“มอสโกขับเคี่ยวสงครามนี้ไปจนกระทั่งให้โลกล่มสลาย…พวกเขาต้องการให้ตลาดอาหารโลกล่มสลาย เกิดวิกฤตราคาอาหาร และปั่นป่วนผู้ผลิต” นายโวโลดิเมียร์ เซเลนสกีประธานาธิบดียูเครน เผยแพร่ข้อความข้างต้นผ่านเทเลแกรม เมื่อคืนวันที่ 2 สิงหาคม 2566 หลังจากโกดังเก็บธัญพืชของยูเครน ที่ท่าเรืออิซมาอิล ในแม่น้ำดานูบ ถูกโดรน ของรัสเซียโจมตี ประกอบกับที่รัสเซียตัดสินใจไม่ลงนามขยายเวลาในข้อตกลงทะเลดำเพื่อขนส่งธัญพืช (Black Sea Grain Initiative) ที่สิ้นสุดลงเมื่อกลางกรกฎาคมที่ผ่านมา ทำให้หลายฝ่ายเกิดข้อกังวลว่าราคาธัญพืชและอาหารที่สูงขึ้น จะทำให้ความมั่นคงทางอาหาร (food security) อยู่ในสภาวะเปราะบางอีกครั้ง
ความมั่นคงทางอาหาร
หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงในปี 2488 ทั่วโลกต้องการฟื้นฟูเศรษฐกิจ จากความขาดแคลนในภาวะสงคราม แต่กลับต้องเผชิญกับสงครามตัวแทนระหว่างโลกเสรีกับค่ายคอมมิวนิสต์ ระหว่างปี 2488-2534 (ค.ศ.1945-1991) ในห้วงปี 2513-2522 (คริสต์ทศวรรษที่ 1970) ภาวะขาดแคลนอาหารมีความรุนแรงยิ่งขึ้น จนเริ่มมีการนิยามและคำจำกัดความเกี่ยวกับความมั่นคงทางอาหารไว้ นิยาม “ความมั่นคงทางอาหาร” ที่ถูกหยิบยกมาใช้มากที่สุดมาจากการประชุมอาหารโลก (World Food Summit) เมื่อปี 2539 ต่อมา ในปี 2549 องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization – FAO ) ได้พัฒนาดัชนี “ความมั่นคงทางอาหาร” โดยพิจารณาจาก 1) การมีอาหารเพียงพอ (Food Availability) 2) การเข้าถึงอาหาร (Food Access) 3) การใช้ประโยชน์จากอาหาร (Food Utilization) และ 4) เสถียรภาพด้านอาหาร (Food Stability)
กรอบแนวคิดความมั่นคงทางอาหาร ยังทำให้เกิดการปฏิวัติเขียว (Green Revolution) โดยนำเทคโนโลยีการเกษตรมาประยุกต์ใช้ เพื่อผลิตอาหารให้เพียงพอต่อความต้องการของประชากร แต่การเพิ่มผลผลิตสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และแม้จะมีอาหารเพียงพอ แต่ประชาชนบางส่วนกลับไม่สามารถเข้าถึงอาหารได้ กรอบแนวคิดด้านความมั่นคงทางอาหาร จึงไม่ได้จำกัดเพียงแค่การผลิตอาหารจำนวนมาก แต่ยังรวมถึงการเพิ่มทางเลือก การสามารถเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัย และการมีความรอบรู้ด้านอาหาร (Food Literacy) เพื่อจะสามารถเข้าถึงอาหารได้ในห้วงวิกฤต
แม้ความมั่นคงทางอาหารจะถูกนิยามให้อยู่ในกลุ่มความมั่นคงรูปแบบใหม่ (Non-traditional Security) มากกว่าความมั่นคงแบบดั้งเดิม (Traditional Security) แต่ความมั่นคงทางอาหารสัมพันธ์กับความมั่นคงแบบดั้งเดิมอย่างแนบแน่น อาทิ สงครามเพโลพอนนีเซียน (Peloponnesian War) ระหว่างสปาร์ตาและเอเธนส์ เมื่อ 400 ปี ก่อนคริสตกาล ที่ใช้กลยุทธ์ทำลายเสบียงของคู่แข่งเพื่อชนะสงคราม สงครามระหว่างอาณาจักรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป้าหมาย