สี จิ้นผิง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนและประธานาธิบดีจีน กล่าวในการพบหารือกับอดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา ในโอกาสเยือนสหรัฐฯ เมื่อ มิถุนายน 2556 ว่า มหาสมุทรแปซิฟิกกว้างใหญ่พอที่จะมีประเทศใหญ่สองประเทศ เช่นสหรัฐฯ และจีน “The vast Pacific Ocean has enough space for two large countries like the United States and China.”
……..10 ปีต่อมา ประธานาธิบดีสีกล่าวในทำนองเดียวกันระหว่างพบหารือกับนายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ซึ่งเยือนจีนเมื่อ มิถูนายน 2566 เพียงแต่เปลี่ยนพื้นที่จาก “มหาสมุทรแปซิฟิก” เป็น “โลก” ว่า โลกใหญ่พอจะมีที่ทางการพัฒนาและความรุ่งเรืองของจีนและสหรัฐฯ “Planet Earth is big enough to accommodate the respective development and common prosperity of China and the United States.”
ถ้อยคำดังกล่าวไม่เพียงสะท้อนภาพการเมืองโลกสองขั้วที่มีสหรัฐฯ และจีนเป็นแกนนำ แต่ยังสะท้อนความคิดของจีนที่เห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นมหาสมุทรหรือโลกทั้งใบก็ไม่ได้มีแค่สหรัฐฯ เป็นประเทศใหญ่เพียงประเทศเดียว เนื่องจากทั้งมหาสมุทรและโลกใบนี้กว้างใหญ่พอที่จะมีประเทศใหญ่เช่นจีนอยู่ด้วยอีกประเทศ นอกจากนั้นยังเป็นการตอกย้ำความคิดของผู้นำจีนที่ไม่เปลี่ยนแปลงแม้เวลาเปลี่ยนไปพร้อมกับตำแหน่งผู้นำที่มั่นคงขึ้นว่า …..สหรัฐฯ ไม่ใช่มหาอำนาจนำเดี่ยวอีกต่อไป โดยจีนพร้อมจะเป็นอีกประเทศที่มีบทบาทนำในพื้นที่ยุทธศาสตร์ไม่ว่าจะเป็นบก ทะเล อากาศ รวมถึงอวกาศ
การแบ่งฝักแบ่งฝ่ายระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่เกิดขึ้นไม่มีทีท่าจะสิ้นสุดและพร้อมจะปะทุด้วยเหตุปัจจัยต่าง ๆ ทั้งอย่างตั้งใจและไม่ตั้งใจ เช่น กรณีบอลลูนจีนรุกล้ำน่านฟ้าสหรัฐฯ สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ความสัมพันธ์สหรัฐฯ – จีนไม่นิ่ง และมีผลต่อเนื่องต่อสถานการณ์ระหว่างประเทศทั้งในแง่เสถียรภาพ และความมั่นคง ขณะเดียวกัน ความสัมพันธ์ที่สลับซับซ้อน ทั้งวิตกกังวล หวาดระแวง เผชิญหน้า ขัดแย้ง แต่ก็พร้อมจะร่วมมือในประเด็นผลประโยชน์ร่วม ….รวมถึงการมีพลังอำนาจเหนือประเทศอื่นในแง่เศรษฐกิจ การทหาร เทคโนโลยี และนวัตกรรมกลายเป็นผลประโยชน์ร่วมของสหรัฐฯ และจีนในการคงความเป็นประเทศหลักที่มีบทบาทนำในการกำหนดทิศทางการเมืองระหว่างประเทศ
ความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนและแบ่งขั้วระหว่างสหรัฐฯ กับจีนสร้างความว้าวุ่นให้นานาประเทศในการกำหนดนโยบายและจุดยืนในการดำเนินความสัมพันธ์กับประเทศทั้งสองทั้งในภาวะปกติและไม่ปกติ ที่เกิดจากวิกฤติหรือปัญหาที่สหรัฐฯ และจีนเข้าไปเกี่ยวข้องโดยตรงและโดยอ้อม นอกจากนั้น ความสัมพันธ์ที่ไม่ราบรื่นและยืดเยื้อระหว่างสหรัฐฯ กับจีนยังทำให้ปรากฏภาพการแตกเป็นส่วน (fragmentation) และการเป็นโลกหลายขั้ว เหลื่อมทับกับโลกสองขั้วมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศขนาดกลาง (middle powers) ที่มีบทบาทในเวทีระหว่างประเทศเด่นชัดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นประเทศขนาดกลางเดิม (traditional middle powers) หรือประเทศขนาดกลางใหม่ (emerging middle powers) รวมถึงการเกิดขึ้นของกลุ่มความร่วมมือใหม่ ๆ
……..ประเทศขนาดกลางเดิม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจ มีเสถียรภาพทางการเมือง และเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ จากการมีค่านิยมทางการเมือง สิทธิมนุษยชน และผลประโยชน์สอดคล้องกัน เช่น แคนาดา ออสเตรเลีย หลายประเทศในยุโรป และญี่ปุ่น ยังคงแสดงบทบาทร่วมและสนับสนุนสหรัฐฯ ในฐานะพันธมิตรอย่างต่อเนื่อง เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถซึ่งกันและกันในการต่อต้านและรับมือกับปัญหาท้าทายร่วมกัน
