จากการมีภาพจำเป็น “สัตว์เศรษฐกิจ” เมื่อหลายสิบปีก่อน แทนที่ด้วยภาพการเป็นผู้นำด้านนวัตกรรม เทคโนโลยีสมัยใหม่ และแบรนด์สินค้าคุณภาพที่ได้รับความเชื่อถือและความเชื่อมั่นจากผู้บริโภค น่าจะเป็นสิ่งสะท้อนถึงความสำเร็จของญี่ปุ่นในการเอาชนะใจต่างชาติ…ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้วยกันหรือประเทศกำลังพัฒนา โดยมีรายได้จากการเจาะตลาดเป็นผลตอบแทนอย่างเป็นรูปธรรม
ขณะเดียวกัน ญี่ปุ่นยังมีอีกภาพที่สะท้อนความเป็นญี่ปุ่นที่ไม่มีใครปฏิเสธคือ ภาพความเป็นประเทศที่มีความน่ารักและผู้นำการสร้างสรรค์ในอุตสาหกรรมบันเทิงและศิลปวัฒนธรรมที่นำเสนอผ่านมังงะ อนิเมะ ตัวการ์ตูนสัญชาติญี่ปุ่นเช่น มาริโอ โดราเอมอน รวมทั้งยังครองใจทุกเพศทุกวัยด้วยสินค้าน่ารักในตระกูล Sanrio การแต่งกายแบบคอสเพลย์ หรือการเกิดขึ้นของเกิร์ลกรุ๊ปในไทย (BNK48) อินโดนีเซีย (JKT48) และฟิลิปปินส์ (MNL48) ในลักษณะเดียวกับ AKB48 เกิร์ลกรุ๊ปสัญชาติญี่ปุ่น ที่น่าจะอีกเป็นสัญลักษณ์ของความสำเร็จในการเอาชนะใจคนชาติต่าง ๆ ด้วยการสร้างกระแสความนิยมผ่านวัฒนธรรม J-pop ซึ่งเป็นทั้งโลโก้และ soft connection ของญี่ปุ่นกับต่างชาติ
ความชื่นชอบและชื่นชมความเป็นญี่ปุ่นที่เกิดขึ้นยังส่งผลต่อเนื่องให้แทบจะไม่มีประเทศใดติดใจภาพความน่ากลัวของจักรวรรดิญี่ปุ่นในอดีต ในทางกลับกัน… ยังยินดีเปิดรับความร่วมมือกับญี่ปุ่นที่พร้อมให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาแก่ประเทศกำลังพัฒนาทั้งเงินกู้ เงินให้เปล่า และการถ่ายทอดเทคโนโลยี จนทำให้การเป็นประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือเป็นอีกความโดดเด่นของญี่ปุ่นที่ได้ใจประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะในกลุ่ม Global South เช่น ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแอฟริกา และเอื้อต่อการเป็นประเทศที่ทรงอิทธิพล โดยไม่ต้องมีความแข็งแกร่งทางทหาร
สำหรับอาเซียน ซึ่งญี่ปุ่นให้ความสำคัญและประสบความสำเร็จในการครองใจ จนสามารถสานสัมพันธ์ระดับรัฐกับประเทศสมาชิกและในกรอบความร่วมมืออาเซียน ที่เพิ่งจะครบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่นในปี 2566 ญี่ปุ่นใช้วิธีการเข้าถึงทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมผสมผสานกัน โดยมีหลักนิยมฟุกุดะ (Fukuda Doctrine) ที่อดีตนายกรัฐมนตรีทาเคโอะ ฟุกุดะ ประกาศในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น เมื่อปี 2520 เป็นแนวทางหลักในการดำเนินความสัมพันธ์ ประกอบด้วย ญี่ปุ่นจะไม่เป็นมหาอำนาจทางทหาร สร้างความสัมพันธ์แบบ “ใจถึงใจ” (heart-to-heart) ซึ่งไม่ใช่แค่ด้านเศรษฐกิจ และญี่ปุ่นและอาเซียน (รวมถึงในระดับรายประเทศ) ถือเป็นหุ้นส่วนที่เท่าเทียมกัน
