ประเทศไทยเพิ่งเสร็จสิ้นการเป็นเจ้าภาพจัดการเจรจาในกรอบความร่วมมือเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก หรือ Indo-Pacific Economic Framework ตัวย่อว่า IPEF ไปเมื่อ 10-16 กันยายน 2566 เรียกว่าการเจรจากรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก รอบกรุงเทพฯ โดยการเจรจาในครั้งนี้เกิดขึ้นเพื่อสานต่อความพยายามของประเทศหุ้นส่วนในกรอบ IPEF ที่มุ่งหวังให้กรอบความร่วมมือนี้ตอบโจทย์และความต้องการร่วมกันของสมาชิก ก่อนที่จะผลักดันให้เป็นกรอบความร่วมมืออย่างเป็นทางการที่อาจมีมาตรฐานกำหนดไว้ให้สมาชิกต้องปฏิบัติร่วมกัน หรืออย่างน้อย ๆ ก็มีเป้าหมายร่วมกันด้านเศรษฐกิจและการค้ามากขึ้น
หากสงสัยว่าทำไม…ไทยจึงต้องร่วมเจรจากับอีก 13 ประเทศที่เป็นหุ้นส่วนของ IPEF ด้วย!? …ก็เป็นเพราะว่าไทยเองก็เป็น 1 ในหุ้นส่วนของ IPEF ที่เริ่มเจรจากันมาตั้งแต่ปี 2565 เช่นกัน โดยที่ผ่านมา หุ้นส่วนของ IPEF ก็ทยอยกันเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเพื่อเจรจา สำหรับการเจรจาที่สำคัญ ๆ ก่อนหน้านี้ เช่น การเจรจารอบที่ 4 ที่เมืองปูซานของเกาหลีใต้เมื่อ กรกฎาคม 2566 เพราะเป็นการเจรจาที่มีความคืบหน้าในการร่างเอกสารความร่วมมือในกรอบ IPEF ครบทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ ด้านการค้า ห่วงโซ่อุปทาน พลังงานสะอาด และภาษีและการต่อต้านทุจริต ซึ่งเป็น 4 เสาหลักที่สมาชิก IPEF เห็นพ้องกันตั้งแต่ปี 2565 ว่าจะร่วมมือกันมากขึ้นเพื่อยกระดับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างกัน สำหรับสมาชิกหุ้นส่วนของ IPEF ได้แก่ บรูไนดารุสซาลาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย ฟิจิ สหรัฐฯ และไทย
เราอาจสรุปได้ว่า ปัจจุบันกรอบความร่วมมือ IPEF ที่ริเริ่มโดยสหรัฐอเมริกา และมีประเทศหุ้นส่วนร่วมเจรจาอีก 13 ประเทศ มีพัฒนาการมากขึ้น และอยู่ระหว่างกำลังเร่งเติมเต็มส่วนที่ขาดหายไปหรือสร้างกิจกรรมเพื่อยึดเหนี่ยวสมาชิกเอาไว้ ด้วยวิธีการเจรจาเป็นรอบ ๆ …..สำหรับ 1 ในเสาหลักที่มีความคืบหน้าในการเจรจามากที่สุด คือ เรื่องห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) เพราะเป็นเรื่องที่แต่ละประเทศมีมุมมองคล้ายกันและมีผลประโยชน์ร่วมกันมากที่สุด
ส่วนเรื่องอื่น ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกฎระเบียบภายในประเทศอย่างเรื่องการค้า การพัฒนาพลังงานสะอาด และการกำจัดทุจริตคอร์รัปชันนั้น ….การเจรจามีความคืบหน้าเรื่อย ๆ แต่ยังไม่ “ตกผลึก” เป็นผลลัพธ์ที่เป็นลายลักษณ์อักษรได้ง่าย ๆ อาจเป็นเพราะหุ้นส่วน IPEF จำนวน 14 ประเทศนั้นมีมุมมองต่อเรื่องต่าง ๆ ที่แตกต่าง หลากหลาย และมีผลประโยชน์แห่งชาติ (national interest) ที่ต้องปกป้องเอาไว้ แบบที่ยังไม่สามารถแลกได้กับผลประโยชน์ที่จะได้จาก IPEF
