การจารกรรมข้อมูล หรือ espionage เป็นวิธีการที่รัฐบาลต่าง ๆ หรือตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ (non-state actor) ดำเนินการเพื่อให้ได้ข้อมูลหรือข่าวสารเกี่ยวกับประเด็นสำคัญของฝ่ายตรงข้าม โดยที่ฝ่ายตรงข้ามหรือเป้าหมายที่ถูกจารกรรมนั้นตรวจสอบไม่ได้ หรือไม่รู้ตัว ที่ผ่านมา การจารกรรมข้อมูลมีวิธีการที่หลากหลาย และในปัจจุบันก็มีการจารกรรมข้อมูลผ่านเทคโนโลยีหรือด้วยเครื่องมือในโลกไซเบอร์ด้วย
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าเทคโนโลยีหรือข้อมูลสำคัญในปัจจุบันจะไหลผ่านโลกไซเบอร์มากแค่ไหน การจารกรรมในรูปแบบดั้งเดิมด้วยวิธีการตั้งแต่ปฏิบัติการลับในต่างประเทศ มีองค์การบังหน้า มีการปกปิดการดำเนินการทั้งในโลกจริงและโลกไซเบอร์ รวมทั้งมีการสร้างบุคลากรและสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการจารกรรมข้อมูลไปพร้อม ๆ กับระมัดระวังไม่ให้ประเทศเป้าหมายตรวจสอบได้ ยังคงเป็นแนวทางที่รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ใช้เพื่อให้ได้ “ข้อมูลข่าวสาร” ที่ถือว่าเป็น 1 ในปัจจัยสร้างพลังอำนาจ และความได้เปรียบในการดำเนินนโยบายต่าง ๆ นั่นเอง
ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ประเทศจีน ซึ่งเป็นมหาอำนาจที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ได้เพิ่มความระมัดระวังและตรวจสอบความเคลื่อนไหวของประเทศอื่น ๆ ที่อาจจะไปทำการจารกรรมข้อมูลในจีนอย่างเข้มข้นมากขึ้น เพราะเมื่อปลายปี 2565 จีนได้เปิดประเทศให้การลงทุน การสานความสัมพันธ์ และปรับภาพลักษณ์จีนให้นานาชาติเข้าถึงและเข้าใจจีนมากขึ้น จีนจึงเปิดรับต่างชาติเข้าไปทำงานและดำเนินธุรกิจในจีนจำนวนมาก และมีสถิติเพิ่มขึ้นทุกปี
จีนได้รับประโยชน์จากการที่บริษัทต่างชาติเข้าไปดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ รวมทั้งการพัฒนาในประเทศ แต่ในระยะหลัง ๆ รัฐบาลจีนเริ่มสังเกตว่า การดำเนินกิจกรรมบางอย่างในจีน โดยหน่วยงานหรือองค์กรใหม่ ๆ ที่เข้าไปเคลื่อนไหวในจีนมากขึ้นอย่างผิดสังเกต เป็นสัญญาณ “ความผิดปกติ” ที่เกิดขึ้นกับความมั่นคงของจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ เริ่มไม่ราบรื่น บทบาทและอิทธิพลของจีนเริ่มสร้างความไม่ไว้วางใจระหว่างประเทศ จีนจึงให้ความสำคัญกับการต่อต้านการจารกรรมข้อมูลมากขึ้น
การที่จีนให้ความสำคัญกับการต่อต้านการจารกรรมข้อมูลชัดเจนมากขึ้นเมื่อมีการออกกฎหมายต่อต้านการจารกรรมเมื่อปี 2557 และเมื่อเมษายน 2566 จีนได้ปรับเพิ่มเนื้อหาและมาตรการต่าง ๆ ในกฎหมายดังกล่าวให้เข้มข้นขึ้น สะท้อนว่า รัฐบาลจีนให้ความสำคัญกับการต่อต้านการจารกรรมอย่างมาก นับว่าเป็นเรื่องสำคัญของประเทศชาติและประชาชนชาวจีนทุกคนที่ต้องปฏิบัติตาม โดยในกฎหมายดังกล่าวมีคำแนะนำให้ทุกภาคส่วนในจีนมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังและสอดส่องพฤติกรรมที่อาจเข้าข่ายการจารกรรมข้อมูลไปให้ประเทศอื่น ๆ เช่น ความเคลื่อนไหวของนักวิชาการ ผู้สื่อข่าว และนักธุรกิจที่เดินทางไปจีน