“มิตรภาพจากใจถึงใจ” เป็นหนึ่งในหัวใจการดำเนินความสัมพันธ์ของญี่ปุ่นกับอาเซียนมาตลอด และเน้นย้ำอีกครั้งในการประกาศวิสัยทัศน์มิตรภาพและความร่วมมืออาเซียน-ญี่ปุ่น ในวาระ 40 ปีมิตรภาพและความร่วมมืออาเซียน-ญี่ปุ่น เมื่อปี 2556 ซึ่งมีการบรรจุความเป็นหุ้นส่วนใจถึงใจ ร่วมกับความเป็นหุ้นส่วนเพื่อสันติภาพและเสถียรภาพ หุ้นส่วนเพื่อความมั่งคั่ง และหุ้นส่วนเพื่อคุณภาพชีวิต
ขณะที่สมาชิกอาเซียนต่างมองญี่ปุ่นในแง่บวก โดยเฉพาะการเป็นมิตรที่ไว้ใจได้ สะท้อนผ่านผลการสำรวจความคิดเห็นของผู้คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เกี่ยวกับสถานการณ์เชิงภูมิรัฐศาสตร์ที่มีผลต่อภูมิภาคและต่อประเทศคู่เจรจาของ ISEAS-Yusof Ishak Institute ของสิงคโปร์ ที่ปรากฏว่า ญี่ปุ่นได้รับความเชื่อมั่นมากที่สุดในบรรดาประเทศใหญ่ด้วยกันไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ จีน ยุโรป และอินเดีย ซึ่งเป็นการครองตำแหน่งติดต่อกันตั้งแต่ปี 2562
ความเห็นเชิงบวกที่มีต่อญี่ปุ่นน่าจะเป็นสิ่งตอกย้ำถึงความสำเร็จในการใช้ “ใจถึงใจ”เป็นแนวทางหนึ่งเพื่อผูกไมตรีในสไตล์ญี่ปุ่นจนชนะใจบรรดาสมาชิกอาเซียน ที่ต่างเปิดรับวัฒนธรรมญี่ปุ่นทั้งอย่างเต็มใจและไม่รู้ตัวผ่านยุทธศาสตร์ Cool Japan ที่ญี่ปุ่นเริ่มใช้เมื่อปี 2545 จนทำให้ญี่ปุ่นมีอิทธิพลทางความคิดสร้างสรรค์และวัฒนธรรมสมัยนิยมที่ยังคงความเป็นญี่ปุ่น ทั้งอาหาร เครื่องแต่งกาย ดนตรี ศิลปวัฒนธรรม สื่อบันเทิง รวมถึงการเป็นปลายทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยว นอกจากนั้น อาเซียนยังเปิดรับความร่วมมือกับญี่ปุ่นหลากหลายสาขาโดยไม่เคลือบแคลงหรือหวาดระแวงเมื่อเทียบกับประเทศผู้ให้อื่น ๆ จึงไม่น่าแปลกใจที่ญี่ปุ่นมีภาพลักษณ์เป็นที่น่าไว้วางใจและเป็นที่พึ่งในสายตาของสมาชิกอาเซียน
การให้ความช่วยเหลือแก่ต่างชาติเป็นภาพจำที่ชัดเจนสำหรับบทบาทด้านการเมืองระหว่างประเทศของญี่ปุ่น และง่ายที่ประเทศต่าง ๆ จะเปิดรับ ควบคู่กับความร่วมมือทางการค้าและการลงทุน โดยมีความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการ (Official Development Assistance : ODA) และองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency : JICA) เป็นเครื่องมือสำคัญ ขณะที่การเป็นประเทศผู้ถือหุ้นใหญ่และมีสิทธิ์ออกเสียงในธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank : ADB) เป็นอีกสิ่งตอกย้ำถึงภาพลักษณ์การเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือของญี่ปุ่น นอกจากนี้ ในยุคปัจจุบันที่หลายประเทศในภูมิภาคมีปัญหาขัดแย้งกับจีน ญี่ปุ่นยังริเริ่ม Official Security Assistance (OSA) เป็นอีกกลไกการให้ความช่วยเหลือแก่ต่างประเทศในด้านการทหารและความมั่นคงอีกช่องทางหนึ่ง
ที่ผ่านมาญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับความร่วมมือกับอาเซียนในหลายสาขาไม่จำกัดเฉพาะด้านเศรษฐกิจ เช่น ………..
