัยคุกคามครั้งสำคัญและต้องการการดูแลปกป้องอย่างไร ทั้งการหามาตรการป้องกัน และแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อให้แหล่งท่องเที่ยวยังคงอยู่รอดปลอดภัยและมีความสวยงามสมบูรณ์อย่างยั่งยืน สมเป็นปลายทางยอดนิยมต่อไป ขณะเดียวกันก็สามารถดูแลนักท่องเที่ยวระหว่างเดินทางและพำนักในสถานที่ท่องเที่ยวได้อย่างปลอดภัย
ในสถานการณ์เฉพาะหน้าและระยะสั้น ผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น คลื่นความร้อน ฝุ่นควัน หรืออุทกภัย จะส่งผลให้นักท่องเที่ยวปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ทั้งการเลือกจุดหมายปลายทาง ฤดูการเดินทาง และระยะเวลาการท่องเที่ยว โดยสภาพอากาศที่เย็นสบายท่ามกลางอุณหภูมิที่มีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเงื่อนไขสำคัญและในเบื้องต้นสำหรับการตัดสินใจเลือกจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยว รวมทั้งอาจจะมีผลต่อเนื่องให้ฤดูท่องเที่ยวเปลี่ยนไป เช่น อากาศที่ร้อนขึ้นในยุโรปจะทำให้แหล่งท่องเที่ยวแถบเมดิเตอร์เรเนียนมีระยะเวลาการท่องเที่ยวสั้นลงในช่วงฤดูร้อน ขณะที่แหล่งท่องเที่ยวแถบขั้วโลก เช่น สแกนดิเนเวีย จะเป็นปลายทางที่ได้รับความนิยมมากขึ้น และอากาศที่อุ่นขึ้นแถบขั้วโลกจะมีส่วนทำให้ช่วงเวลาการท่องเที่ยวในพื้นที่ดังกล่าวยาวนานขึ้น
นอกจากนั้น นักท่องเที่ยวน่าจะปรับแผนการท่องเที่ยวและพฤติกรรมระหว่างที่อยู่ที่ปลายทางด้วย เช่น การเก็บตัวในที่พักในช่วงกลางวันที่มีอากาศร้อนจัดมากขึ้น และออกมาท่องเที่ยวช่วงเย็นแทน สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจึงส่งผลให้ผู้ประกอบการและแหล่งท่องเที่ยวจำเป็นต้องปรับตัวรับกับการปรับเปลี่ยนดังกล่าวไม่ว่าจะเป็นการออกแบบกิจกรรมหรือจัดพื้นที่ผ่อนคลายในที่พักสำหรับนักท่องเที่ยวในช่วงที่มีอากาศร้อนจัด ส่วนแหล่งท่องเที่ยวก็อาจปรับเวลาโดยเปิดให้บริการช่วงเย็นและกลางคืนมากขึ้น
ไม่เพียงได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวก็เป็นหนึ่งในต้นเหตุของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะการเดินทางทางอากาศที่เป็นอีกสาเหตุสำคัญของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ ซึ่งอาจทำให้นักท่องเที่ยวบางกลุ่มหันไปให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวในประเทศหรือแหล่งท่องเที่ยวที่อยู่ใกล้มากขึ้น เพื่อมีส่วนร่วมในการลดก๊าซคาร์บอนจากการเดินทาง โดยเฉพาะการบิน
ขณะเดียวกัน แหล่งท่องเที่ยวและผู้ประกอบการการท่องเที่ยวจะเผชิญความท้าทายและการกดดันให้ต้องมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากขึ้น ทั้งความเป็นกลางทางคาร์บอน การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ รวมถึงการมีแนวคิดการดำเนินธุรกิจที่เน้นความยั่งยืน ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environment, Social, Governance – ESG) ไม่หวังผลกำไรเพียงอย่างเดียว เนื่องจากมาตรการที่เกี่ยวเนื่องกับการดำเนินการเหล่านี้จะเป็นอีกปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจของนักท่องเที่ยวคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นจำนวนต้นไม้และระบบนิเวศในแหล่งท่องเที่ยวหรือที่พัก การใช้พลังงานสะอาด การลดและจัดการกับปัญหาขยะ การบำบัดน้ำเสีย และการใช้วัสดุจากสิ่งแวดล้อม เช่น ภาชนะหรือเสื้อผ้าจากวัสดุรีไซเคิล
……..แม้มาตรการเหล่านี้จะทำให้ผู้ประกอบการและแหล่งท่องเที่ยวมีต้นทุนสูงขึ้น แต่ก็จะเป็นอีกจุดขายและดึงดูดนักท่องเที่ยวคุณภาพ โดยเฉพาะยุโรป ที่ให้ความสำคัญกับการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยในส่วนของการท่องเที่ยว คณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปมีการกำหนดวาระว่าด้วยการท่องเที่ยว 2573 (2030 EU Agenda for Tourism) เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เน้นการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรและปกป้องสิ่งแวดล้อม และความเป็นกลางทางคาร์บอน ดังนั้น การท่องเที่ยวสีเขียว (Green Tourism) จึงน่าจะเป็นอีกเทรนด์ของการลงทุนเพื่อสร้างโลกสีเขียวเพื่ออนาคต
—————————————————–