…ดังนั้น IPEF ในปัจจุบันและในอนาคตอันใกล้ ดูเหมือนว่าจะยังคงเป็นกรอบความร่วมมือในเชิงสัญลักษณ์ ที่เต็มไปด้วยแนวคิด วิสัยทัศน์ และเป็นเวทีเจรจาแบบพหุภาคีให้ประเทศหุ้นส่วนได้มาพบพูดคุยกัน มากกว่าที่จะเป็นข้อตกลงชนิดที่มีข้อผูกมัดต่อประเทศสมาชิก เพราะเงื่อนไขนั้นอาจทำให้ IPEF ประกาศความสำเร็จได้ยาก
แต่สหรัฐอเมริกา กำลังเร่งพัฒนาการของ IPEF ให้มีผลสำเร็จมากกว่าการเจรจา เพื่อให้สามารถประกาศเป็นผลงานที่เป็นรูปธรรมได้เร็ว ๆ นี้
……โดยมีแนวโน้มสูงมากที่สหรัฐอเมริกา จะประกาศ…….ความสำเร็จระยะแรกของ IPEF ในการประชุมสุดยอดเอเปค ที่สหรัฐฯ จะเป็นเจ้าภาพในปลายปี 2566 ที่เมืองซานฟรานซิสโก เพื่อให้เป็นผลงานสำคัญของประธานาธิบดีโจเซฟ ไบเดนและรัฐบาลเดโมแครต ก่อนที่จะเข้าสู่ปี 2567 ที่เป็นปีแห่งการแข่งขันทางการเมือง เพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ต่อเป็นวาระที่ 2
ดังนั้นเมื่อพิจารณาจากเงื่อนไขการเมืองสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นมหาอำนาจที่เริ่มและเสนอ IPEF รวมทั้งบรรยากาศการแข่งขันกับจีนที่เข้มข้นขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ก็ไม่น่าแปลกใจที่อเมริกาจะต้องให้ความสำคัญกับ IPEF และพยายามอย่างยิ่งที่จะใช้การเยือนของเจ้าหน้าที่ระดับสูง ควบคู่ไปกับการใช้กระบวนการเจรจา การรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับหุ้นส่วนใน IPEF อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มั่นใจว่าอเมริกาเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้ และให้ประเทศอื่น ๆ เข้าใจว่า IPEF จะเป็นความร่วมมือที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการตัดสินใจได้ เพราะอเมริกานั้นให้คุณค่ากับการสร้างความร่วมมือที่โปร่งใสและทุกประเทศเท่าเทียมกัน
..ซึ่งเมื่อเราย้อนดูสถานที่จัดการเจรจารอบต่าง ๆ ของ IPEF ก็จะเห็นได้ว่ามีการ “กระจาย” ไปทั่วภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ได้แก่ ออสเตรเลีย อินเดีย (รอบพิเศษ) อินโดนีเซีย สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และไทย โดยโอกาสของสหรัฐอเมริกาในการสนับสนุนการเจรจารอบต่าง ๆ นี้ นอกจากจะทำให้ทั่วโลกเห็นความคืบหน้าของ IPEF แล้ว ยังเป็นโอกาสให้สหรัฐฯ ได้รับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาสังคมจากประเทศหุ้นส่วน ที่จะไปร่วมแสดงความเห็นและให้ข้อแนะนำที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนา IPEF ด้วย ทั้งในมิติการส่งเสริมเทคโนโลยีดิจิทัล การส่งเสริมให้ประชาชนร่วมมือด้านการต่อต้านการทุจริต และการปฏิบัติตามมาตรฐาน Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) เป็นต้น
จนถึงตอนนี้เมื่อพิจารณาท่าทีของประเทศหุ้นส่วนของ IPEF ต่าง ๆ ที่ยังไม่ทุ่มเทสุดตัวเพื่อเข้าร่วมกรอบความร่วมมือทางการค้ากับสหรัฐอเมริกา อาจเป็นเพราะ 2 ปัจจัย เรื่องแรก…อาจเป็นผลจากบทเรียนเมื่อหลายปีก่อน ที่สหรัฐอเมริการิเริ่มความร่วมมือในกรอบ Trans-Pacific Partnership หรือ TPP แต่พอการทำข้อตกลงระหว่างสมาชิกยืดเยื้อ ผู้นำสหรัฐฯ เองก็เป็นคนที่คำนวณผลประโยชน์ที่หวังได้ใหม่ และก็ถอนตัวออกไปจากข้อตกลงนี้ซะดื้อ ๆ ทำให้ประเทศในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก เริ่มพูดถึงความไม่แน่นนอนในการดำเนินนโยบายของสหรัฐฯ หรือ uncertainty ที่เกิดขึ้นได้เมื่ออเมริกามีการเปลี่ยนแปลงผู้นำรัฐบาล