สำหรับความเคลื่อนไหวล่าสุด หน่วยข่าวกรองของจีน หรือในชื่อว่า Ministry of State Security (MSS) ประกาศเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2566 เปิดเผยผ่านสื่อสังคมออนไลน์ จากการตรวจสอบแล้วพบว่า ปัจจุบันมีสถานีตรวจสภาพอากาศที่ตั้งอยู่ในจีนจำนวนมากกว่าร้อยแห่ง ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการจารกรรมข้อมูลของจีนไปให้กับรัฐบาลต่างชาติ โดย MSS บอกด้วยว่า สถานีตรวจสภาพอากาศเหล่านั้นกระจายอยู่ใน 20 จังหวัดของจีน ทำหน้าที่ส่งข้อมูลชนิดเรียลไทม์เกี่ยวกับจีนไปให้ต่างประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำที่ละเมิดกฎหมายของจีน
สาเหตุที่ทำให้จีนต้องตรวจสอบและจัดการสถานีตรวจสภาพอากาศที่มีจำนวนมากกว่า 3,000 แห่งทั่วประเทศ เป็นเพราะได้รับข้อมูลว่า สถานีบางแห่งได้รับทุนสนับสนุนโดยตรงจากรัฐบาลต่างประเทศ บางแห่งตั้งอยู่ในพื้นที่ใกล้กับสถานที่หวงห้ามของรัฐบาลจีน หรือพื้นที่สำคัญ เช่น ฐานทัพและบริษัทผู้ผลิตอาวุธในจีน สิ่งที่ผิดสังเกตอื่น ๆ ที่อาจจะทำให้หน่วยข่าวกรองจีนตรวจสอบได้ คือ การที่สถานีตรวจอากาศเหล่านั้นติดตั้งเครื่องมือที่มีขนาดเล็ก จนตรวจสอบยาก แต่เป็นเครื่องมือที่มีขีดความสามารถสูงมากพอจะส่งข้อมูลกลับไปให้ประเทศอื่น ๆ ได้แบบเรียลไทม์ โดยไม่ผ่านหน่วยงานหรือรัฐบาลจีน
การดำเนินการในลักษณะดังกล่าวถือว่าผิดกฎหมายจีนหลายฉบับ และจีนเน้นย้ำว่า ข้อมูลสภาพอากาศถือว่าเป็นข้อมูลสำคัญของจีน เพราะว่าข้อมูลนี้สามารถเชื่อมโยงกับความมั่นคงทางอาหารและระบบนิเวศของจีน ตลอดจนเกี่ยวข้องกับความมั่นคงสาธารณะของจีนด้วย
สาเหตุที่อาจทำให้จีนต้องเข้มงวดกวดขันและจริงจังเรื่องการแชร์ข้อมูลสภาพอากาศระหว่างประเทศ โดยกำหนดให้เรื่องนี้เป็นการ “จารกรรมข้อมูล” เพราะเมื่อปี 2555 ข้อมูลเกี่ยวกับสภาพอากาศของจีนที่มีมลพิษสูง ถูกต่างประเทศเปิดเผยและเล่าเรื่องราวจนทำให้ประชาชนจีนเริ่มวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล …จากกรณีนี้ก็อาจจะทำให้เข้าใจได้ว่า ทำไมรัฐบาลจีนต้องให้ความสำคัญกับการตรวจสอบบทบาทและความเคลื่อนไหวของสถานีตรวจสภาพอากาศในประเทศ ที่อาจจะถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อเอาข้อมูลในจีนไปใช้แสวงประโยชน์ในการทำลายภาพลักษณ์ของจีนก็ได้
กรณีจีนตรวจสอบสถานีตรวจสภาพอากาศทั่วประเทศ…..จึงเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ทำให้เห็นว่า การจารกรรมข้อมูล หรือ espionage อาจเกิดขึ้นได้ในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบการเคลื่อนไหวของมนุษย์ องค์กร หน่วยงาน หรือสถาบันที่ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูล ทั้งหมดนี้สามารถถูกใช้เป็นเครื่องมือในการจารกรรมได้ ทั้งที่รู้ตัวหรือไม่รู้ตัวว่าถูกใช้ในการจารกรรมระหว่างประเทศ
……ปัจจุบันสถานการณ์ระหว่างประเทศมีความตึงเครียดค่อนข้างสูง ประเทศต่าง ๆ ย่อมอยากได้ “ข้อมูลข่าวสาร” เพื่อสร้างความได้เปรียบในการดำเนินนโยบาย หรือบ่อนทำลายฝ่ายตรงข้าม ดังนั้น เมื่อได้เห็นตัวอย่างจากกรณีของจีน ที่ตอนนี้ก็เป็นที่จับตามองของทั่วโลก ก็ย่อมจะเข้าใจได้ว่าจะต้องระมัดระวังและเพิ่มการตรวจสอบมากเป็นพิเศษ เพื่อรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศและประชาชน
——————————————————————–