……… การแก้ไขปัญหาโรคโควิด-19 โดยให้เงินสนับสนุนแก่ Covid-19 Response Fund ของอาเซียนผ่าน Japan-ASEAN Integration Fund (JAIF) ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อปี 2549 รวมทั้งสนับสนุนกลไกการทำงานด้านสาธารณสุขอื่น ๆ ของอาเซียน อาทิ ศูนย์อาเซียนด้านการรับมือกับภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ (ASEAN Centre for Public Health Emergencies and Emerging Diseases : ACPHEED) และ ASEAN-Japan Economic Resilience Action Plan เพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
………. การแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยร่วมกับอาเซียนจัดทำแผนงานยุทธศาสตร์ด้านสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมอาเซียน (Strategic Program for ASEAN Climate and Environment : SPACE) เพื่อจัดการกับวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มลภาวะ และการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ นอกจากนี้ยังสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการจัดการภัยพิบัติ (ASEAN Coordinating Centre for Humanitarian Assistance on disaster management : AHA Center) และโครงการระบบการส่งกำลังบำรุงหรือระบบโลจิสติกส์ของการปฏิบัติการด้านการบรรเทาทุกข์และการตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉินจากภัยพิบัติของอาเซียน (Disaster Emergency Logistic System for ASEAN : DELSA)
ขณะเดียวกัน ญี่ปุ่นยังแสดงความพร้อมจะเป็นอีกทางเลือกของสมาชิกอาเซียนในการสนับสนุนการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะทางการเงิน ที่ไม่ด้อยไปกว่าจีนที่มียุทธศาสตร์ Belt & Road Initiative (BRI) เพื่อเชื่อมโยงกับประเทศต่าง ๆ ซึ่งเดิมญี่ปุ่นก็ให้ความช่วยเหลืออยู่แล้ว เช่น การให้เงินช่วยเหลือแบบให้เปล่าแก่กัมพูชาเพื่อสร้างสะพานสึบาสะ (Tsubasa) เชื่อมระหว่างกัมพูชากับเวียดนาม หรือให้เงินกู้แก่อินโดนีเซียสำหรับการสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินสายแรกในจาการ์ตา หรือให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำสำหรับการสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 2
…อาจกล่าวได้ว่า ภาพจำดี ๆ ของญี่ปุ่นที่เกิดขึ้น เป็นผลจากการที่ญี่ปุ่นสามารถผสานจุดแข็งทั้งเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมและแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงาม ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ความสามารถในการคิดสร้างสรรค์ในเชิงเศรษฐกิจและการเมือง (เช่น การเสนอวิสัยทัศน์ Free and Open Indo-Pacific : FOIP) ความพร้อมทางเศรษฐกิจเพื่อสนับสนุนการสร้างสัมพันธ์กับทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่เจริญแล้วในฝั่งตะวันตกหรือประเทศที่ต้องการการพัฒนาในกลุ่ม Global South บนพื้นฐานของความมีคุณภาพที่เป็นจุดขายสำคัญจนทำให้ญี่ปุ่นเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ
จุดแข็งเหล่านี้ ล้วนเป็นปัจจัยสนับสนุนความสำเร็จด้านการต่างประเทศของญี่ปุ่น โดยเฉพาะการเอาชนะใจประเทศต่าง ๆ ขณะที่การเป็นประเทศที่พร้อมให้ความช่วยเหลือน่าจะสัมพันธ์กับแนวคิด Ikigai ซึ่งเป็นแนวคิดเกี่ยวกับความหมาย เหตุผล และวิธีการดำเนินชีวิตอย่างมีคุณค่าในสไตล์ญี่ปุ่น โดยการให้ความช่วยเหลือซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อผู้คน สังคม และโลก เป็นหนึ่งในเหตุผลในการมีชีวิตคือ ทำสิ่งที่สังคมต้องการ (What the WORLD NEEDS)
และเมื่อย้อนมาคิดถึงไทย…น่าคิดว่า…อะไรที่น่าจะเป็นภาพจำที่มาจากจุดแข็งและเป็นจุดขายของไทยที่โดนใจประเทศอื่น… “สยามเมืองยิ้ม” หรือ “ความเป็นคนใจดี ใจบุญ” ที่หลายคนคุ้นหู ยังจะพอเป็นคุณลักษณะที่บ่งบอกถึงความเป็นไทยในยุคนี้ได้หรือไม่ และไทยต้องการหรือไม่ที่ “สยามเมืองยิ้ม” หรือ “ความเป็นคนใจดี ใจบุญ” จะยังเป็นภาพจำที่สร้าง mindset ที่ดีเกี่ยวกับความเป็นมิตรของไทยที่พร้อมร่วมมือกับทุกประเทศในสายตาประเทศอื่น ….และหากต้องการ ไทยจะนำเสนออย่างไรในโลกยุคใหม่ที่เต็มไปด้วยความซับซ้อน และง่ายที่จะเกิดความขัดแย้ง เพื่อให้ความเป็นไทย ในสไตล์แบบนี้ช่วยเสริมส่งบทบาทของไทยในการปฏิสัมพันธ์กับต่างประเทศ
—————————————————-