ทำไมรัสเซียตัดสินใจบุกยูเครน?
มนุษย์เป็นสัตว์ที่ตัดสินใจด้วยเหตุผล ถึงแม้การตัดสินใจนั้นจะขับเคลื่อนด้วยอารมณ์อย่างไรก็ตามแต่ สุดท้ายแล้วทุกการตัดสินใจของมนุษย์ล้วนมีการให้เหตุผลรองรับ ส่วนเหตุผลนั้นจะเข้าท่าหรือไม่คง..เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่อย่างน้อยที่สุดมันก็เป็นเหตุผลที่โน้มน้าวให้มนุษย์ผู้นั้นคล้อยตามความคิดของตัวเองจนกระทำการลงไป……..
ผู้เขียนเชื่อว่าเราสามารถหาคำตอบของคำถามที่ว่าทำไมรัสเซียตัดสินใจบุกยูเครน ด้วยการพยายามรื้อถอดความคิดความเชื่อของผู้นำรัสเซียออกมา เพื่อทำความเข้าใจว่าเขาเชื่อเช่นไรจึงตัดสินใจทำสงคราม วิธีการหนึ่งที่น่าสนใจคือการศึกษาเรื่องเล่า (narrative) ที่รัฐบาลรัสเซียพร่ำบอกกับประชาชน จริงอยู่ที่ว่าเรื่องเล่าเหล่านั้นอาจเป็นความตั้งใจในฐานะส่วนหนึ่งของกระบวนการปฏิบัติการข่าวสาร แต่มันก็สะท้อนหลักตรรกะ วิธีการให้เหตุผล และค่านิยมที่ผู้นำรัสเซียยึดมั่น
ปฏิบัติการข่าวสารคือการพยายามโน้มนำให้ความคิดเห็นสาธารณะเป็นไปในทิศทางเฉพาะเจาะจง..แบบที่ผู้ปฏิบัติการต้องการ ด้วยการคัดเลือกและตีกรอบข้อเท็จจริงหรือค่านิยมบางอย่างที่สอดคล้องกับเรื่องเล่าที่ต้องการผลักดัน รวมทั้งกีดกันไม่ให้เรื่องเล่าของคู่แข่งได้มีที่ยืน ความหมายของคำว่าปฏิบัติข่าวสารถูกเอาไปตีความหมายให้แปดเปื้อนจนผูกติดกับความหมายเชิงลบ แต่จริง ๆ แล้วเป็นสิ่งจำเป็นที่ทุกรัฐต้องทำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เพื่อแสวงหาการสนับสนุนจากประชาชน ไม่มีรัฐบาลใดอยู่รอดได้ถ้าไม่สามารถโน้มน้าวให้ประชาชนสนับสนุนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามสงคราม
แม้ว่ามนุษย์จะเป็นสัตว์ที่ตัดสินใจด้วยเหตุผล แต่อารมณ์คือปัจจัยสำคัญที่สุดที่ปรุงแต่งการให้เหตุผลนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ความจริงอันโหดร้ายที่ต้องยอมรับอย่างหนึ่งก็คือผู้นำที่ประสบความสำเร็จที่สุดมักไม่ใช่ผู้ที่นำเสนอความจริง แต่คือผู้ที่เร้าอารมณ์ประชาชนได้ดีที่สุด
นักวิชาการที่สนใจศึกษาปฏิบัติการข่าวสารและโฆษณาชวนเชื่อของทางการรัสเซีย พยายามรวบรวมเอาเรื่องเล่าที่ทางการรัสเซียถ่ายทอดสู่ประชาชน เพื่อศึกษาแนวทางที่รัสเซียใช้ปรุงแต่งอารมณ์ความรู้สึกของประชาชนก่อนห้วงการตัดสินใจทำสงคราม สาเหตุที่เลือกศึกษาข้อความที่ถ่ายทอดโดยสื่อมวลชน เพราะสื่อมวลชน (ภายใต้การกำกับของรัฐ) ไม่ได้เพียงแต่รับเอาข้อความมาแล้วส่งต่อเท่านั้น แต่ยังมีบทบาทมาก ๆ ในการปรุงแต่งเนื้อหาเพิ่มเติมเพื่อเร้าอารมณ์ประชาชนให้คล้อยตามยิ่งขึ้นไปอีก
การนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชนที่สนับสนุนทางการรัสเซียตั้งแต่หลังเหตุการณ์ Orange Revolution ปี 2547 ในยูเครน จนกระทั่งก่อนการตัดสินใจบุกยูเครน มีหลักใหญ่ใจความสำคัญคือการปลุกเร้าอารมณ์ต่อต้านยูเครนในหมู่ประชาชนรัสเซีย เรื่องเล่าถูกตีกรอบให้ส่งข้อความออกไปในสามเรื่องหลัก คือ ชาวรัสเซียในยูเครนเป็นเหยื่อ, รัฐบาลยูเครนคือศัตรู และ ยูเครนคือตัวแทนของกลุ่มประเทศตะวันตกที่ต่อต้านรัสเซีย
กรอบแรก….เกิดจากความเชื่อที่ว่ารัฐบาลยูเครนปฏิบัติการล้างเผ่าพันธุ์ในดอนบาสตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา ประชาชนเหล่านั้นเป็นเหยื่อของความโหดร้าย เรื่องเล่านี้ถูกเสริมแรงอยู่เรื่อย ๆ ด้วยการรายงานข่าวสารเกี่ยวกับปฏิบัติการทางทหารของยูเครนในดอนบาส เลือกนำเสนอความสูญเสียของกลุ่มเปราะปรางที่จะเร้าอารมณ์ผู้รับสารได้ง่าย เช่น เด็ก และอ้างอิงแหล่งข่าวที่ผู้รับสารตรวจสอบได้ยาก เช่น หน่วยข่าวกรอง
กรอบที่สอง….พยายามสร้างภาพลักษณ์ให้รัฐบาลยูเครนเป็นศัตรูของรัสเซีย ด้วยการส่งต่อเรื่องเล่าว่ารัฐบาลปัจจุบันของยูเครนเป็นพวกลัทธิชาตินิยมที่มีทัศนคติต่อต้านรัสเซีย รวมทั้งผูกโยงเอารัฐบาลยูเครนเข้ากับสิ่งที่ประชาชนรัสเซียหวาดกลัว เช่น นาซี เป็นต้น
กรอบสุดท้าย….มองภาพระดับที่กว้างขึ้น มุ่งเป้าไปที่การแข่งขันอำนาจระหว่างรัสเซียกับกลุ่มประเทศตะวันตก และสร้างให้ยูเครนเป็นตัวแทนของกลุ่มประเทศตะวันตก ข่าวสารที่เสริมแรงให้กับกรอบนี้ที่สำคัญที่สุดคือการพยายามเข้าเป็นสมาชิก North Atlantic Treaty Organisation(NATO) ของยูเครน และความช่วยเหลือต่าง ๆ ที่ประเทศตะวันตกให้กับยูเครน
บุคคลภายนอกอาจจะไม่คล้อยตาม อาจมองกรอบทั้งสามด้วยความขบขัน แต่คนเหล่านั้นไม่ใช่กลุ่มเป้าหมาย ปฏิบัติการนี้ทำหน้าที่บรรลุเป้าหมายแล้วด้วยการโน้มน้าวให้ประชาชนเกิดความกลัว ความโกรธ และความทระนงในศักดิ์ศรีของรัสเซีย ปฏิบัติการพิเศษของรัสเซียต่อยูเครน มีความชอบธรรมในสายตาประชาชนรัสเซีย เป็นเพราะผลจากการทำงานของเรื่องเล่าเหล่านี้ที่ไปเร้าอารมณ์ความรู้สึกของประชาชนจนตัดสินใจสนับสนุน “ปฏิบัติการเพื่อมนุษยธรรมเพื่อปลดปล่อยยูเครนจากรัฐบาลนาซีที่เลวร้าย”
…และก็คงสามารถอนุมานได้ด้วยว่า ผู้นำรัสเซียตัดสินใจบุกยูเครน เพราะให้เหตุผลกับตัวเองตามทิศทางทั้งสามที่ว่า
——————————————-
ที่มา
ผู้เขียนต่อยอดความคิดจากงานวิจัยของ Johansson-Nogués, E., & Şimanschi, E. (2023). Fabricating a war? Russian (dis) information on Ukraine. International Affairs, 99(5), 2015-2036.