บทบาทดังกล่าวแม้เป็นบทบาทดั้งเดิมของประเทศขนาดกลางเดิมที่ต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน ซึ่งทำให้ประเทศขนาดกลางเดิมยังมีภาพลักษณ์เป็นประเทศระดับรองและต้องพึ่งพาสหรัฐฯ แต่ในห้วงที่การแข่งขันเชิงภูมิรัฐศาสตร์เข้มข้น ความสำคัญของประเทศขนาดกลางเดิมในฐานะพันธมิตรที่สหรัฐฯ จะขาดไม่ได้ ยิ่งเด่นชัดขึ้น ทั้งยังต้องการการสนับสนุนเพิ่มขึ้นและต่อเนื่องสำหรับการดำเนินยุทธศาสตร์และนโยบายต่อประเทศและภูมิภาคต่าง ๆ รวมถึงการเป็นสมาชิกในกลุ่มความร่วมมือต่าง ๆ ทั้งกลุ่มความร่วมมือเดิมที่สหรัฐฯ เป็นแกนนำ ซึ่งมีพัฒนาการต่อเนื่องด้วยการเพิ่มสมาชิกใหม่ เช่น องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Treaty Organization : NATO) หรือการตั้งกลุ่มความร่วมมือขนาดเล็ก (minilateralism) ใหม่ หลังจากที่กลุ่ม QUAD (Quadrilateral Security Dialogue) ซึ่งเป็นความร่วมมือสี่ฝ่ายระหว่างสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และอินเดีย กลับมาเคลื่อนไหว เช่น ความร่วมมือระหว่างออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ (AUKUS) หรือความร่วมมือระหว่างอินเดีย อิสราเอล สหรัฐฯ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (I2U2)
ขณะที่ประเทศขนาดกลางใหม่ (emerging middle powers) เช่น เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย บราซิล และตุรกี เป็นตัวแสดงระดับรัฐที่น่าจับตามองทั้งการเคลื่อนไหวแสดงบทบาทเป็นอิสระ การเข้าเป็นสมาชิกในกลุ่มความร่วมมือที่สหรัฐฯ หรือจีนเป็นแกนนำ เช่น องค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Cooperation Organization : SCO) หรือ BRICS หรือการร่วมมือกันเองระหว่างประเทศที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน สำหรับประเทศขนาดกลางใหม่อาจกล่าวได้ว่าเป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง ที่ประสบความสำเร็จในการปฏิรูปภายใต้ตามแนวทางเสรีนิยม มีความสามารถในการดำเนินนโยบายต่างประเทศในระดับพหุภาคี การเจรจาไกล่เกลี่ย การสร้างแนวร่วม และการใช้ช่องทางการทูตตามข้อจำกัดด้านทรัพยากรหรือขีดความสามารถที่มี เพื่อให้บรรลุผลประโยชน์หรือเป้าหมายที่ต้องการ (niche diplomacy) ซึ่งช่วยยกระดับสถานะหรือบทบาทในเวทีโลก โดยเฉพาะการเป็นคนกลางแก้ไขปัญหาระหว่างประเทศ หรือเป็นสะพานเชื่อมระหว่างประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนา สำหรับประเทศในกลุ่มอาเซียนที่ตั้งเป้าหมายจะเป็นประเทศขนาดกลาง (ใหม่) ที่น่าสนใจคือ เวียดนาม
แม้การเมืองโลกที่มีสองขั้วอำนาจยังเป็นภาพหลักของระบบระหว่างประเทศ แต่การมีตัวแสดงหลากหลายและมีบทบาทมากขึ้นทั้งรัฐในระดับต่าง ๆ และตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ ทำให้ภาพโลกสองขั้วเจือจางลง พร้อมกับปรากฏภาพการแตกเป็นส่วนและการเป็นโลกหลายขั้วมากขึ้น โดยการแสดงบทบาทในสถานการณ์ต่าง ๆ ของประเทศขนาดกลาง เฉพาะอย่างยิ่งประเทศขนาดกลางใหม่เด่นชัดขึ้น เช่น ตุรกี ขณะที่ความต้องการสร้างสมดุลความสัมพันธ์ ไม่เลือกข้างหรือมีส่วนร่วมในความขัดแย้งระหว่างประเทศ บนพื้นฐานของการรักษาผลประโยชน์แห่งชาติเป็นสำคัญ กอปรกับพลังอำนาจที่เพิ่มขึ้นจากการเติบโตทางเศรษฐกิจ จะทำให้ประเทศขนาดกลางดำเนินนโยบายต่างประเทศเป็นอิสระมากขึ้นในลักษณะไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (neo non-aligned movement) ซึ่งน่าจะเอื้อต่อการมีส่วนกำหนดทิศทางระเบียบโลกใหม่ในระยะยาว
ในอนาคต …แม้โลกก็จะยังขนาดใหญ่เท่าเดิม แต่..ที่เพิ่มเติมคือจะมีตัวแสดงที่มีอิทธิพลและบทบาทเพิ่มขึ้น จากการเติบโตของประเทศขนาดกลางหน้าใหม่ในภูมิภาคต่าง ๆ
—————————————————————