เพื่อช่วงชิงดินแดน แรงงานเพื่อผลิตอาหาร นอกจากนี้ หากพิจารณากรณี รัฐบาลไทยลงนามใน “ความตกลงสมบูรณ์แบบ” ส่งมอบข้าวให้อังกฤษ 1.5 ล้านตัน หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ส่งผลให้รัฐบาลต้องปรับเปลี่ยนนโยบายรวมถึงหน่วยงานกำกับดูแลเพื่อจัดหาข้าวให้เพียงพอต่อการส่งมอบ ได้ซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจและค่าครองชีพของประชาชนมากขึ้น จากกรณีข้างต้น อาจกล่าวได้ว่า ความมั่นคงทางอาหารเป็นหนึ่งในความมั่นคงที่ดั้งเดิมที่สุดที่มนุษย์มีเสียด้วยซ้ำ
การโจมตีแบบดั้งเดิมกับความมั่นคงทางอาหาร : กรณีรัสเซียปฏิบัติการทางทหารในยูเครน
นับตั้งแต่รัสเซียเริ่มปฏิบัติการทางทหารในยูเครน เมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2565 รัสเซียได้ปิดเส้นทางทะเลดำ โดยอ้างว่ายูเครนอาจใช้เส้นทางดังกล่าวขนยุทโธปกรณ์ เส้นทางทะเลดำเป็นเส้นทางขนส่งธัญพืชไปยังประเทศอื่น ๆ เฉพาะอย่างยิ่งประเทศกำลังพัฒนา ส่งผลให้ราคาอาหาร พลังงาน ปุ๋ย และปัจจัยการผลิตอาหารอื่น ๆ สูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ด้านสหประชาชาติ (United Nations-UN) และตุรกี ริเริ่มให้เกิด “ข้อตกลงทะเลดำเพื่อขนส่งธัญพืช” (Black Sea Grain Initiative) เมื่อกรกฎาคม 2565 เพื่อเป็นระเบียงมนุษยธรรม (Humanitarian Corridor) บรรเทาปัญหาความมั่นคงทางอาหารในประเทศกำลังพัฒนา จนกระทั่งรัสเซียประกาศว่าจะไม่ขยายเวลาในข้อตกลงดังกล่าว เมื่อ 17 กรกฎาคม 2566 เนื่องจากรัสเซียไม่ได้ประโยชน์ในการส่งออกผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร และอ้างว่าผลผลิตจากยูเครนถูกส่งไปประเทศกำลังพัฒนาเพียงร้อยละ 3 ซึ่งไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของข้อตกลงทะเลดำ
การไม่ขยายเวลาในข้อตกลงทะเลดำ ส่งผลให้การเดินเรือยูเครนในทะเลดำไม่ปลอดภัย ด้วยเหตุนี้ยูเครนจึงต้องใช้เส้นทาง “ท่าบก” อย่างท่าเรืออิซมาอิล บนแม่น้ำดานูบ (ตรงข้ามประเทศโรมาเนีย) เพื่อลำเลียงธัญพืชไปยังประเทศกำลังพัฒนา แต่ช่วงเช้ามืดของวันที่ 2 สิงหาคม 2566 รัสเซียใช้โดรนโจมตีท่าเรืออิซมาอิล จนไฟไหม้โกดัง ไซโลเก็บธัญพืช ทำลายธัญพืชเกือบ 40,000 ตันที่จะส่งไปประเทศปลายทางในแอฟริกา จีน อิสราเอล ซึ่งยูเครนเป็นประเทศส่งออกธัญพืชและอาหารรายสำคัญของโลก และได้ชื่อว่าเป็น “ตะกร้าขนมปังของยุโรป” ดังนั้น การโจมตีของรัสเซียจะส่งผลกระทบต่อราคา และการเข้าถึงอาหารของหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา
แม้รัสเซียจะยังไม่มีทีท่าขยายเวลาในข้อตกลงทะเลดำ ทางยูเครนและประเทศพันธมิตรก็ไม่ละความพยายามส่งออกธัญพืช โดยช่วงต้นเดือนตุลาคม 2566 ยูเครนและประเทศพันธมิตรสามารถจัดตั้งระเบียงมนุษยธรรมทางเลือก (alternative arrangement) เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งธัญพืชผ่านทางทะเลดำไปยังประเทศต่าง ๆ ในแอฟริกาและยุโรป อย่างไรก็ตาม หน่วยข่าวกรองของสหราชอาณาจักรเปิดเผยข้อมูลว่ารัสเซียอาจวางกับดัก เพื่อทำลายเรือบรรทุกธัญพืชของยูเครน นอกจากนี้ มีการประมาณการว่าระหว่างสิงหาคม-กันยายน รัสเซียทำลายท่าเรือและโกดังของยูเครนไปแล้ว 130 แห่ง และธัญพืชกว่า 300,000 ตัน
โอกาสของไทย ในวันที่ความมั่นคงทางอาหารทั่วโลกสั่นคลอน
“อาหาร” กลายเป็นคำสำคัญในการกำหนดนโยบาย นอกจากเป็นปัจจัยในการดำรงชีวิต การผลิตอาหารยังเกี่ยวข้องกับภาคส่วนอื่น ๆ ตั้งแต่ภาคการเกษตร การแปรรูปอาหาร ไปจนถึงการวิจัยและพัฒนาอาหารในอนาคต นอกจากนี้อาหารยังสะท้อนถึงวัฒนธรรมในพื้นที่ เมื่อพิจารณาด้านมูลค่าทางเศรษฐกิจ ภาคการเกษตร และอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารมีมูลค่าคิดเป็นร้อยละ 8 และ 23 ของ GDP ไทย และไทยยังเป็นผู้ส่งออกข้าวและอาหารมากเป็นลำดับที่ 2 และ 13 ของโลกตามลำดับ สะท้อนศักยภาพในการผลิตและแปรรูปอาหาร แต่อาจยังไม่เพียงพอต่อการจะเป็น “ครัวโลก”
ดัชนีความมั่นคงทางอาหารโลก (Global Food Security Index-GFSI) รายงานว่าไทยมีความมั่นคงด้านอาหารที่ 64.5 จาก 100 คะแนน อยู่ในอันดับที่ 51 จาก 113 ประเทศ สะท้อนว่าภาพรวมด้านสถานการณ์ความมั่นคงทางอาหารของไทยอยู่ในเกณฑ์ดี เมื่อพิจารณาจำแนกรายดัชนี ได้แก่ 1) การมีอาหารเพียงพอ ไทยสามารถผลิตอาหารได้เกินความต้องการของประชากรในประเทศ 2) ความสามารถในการเข้าถึงอาหาร ประชากรกว่า 6.6 ล้านคน หรือร้อยละ 8.8 มีภาวะขาดสารอาหาร สะท้อนว่าเขาเหล่านี้เป็นกลุ่มเปราะบางและไม่สามารถเข้าถึงอาหารได้ 3) การใช้ประโยชน์จากอาหาร คนไทยร้อยละ 22.5 เลือกอาหารจากความชอบเป็นอันดับแรก ก่อนที่จะคำนึงถึงรสชาติ ความสะอาด และคุณค่าทางโภชนาการ และ 4) เสถียรภาพด้านอาหาร หมายถึงการมีทางเลือกในการบริโภค และการสามารถพึ่งพาอาหารในท้องถิ่นในวันที่ห่วงโซ่อุปทานด้านอาหารต้องหยุดชะงักลง
ภาพรวมเศรษฐกิจและสถานการณ์เปราะบางจากภาวะสงคราม อาจเป็นโอกาสของไทยในการก้าวสู่การเป็นครัวโลก อย่างไรก็ดีไทยควรต้องส่งเสริมดัชนีความมั่นคงทางอาหาร ผ่านการพัฒนาความสามารถในการผลิตภาคการเกษตร สนับสนุนอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร สร้างความเข้าใจด้านความมั่นคงทางอาหารอย่างรอบด้าน เพื่อส่งเสริมศักยภาพการเป็นครัวโลกอย่างเข้มแข็งในห้วงเวลาที่ความมั่นคงทางอาหารโลกสั่นคลอน
อ้างอิง:
http://brussels.customs.go.th/data_files/cc73fa0c4486c794d2f08ca567c2fb07.pdf
https://www.encyclopedia.com/food/encyclopedias-almanacs-transcripts-and-maps/food-weapon-war
http://www.polsci.tu.ac.th/fileupload/36/24.pdf
https://www.sdgmove.com/2021/05/11/sdg-vocab-food-security/
https://www.thansettakij.com/sustainable/food-security/567454