“เราทำเบียร์เพื่ออยู่ ไม่ใช่อยู่เพื่อทำเบียร์”
“เราทำเบียร์ เพื่อหาเงินบำรุงวัดและกิจกรรมสังคมสงเคราะห์”
ข้อความข้างบนเป็นถ้อยแถลงของพระ ปรากฏอยู่บนหน้าเว็บไซต์ของโรงเบียร์ Westvleteren Brewery ที่มีเจ้าของคือวัด St. Sixtus’ Abbey ประกาศเจตนารมณ์ที่มีต่อการทำเบียร์ Westvleteren ที่สร้างชื่อให้กับวัด
การตัดสินรสชาติของเบียร์เป็นเรื่องของรสนิยมส่วนบุคคล การจะหาฉันทามติในบรรดาผู้ดื่มด่ำว่าเบียร์ตัวไหนดีที่สุดในโลกคงจะเป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าอ้างอิงตามเว็บไซต์ ratebeer.com ที่เปิดให้คนรักเบียร์ทั่วโลกให้คะแนนเบียร์ จะพบว่าเบียร์ Westvleteren 12 ของโรงเบียร์แห่งนี้ ได้คะแนน 100 เต็ม สอดคล้องกับที่หลายสถาบันยกว่าเบียร์เบลเยียมตัวนี้เป็น “เบียร์ที่ดีที่สุดในโลก”
อีกตำแหน่งหนึ่งที่วัดค่าได้ง่ายกว่าคือ….การเป็นเบียร์ที่หาซื้อยากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก เพราะเบียร์นี้เป็นยี่ห้อหนึ่งในเบียร์ประเภทที่เรียกว่า “Trappist Beer” คือเป็นเบียร์ที่ผลิตโดยหยาดเหงื่อแรงงานของพระสังกัดสถาบันนักบวช Order of Cistercians of the Strict Observance การจะได้ฉลากรับรองว่าเป็นเบียร์แทรปปิสต์มีเงื่อนไขเข้มงวด 3 ข้อ คือ 1) เบียร์นั้นต้องผลิตภายในกำแพงวัด ด้วยแรงงานของพระสังกัดสถาบันที่ว่า 2) ต้องมีแนวทางการดำเนินธุรกิจที่สอดคล้องกับหลักการศาสนา และการผลิตเบียร์ต้องไม่ใช่หน้าที่หลักของวัด (นัยว่าศาสนกิจต้องมาก่อน ไม่ใช่ตั้งหน้าตั้งหน้าขายเบียร์เป็นหลัก) และ 3) ไม่ใช่การลงทุนที่แสวงหาผลกำไร เป้าหมายเพื่อสร้างรายได้เพียงพอกับการดำรงชีวิตของพระและทำนุบำรุงศาสนสถานเท่านั้น กำไรที่เหลือให้บริจาคให้สาธารณะกุศล
……เงื่อนไขที่เข้มงวด ทำให้ทั้งโลกมีวัดคริสต์เพียง 10 วัดที่ผลิตเบียร์แทรปปิสต์ออกจำหน่าย และ 5 แห่งในนั้นเป็นวัดในเบลเยียม คือ Westmalle, Chimay, Rochefort, Orval และ Westvleteren แห่งนี้ ……..แต่ที่พิเศษยิ่งกว่าและทำให้ Westvleteren หายากกว่าบรรดายี่ห้ออื่น ก็เพราะว่าวัดแห่งนี้ไม่ขายส่งให้กับพ่อค้าคนกลาง และเข้มงวดกับการต่อต้านไม่ให้เอาไปขายต่อ (อันที่จริงก็มีคนเอาไปขายต่อโก่งราคาอยู่พอสมควร) ผู้ที่อยากดื่มจะต้องซื้อตรงจากวัดเท่านั้น
นักบวชสังกัด Order of Cistercians of the Strict Observance เป็นพระที่เคร่งครัดในวินัย อยู่กันเป็นชุมชนพึ่งตนเอง มีตารางเวลาชีวิตที่ชัดเจน เน้นการสวดมนตร์ ศึกษาพระธรรม และทำงาน! ทำงาน! เพราะยึดมั่นตามวัตรปฏิบัติของ Saint Benedict ที่หนึ่งในนั้นคือ ต้องทำงานที่ใช้แรงงานไม่ต่ำกว่า 5 ชั่วโมงต่อวัน โดยเฉพาะงานในภาคการเกษตร เช่น การเลี้ยงสัตว์ ทำชีส และทำเบียร์ …กับกฎอีกข้อที่น่าสนใจของพระสำนักนี้คือจะพูดให้น้อยที่สุด ไม่ถึงกับถือศีลใบ้ แต่พูดเฉพาะเมื่อจำเป็นเท่านั้น
พระจากฝรั่งเศสมาตั้งวัด St. Sixtus’ Abbey เมื่อปี 1831 เริ่มทำเบียร์ครั้งแรกปี 1838 ได้รับใบอนุญาตจากกษัตริย์ลีโอโปลด์ที่ 1 ของเบลเยียมในปีถัดมา จากนั้นก็ทำเบียร์สืบเนื่องเรื่อยมาถึงปัจจุบัน โดยยังยึดมั่นให้พระเป็นกำลังหลักในการทำเบียร์ พระที่นี่ยังคงทำงาน! ทำงาน! …แต่ไม่มีแผนจะทำงานมากไปกว่านี้ ไม่มีโครงการขยายกำลังการผลิตให้รองรับกับความต้องการของตลาดจากชื่อเสียงของเบียร์ที่เลื่องลือไปทั่วโลก