ส่วนปัจจัยที่ 2 อาจเป็นเพราะยังต้องรอว่า IPEF จะมี “character” แบบไหน ก็คือ IPEF จะกลายเป็นข้อตกลงที่สร้างเงื่อนไขที่เป็นภาระให้กับประเทศสมาชิกหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นการยกระดับมาตรฐานแรงงาน สิ่งแวดล้อม การผลิต และนโยบายการค้า …และที่สำคัญคือ สมาชิกอาจจะยังไม่แน่ใจว่า IPEF จะสร้างแรงกดดันให้ต้องยุติหรือทบทวนความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการค้ากับจีนหรือเปล่า ถ้าเป็นแบบนั้น สมาชิก IPEF อาจต้องช่วยกันส่งสัญญาณให้มหาอำนาจทั้งหลายเข้าใจว่า ประเทศในอินโด-แปซิฟิกไม่ต้องการเลือกข้าง และไม่ต้องการให้ความร่วมมือกับประเทศใดส่งผลกระทบหรือผลเสียต่อความร่วมมือกับอีกประเทศหนึ่ง
ดังนั้น เมื่อพิจารณาดูพัฒนาการและความคืบหน้าของ IPEF และความมุ่งหมายของประเทศต่าง ๆ ที่ยังต้อนรับและต้องการร่วมมือด้านการค้าและเศรษฐกิจกับสหรัฐอเมริกา ก็อาจจะวิเคราะห์ได้ว่า IPEF มีโอกาสจะเป็นผลงานที่สร้างชื่อให้รัฐบาลสหรัฐฯ ชุดนี้ เพราะอย่างน้อย ๆ ก็ทำให้รัฐบาลไบเดนหันไปพูดกับชาวอเมริกันได้ว่าประสบความสำเร็จในการฟื้นฟูความเชื่อมั่นในบทบาทผู้นำของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก และสร้างห่วงโซ่การผลิตสินค้าที่เอื้อประโยชน์กับเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้เป็นอย่างดี …IPEF จึงเป็นโอกาสสำคัญของสหรัฐอเมริกาที่น่าจะรักษาไว้และสานต่อไปเรื่อย ๆ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการดำเนินยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก รวมทั้งการแข่งขันอิทธิพลกับจีน ….
ทีนี้เมื่อสหรัฐอเมริกา มีแนวโน้มจะเอาจริงเอาจังเรื่องการผลักดัน IPEF ให้เป็นความตกลงระหว่างประเทศ ดังนั้น ประเทศหุ้นส่วนต่าง ๆ ย่อมได้ประโยชน์จากการที่ IPEF จะเป็นเครื่องมือที่ใช้ค้ำประกันได้ว่าสหรัฐอเมริกาจะให้ความสำคัญกับความร่วมมือด้านการค้าและเศรษฐกิจกับประเทศในภูมิภาคนี้เสมอ แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงผู้นำหรือขั้วอำนาจทางการเมืองของสหรัฐฯ ในอนาคตก็ตาม ดังนั้น ไม่ว่า IPEF จะจัดทำขึ้นออกมาในรูปแบบไหน อย่างน้อย ๆ กรอบความร่วมมือนี้ก็เป็นสัญลักษณ์ที่ชัดเจนว่า อเมริกาให้ความสำคัญกับการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านการค้าและสร้างมาตรฐานเศรษฐกิจร่วมกับประเทศในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก รวมทั้งประเทศไทย ซึ่งจะมีโอกาสใช้กรอบ IPEF ในการรักษาปฏิสัมพันธ์กับหน่วยงานด้านเศรษฐกิจและการค้าของอเมริกาอยู่เป็นระยะ ๆ ซึ่งสามารถเป็นช่องทางพูดคุยประเด็นอื่น ๆ ได้นอกเหนือจาก IPEF ด้วย…