วัด St. Sixtus’ Abbey เคร่งครัดในวินัย น่าจะเป็นสาเหตุที่วัดพยายามตัดการติดต่อกับโลกภายนอก และยึดมั่นกับหลักการขายเบียร์เพื่อให้พออยู่รอดได้ก็พอแล้ว ช่องทางขายเบียร์จึงมีจำกัดเพียง 3 ช่องทาง คือ 1) แย่งกดสั่งตอนเปิดให้ซื้อออนไลน์ให้ได้ แล้วขับรถมารับเอง ได้คนละ 3 ลัง ลังละ 24 ขวด 2) แย่งสั่งออนไลน์แล้วให้จัดส่งถึงบ้าน เฉพาะผู้มีที่อยู่ในเบลเยียมเท่านั้น ได้คนละ 1 ลัง ลังละ 12 ขวด และ 3) ไปซื้อด้วยตัวเองที่ร้านของวัดที่อยู่ตรงข้ามวัด
คนต่างชาติจึงยิ่งเหมือนถูกกีดกัน เนื่องจากหากไม่มีที่อยู่ในเบลเยียมก็ไม่สามารถสั่งออนไลน์ได้ หรือหากไม่มีรถส่วนตัว ก็ไม่สามารถไปที่วัดได้ วัดอยู่ในหมู่บ้านเล็ก ๆ เป็นพื้นที่ชนบทในจังหวัด West Flanders ของเบลเยียม ใกล้กับชายแดนฝรั่งเศส ไม่มีรถสาธารณะเข้าถึง
เวลาเที่ยงวัน บนถนนเลนเดียวที่ตัดผ่านไร่ข้าวโพด เชื่อมจากสถานีรถไฟเมือง Poperinge ไปยังหมู่บ้าน Westvleteren จึงมีมนุษย์ชาวไทยผู้หนึ่ง เดินเท้าฝ่าความหนาวเป็นระยะทาง 6 กิโลเมตร เพื่อไปสำรวจตรวจตราความเป็นไปของวัดสำนักนี้ รวมทั้งเพื่อดื่มเบียร์ยี่ห้อนี้ …ป้ายเล็ก ๆ บอกชื่อหมู่บ้าน Westvleteren เป็นตัวอักษรดำบนป้ายเหลือง ปักรอต้อนรับเมื่อเข้าเขตหมู่บ้าน นอกจากป้ายชื่อที่ว่า ระหว่างทางถัดจากนั้นก็เริ่มมีป้ายเล่าเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่เคยเกิดขึ้น พื้นที่ละแวกนี้อยู่ไม่ไกลจากเมือง Ypres สมรภูมิรบสำคัญสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 จึงมีร่องรอยเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์หลงเหลือให้เห็น
ภูมิประเทศที่เป็นทุ่งราบโล่ง ทำให้โรงงานของวัดปรากฏให้เห็นแต่ไกล เป็นอาคารเตี้ย ๆ ในพื้นที่ไม่กว้างขวางนัก พอเหมาะพอดีกับหลักการของวัดที่ผลิตเบียร์ปีละไม่เยอะ พอให้หาเงินหล่อเลี้ยงชีวิตการเป็นพระได้ก็พอแล้ว ถัดจากโรงงานเป็นตัวโบสถ์ที่อยู่ในพื้นที่เดียวกัน ตามหลักการเข้มงวดของการเป็นเบียร์แทรปปิสต์ที่ต้องผลิตภายในกำแพงวัด
ซุ้มประตูอิฐสีแดงปิดมิดชิด มีรูปปั้นนักบุญสามองค์ประดับอยู่ข้างบน กำแพงอิฐทึบและประตูที่ว่า ปิดกั้นไม่ให้คนนอกมองเข้าไปเห็นบรรยากาศภายใน วัดนี้ไม่ต้อนรับนักท่องเที่ยวหรือบุคคลภายนอกอื่นใด ยกเว้นมาเพื่อวัตถุประสงค์ทางศาสนา กิจกรรมเดียวที่นักท่องเที่ยวสามารถกระทำได้คือการใช้บริการร้าน In de Vrede ที่ตรงข้ามวัด ร้านนี้เป็นกิจการของวัด ดำเนินงานโดยฆราวาส มีพื้นที่กว้างขวางสำหรับสั่งเบียร์และกับแกล้มมากินดื่ม และมีร้านจำหน่ายเบียร์ให้ซื้อกลับบ้านได้ในจำนวนจำกัด
เบียร์ Westvleteren 12 เทมาในแก้วปะยี่ห้อเดียวกันกับเบียร์ ตามธรรมเนียมนิยมของเบลเยียมที่ต้องดื่มเบียร์จากแก้วเฉพาะของเบียร์ชนิดนั้น เบียร์สีดำปกด้วยฟองขาวหนา ๆ ส่งกลิ่นหอมเตะจมูก แล้วรสชาติที่ซับซ้อนกับความแรงของแอลกอฮอล์ 10.2% ก็ค่อย ๆ เล่นงานเรื่อย ๆ……..
………..ให้ผู้ดื่มเดินมึนฝ่าความมืด อาศัยแสงจันทร์นำทางกลับสถานีรถไฟบนเส้นทางเดิม เพิ่มเติมคือเบียร์อีก 6 ขวดในกระเป๋าเป้พร้อมกับหัวเราะให้กับความย้อนแย้งของตัวเอง ที่ทั้งชื่นชมวิถีการทำงานแค่พออยู่รอดของสำนักนี้ และทั้งดั้นด้นมาตามคำขายของโลกทุนนิยม
————————————————————–